xs
xsm
sm
md
lg

กินไขมันสูงเสี่ยงอ้วนไม่พอ...ยังเสี่ยงโง่ด้วย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

งานวิจัยพบการกินอาหารไขมันสูงนอกจากเสี่ยงเบาหวานและโรคอ้วนแล้ว ยังเสี่ยงกระทบต่อการเรียนรู้ด้วย (ภาพประกอบจากรอยเตอร์)
สกว.-นักวิจัยพบความเสี่ยงกินอาหารไขมันสูง ไม่ใช่แค่อ้วน หรือเบาหวาน แต่ยังเสี่ยงกระทบต่อการใช้สมองเรียนรู้และทำความเข้าใจด้วย อย่างไรก็ดี ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่าต้องกินไขมันมากแค่ไหน หรือนานแค่ไหนจึงจะส่งผลเสียดังกล่าว

รศ.ดร.ทพญ.สิริพร ฉัตรทิพากร อาจารย์ประจำคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และหัวหน้าหน่วยวิจัยสรีรวิทยาระบบประสาท ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมสาขาโรคทางไฟฟ้าหัวใจ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงติดต่อกันเป็นเวลานาน เป็นปัจจัยส่งเสริมที่ทำให้เกิดโรคอ้วนตามมา

ทั้งนี้ โรคอ้วนมีความเกี่ยวข้องกับความเสี่ยงในการพัฒนาเป็นภาวะดื้อต่ออินซูลินในส่วนต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งนำไปสู่การเกิดโรคที่มีชื่อว่า “โรคเบาหวานชนิดที่ 2” ซึ่งเนื้อเยื่อไขมันเพิ่มมากขึ้นจากโรคอ้วนนั้นจะมีส่วนร่วมในการก่อให้เกิดการดื้อต่ออินซูลิน ซึ่งภาวะดื้อนี้จัดเป็น “กลุ่มอาการเมตาบอลิซึม” ที่สามารถอธิบายถึงปัญหาสุขภาพหลายอย่างที่มีเชื่อมโยงกัน โดยเฉพาะความเสี่ยงต่อการเกิด “โรคเบาหวาน” และ “โรคหัวใจ” เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ยังเคยมีการศึกษาพบว่า วัยรุ่นที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 จะมีการแสดงความผิดปกติของการคิดและการเรียนรู้ต่างๆ เกิดขึ้น ดังเช่น มีผลการทดสอบความรู้ความเข้าใจหลายด้านที่แย่ลง เมื่อเทียบกับเพื่อนๆ ที่ไม่เป็นโรคอ้วน หรือโรคเบาหวานมาก่อน ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีรายงานความผิดปกติของโรคอ้วนในกลุ่มวัยรุ่นที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 กับการทำงานของสมองที่เกี่ยวข้องกับความรู้ความเข้าใจ

อย่างไรก็ดี ยังไม่มีผู้ใดศึกษาว่า การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง จนทำให้เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลินจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของการทำงานของตัวรับอินซูลินในระบบประสาทส่วนกลาง โดยเฉพาะสมองส่วนที่เกี่ยวกับการเรียนรู้และหน่วยความจำ หรือก่อให้เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลินในเซลล์สมองด้วยหรือไม่ และยังไม่ทราบว่าต้องรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงนานเท่าใดจึงจะก่อให้เกิดผลเสียดังกล่าว

รศ.ดร.ทพญ.สิริพร ได้ทำการวิจัยเรื่อง “ผลของการกินอาหารไขมันสูงติดต่อกันเป็นเวลานานต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับการสื่อประสาทของสมองส่วนฮิปโปแคมบัสของหนู” โดยได้รับทุนสนับสนุนจากฝ่ายวิชาการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ซึ่งนักวิจัยได้ตั้งสมมติฐานว่า การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงจะทำให้เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลินจากการตรวจวัดในกระแสเลือด มีการเพิ่มขึ้นของระดับฮอร์โมนคอร์ติคอสเตอรอยด์ทั้งในกระแสเลือดและในสมอง และยังทำให้การตอบสนองต่ออินซูลินในสมองลดลง

