xs
xsm
sm
md
lg

หวั่นลักไก่ลอกคูคลองกันน้ำท่วมจนกระทบนิเวศ “พื้นที่ชุ่มน้ำ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บัวหลวง อีกทรัพยากรเพื่อยังชีพของชาวบ้าน
เหตุน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 ที่ผ่านมา ทำให้เกิดโครงการป้องกันน้ำท่วมผุดขึ้นมากมาย และการปรับปรุงห้วยหนองคลองบึงที่ตื้นเขินให้รองรับปริมาณน้ำได้มากขึ้นก็เป็นส่วนหนึ่งของโครงการเหล่านั้น ซึ่งในบางพื้นที่มีความจำเป็นจริง แต่หากไม่ศึกษาให้ดีก็อาจกระทบ “พื้นที่ชุ่มน้ำ” ซึ่งเป็นระบบนิเวศน้ำจืดที่เป็นโปรตีนที่สำคัญของคนไทย

พื้นที่ชุ่มน้ำเป็นแหล่งอนุบาลและแหล่งอาศัยที่สำคัญของปลา ด้วยระบบนิเวศที่มีทั้งบริเวณน้ำตื้นและน้ำลึก โดยบริเวณน้ำตื้นนั้นมีแสงแดดส่องถึงพื้นดินได้ จึงมีพืชน้ำ เช่น บัว หรือ สาหร่ายต่างๆ เจริญเติบโตได้ เสมือนเป็นป่าใต้น้ำให้ปลาได้อาศัยวางไข่ หาอาหารและหลบภัย และบริเวณน้ำลึกนั้นเป็นพื้นที่ให้ปลาขนาดใหญ่ได้อาศัย

ในเมืองไทยมีพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์หลายแห่ง เช่น บึงบอระเพ็ด กุดทิง หรือบึงโขงหลงนั้น ซึ่งล้วนมีทั้งบริเวณน้ำลึกและน้ำตื้นดังกล่าวเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ ขณะที่แหล่งน้ำที่มีแต่น้ำลึกนั้นกลับให้ผลผลิตได้ไม่มากเท่าแหล่งน้ำที่มีความหลากหลายของสภาพพื้นที่เช่นพื้นที่ชุ่มน้ำ แม้ว่าในแหล่งที่มีแต่น้ำลึกจะมีปริมาณน้ำมากกว่า

ทั้งนี้ เป็นเวลากว่า 12 ปีที่พื้นที่ชุ่มน้ำของไทยได้รับการคุ้มครองตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 ส.ค.43 ที่ว่าด้วยเรื่อง “ทะเบียนรายการพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติและระดับชาติของประเทศไทย และมาตรการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำ” ซึ่งมติครั้งนั้นได้เสนอพื้นที่ชุ่มน้ำ ทั้งแหล่งน้ำไหลและแหล่งน้ำนิ่งทั่วประเทศ รวมกว่า 22,885,100 ไร่ให้อยู่ภายใต้ความคุ้มครองของมติดังกล่าว

ส่วนหนึ่งของพื้นที่ชุ่มน้ำได้รับการเสนอให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ หรือ แรมซาร์ไซต์ (Ramsar sites) เช่น บึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ พื้นที่ชุ่มน้ำดอนหอยหลอด จ.สมุทรสงคราม เป็นต้น จนต่อมาเมื่อวันที่ 3 พ.ย.52 ได้มีการทบทวนมติ เพิ่มพื้นที่ชุ่มน้ำที่ตกสำรวจไปในการสำรวจครั้งแรกและเพิ่มมาตรการในการคุ้มครองพื้นที่ชุ่มน้ำให้มีความรัดกุมยิ่งขึ้น หนึ่งในมาตรการนั้นคือการให้จัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการพัฒนาใดๆ ที่มีแนวโน้มจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศของพื้นที่ชุ่มน้ำ

อย่างไรก็ดี แม้จะมีมติ ครม.ในการคุ้มครองพื้นที่ชุ่มน้ำ แต่แหล่งข่าวที่เชื่อถือได้เปิดเผยกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ว่า ปัจจุบันมีโครงการขุดลอกแหล่งน้ำมากมายโดยอ้างเรื่องความจำเป็นเร่งด่วนในการป้องกันน้ำท่วม และมีการอนุมัติงบประมาณพร้อมดำเนินการโดยไม่มีการศึกษาผลกระทบใดๆ ซึ่งขัดมติ ครม.อย่างชัดเจน นอกจากนี้แหล่งข่าวยังเปิดเผยอีกว่า ครม.ชุดปัจจุบันยังมีแนวคิดที่จะเปลี่ยนแปลงเนื้อหาบางส่วนของมติเดิมที่เป็นอุปสรรคในการใช้งบประมาณด้วย

“ในฐานะที่เป็นผู้หนึ่งที่ประสบปัญหาและได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัยที่ผ่านมา และเห็นความจำเป็นที่จะต้องมีการพัฒนาแหล่งน้ำบางส่วนเพื่อให้สามารถรองรับน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่พื้นที่ชุ่มน้ำ ห้วย หนอง คลอง บึงนั้น มิได้เป็นแต่เพียง “พื้นที่รับน้ำ” เท่านั้น แต่เป็นระบบนิเวศที่มีความซับซ้อน เป็นแหล่งผลิตโปรตีนคุณภาพดี และแหล่งอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพที่สำคัญของคนไทย เราต้องช่วยกันดูแล และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน มิใช่ใช้เป็นแหล่งผลาญงบประมาณอย่างในปัจจุบัน” แหล่งข่าวระบุ

ทั้งนี้ ต้องจับตาดูต่อว่าคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันจะเร่งการขุดลอกคู คลอง หนอง บึง โดยไม่คำนึงผลกระทบต่อระบบนิเวศ ซึ่งจะส่งผลเป็นลูกโซ่ต่อทรัพยากรในแหล่งน้ำและกระทบต่อความเป็นอยู่ของคนไทยหรือไม่
นกเป็ดผี ในบึงบอระเพ็ด
นกอีแจว ในบึงบอระเพ็ด
นกอีโก้ง เดินย่ำบนพืชน้ำในบึงบอระเพ็ด
นกอ้ายงั่ว ที่บึงบอระเพ็ด
ปลาเสือดอในบึงบอระเพ็ด
บึงบอระเพ็ด หนึ่งในพื้นที่ชุ่มน้ำที่อุดมสมบูรณ์ของไทย (ภาพประกอบทั้งหมดจาก Nature Explorer ผู้จัดทำคู่มือ “ดูนกชมบึง บึงบอระเพ็ด”/โต๊ะข่าวท่องเที่ยว)






กำลังโหลดความคิดเห็น