xs
xsm
sm
md
lg

“ร่องฝน” แช่นานอาจารย์จุฬาฯแนะพร่องน้ำในคลองกรุงเทพฯ รอฝน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ร่องฝนแช่เป็นเหตุน้ำท่วมสุโขทัยและฝนถล่มกรุง แต่ยังไม่ทราบสาเหตุที่แช่อยู่นาน (ภาพจาก ศ.ดร.ธนวัฒน์)
อาจารย์จุฬาฯฯ ชี้ ปัจจัยน้ำท่วมมาจาก “ร่องฝน” แช่นานผิดปกติ แนะทั้งรัฐบาลและ กทม.แก้ปัญหาให้ตรงจุด เพราะรูปแบบน้ำท่วมต่างจากปีที่แล้ว มวลน้ำเหนือไม่มากแต่มาจากฟ้า ต้องพร่องน้ำในคลองกรุงเทพฯ ให้เหมือนปี ’38 และ ’49 แจงลอกท่อถึงปีหน้าก็ไม่เสร็จ จะ “โรยน้ำ” เข้ากรุงก็ไม่ถูก เพราะเป็นพื้นที่ปิดล้อมด้วยพนังกั้นน้ำเหมือน “นิวออร์ลีนส์” ควรปล่อยให้เป็นพื้นที่รับน้ำฝน

ศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล จากหน่วยศึกษาพิบัติภัยและข้อสนเทศเชิงพื้นที่ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำท่วมกรุงเทพฯ ในปี 2555 ว่า ปัจจัยในการเกิดน้ำท่วมกรุงเทพฯ ของปีนี้ไม่ได้จากน้ำเหนือเหมือนปีที่ผ่านมา ซึ่งปัจจัยที่น่าห่วงคือ “ร่องมรสุม” และ “พายุ” ที่ผิดปกติ ซึ่งปกติแล้วร่องมรสุมหรือร่องฝนจากจีนจะอยู่แค่ 5-7 วัน แต่ล่าสุดร่องฝนแช่อยู่นานมาตั้งแต่ต้นเดือน ก.ย.และเป็นสาเหตุของฝนถล่มกรุงเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

จากร่องฝนที่แช่อยู่นานจึงดันให้พายุที่จะเข้ามาให้ขึ้นเหนือ ทำให้พายุไม่เข้าไทยโดยตรง แต่มีปริมาณฝนตกจากร่องฝน ซึ่งน้ำท่วมสุโขทัยก็เกิดจากร่องฝนนี้ แต่เหตุใดร่องฝนจึงแช่ตัวนานนั้น ศ.ดร.ธนวัฒน์ กล่าวว่า ไม่อาจบอกสาเหตุได้ และหากร่องฝนดังกล่าวขยับตัวลงมาจะทำให้พายุตรงเข้าภาคกลางของไทย ซึ่งจะพาปริมาณน้ำมาหลายร้อยมิลลิลิตร ขณะที่ร่องฝนมีปริมาณน้ำฝนแค่ 100 มิลลิลิตร ซึ่งน่าจับตาว่ากรุงเทพฯ จะรับมืออย่างไร

กรณีที่น้ำจะท่วมกรุงเทพฯ ในปีนี้นั้น ศ.ดร.ธนวัฒน์ กล่าวว่า มีสาเหตุจากพายุและร่องฝน แต่รัฐบาลยังมองการท่วมอยู่แค่ “น้ำเหนือ” ขณะที่น้ำท่วมมีหลายปัจจัยเพราะน้ำมาจากฟ้า สิ่งที่ต้องทำคือกรุงเทพฯ ต้องพร่องน้ำในคูคลองอย่างเดียว เพราะหากลอกท่อระบายน้ำในตอนนี้คงต้องใช้เวลาถึงปีหน้า เพราะท่อต่างๆ ทรุดลงไปมาก และต้องใช้งบประมาณในการเปลี่ยนระบบท่อเป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ หากจะใช้กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ “โรยน้ำ” หรือพื้นที่น้ำผ่านนั้นถือเป็นเรื่องอันตรายมาก เพราะกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ปิดล้อมด้วยพนังกั้นน้ำเหมือน “นิวออร์ลีนส์” ของสหรัฐฯ ซึ่งหากต้านน้ำไม่ไหวก็จะกลายเป็นกะละมังรับน้ำ แต่จะเป็นเหมือนนิวออร์ลีนส์เลยหรือไม่นั้น ศ.ดร.ธนวัฒน์ ยังมองว่า ไทยโชคดีที่ยังมีประเทศเพื่อนบ้านเป็นกำบังไว้ส่วนหนึ่ง ไม่ได้เป็นพื้นที่เปิดรับพายุเหมือนนิวออร์ลีนส์เสียทีเดียว

ศ.ดร.ธนวัฒน์ กล่าวว่า รูปแบบของน้ำฝนในปีนี้ย้อนกลับไปคล้ายในปี 2549 และ 2538 ซึ่งต่างเป็นปีเอลนีโญอ่อนๆ หรือช่วงเปลี่ยนผ่านจากลานีญาไปสู่เอลนีโญ ซึ่งในอดีตได้มีการรับมือด้วยการพร่องน้ำในคูคลองต่างๆ จนแห้ง ดังนั้น ตอนนี้จึงต้องพร่องน้ำในคูคลองต่างๆ เพื่อให้มีพื้นที่รับน้ำฝน
กรุงเทพฯ อยู่ในพื้นที่ปิดจากพนังกั้นน้ำ ซึ่ง ศ.ดร.ธนวัฒน์กล่าวว่าเป็นเรื่องอันตรายมากหากปล่อยให้กรุงเทพฯ เป็นทางระบายน้ำ
เส้นทางพายุในปีที่มีน้ำฝนมากช่วงเดือน ต.ค. ในอดีต และบางปีมีน้ำท่วมใหญ่ ซึ่งเป็นรูปแบบที่อาจจะเกิดใน ต.ค.นี้ หากร่องฝนขยับลงล่าง
นิวออร์ลีนส์ที่มีสภาพเป็นพื้นที่ปิดจากพนังกั้นน้ำเช่นเดียวกับกรุงเทพฯ
รูแปบบการเคลื่อนตัวของพายุที่ผิดปกติ
พายุไคตั๊กเบี่ยงขึ้นเหนือไม่ลงมาไทยเนื่องจากมีร่องฝนดันไว้






กำลังโหลดความคิดเห็น