ฮอร์โมนคอร์ติคอสเตอรอยด์เป็นฮอร์โมนประเภทสเตียรอยด์ชนิดหนึ่ง ที่ถูกสังเคราะห์ขึ้นในเซลล์ที่เปลือกของต่อมหมวกไตภายใต้การควบคุมจากสมองส่วนกลาง โดยจะสังเคราะห์ฮอร์โมนคอร์ติคอสเตอรอยด์ขึ้นมาจากไขมันกลุ่มคอเลสเตอรอล ฮอร์โมนนี้มีฤทธิ์ต่อเมตาบอลิซึมของแป้งและน้ำตาลในการเพิ่มการสลายแป้งให้เป็นน้ำตาล รวมทั้งเสริมฤทธิ์ของอินซูลิน ซึ่งจะทำให้ร่างกายมีการใช้พลังงานจากน้ำตาลเพิ่มขึ้น อีกทั้งมีฤทธิ์ต่อเมตาบอลิซึมของไขมันด้วยการเพิ่มการสะสมของไขมันโดยเฉพาะบริเวณหน้าท้อง

ผลจากการศึกษาในหนูทดลอง พบว่า ระดับฮอร์โมนดังกล่าวมีการเพิ่มขึ้นในสัปดาห์ที่ 4 หลังจากรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง และตรวจพบภาวะดื้อต่ออินซูลินในกระแสเลือดในสัปดาห์ที่ 8 และ 12 รวมทั้งพบว่าการตอบสนองของตัวรับอินซูลินในระบบประสาทกลางไม่สามารถทำงานตามปกติ หรืออาจเรียกได้ว่าเกิดภาวะดื้อต่ออินซูลินในเซลล์สมองขึ้นในสัปดาห์ที่ 12 ซึ่งพบได้ชัดเจนในบริเวณสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้และหน่วยความจำ

นอกจากนี้ ยังพบว่า การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงยังทำให้เกิดภาวะเครียดในสมองอีกด้วย เนื่องจากระดับฮอร์โมนคอร์ติคอสเตอรอยด์ที่หลั่งออกมาเมื่อมีความเครียด จะมีระดับที่สูงมากขึ้นในสมอง ซึ่งเป็นระยะเวลาเดียวกับที่เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลินในเซลล์สมองขึ้นนั้นเอง นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังได้ศึกษาทดลองพบว่า หนูที่เลี้ยงด้วยอาหารไขมันสูงเป็นเวลา 12 สัปดาห์นอกจากมีระดับฮอร์โมนคอร์ติคอสเตอรอยด์ในสมองสูงขึ้นแล้ว ยังมีความบกพร่องในการเรียนรู้และความจำ เมื่อเทียบกับหนูที่เลี้ยงด้วยอาหารปกติ ซึ่งความบกพร่องนั้นมีความสัมพันธ์กันกับภาวะดื้อต่ออินซูลินในสมองด้วย

“การศึกษานี้จึงสามารถอธิบายได้ว่าภาวะดื้อต่ออินซูลินในเซลล์สมองและความเครียดในสมองสามารถเกิดขึ้นได้ในระยะเวลาเดียวกันหลังจากรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงติดต่อกันเป็นระยะเวลาหนึ่ง โดยมีการเพิ่มขึ้นของฮอร์โมนคอร์ติคอสเตอรอยด์ในสมองเป็นตัวบ่งชี้ถึงความเครียดที่เกิดขึ้น ซึ่งส่งผลตามมาทำให้เกิดการเรียนรู้และความจำที่ลดลงได้” รศ.ดร.ทพญ.สิริพร กล่าวสรุป
รศ.ดร.ทพญ.สิริพร ฉัตรทิพากร






กำลังโหลดความคิดเห็น