“ฟิกเกียร์” ที่ว่าเจ๋งมาเจอนวัตกรรมกีฬาฝีมือคนไทยอาจมีหงายหลัง “จักรยานหรรษา” สิ่งประดิษฐ์เพื่อสุขภาพสุดเท่ที่ช่วยให้ร่างกายได้ออกกำลังทุกส่วน และยังเล่นพร้อมกันถึง 2 คนได้ ล่าสุดยังคว้ารางวัลนวัตกรรมวิทยาศาสตร์การกีฬาจากกรมพลศึกษา
“จักรยานหรรษา” (Jovial Bike) เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่เกิดจากความร่วมมือของอาจารย์และนักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคกาญจนบุรี จ.กาญจนบุรี ที่ช่วยให้ร่างกายทุกส่วนได้ออกกำลัง โดยล้อหน้าจะเคลื่อนที่จากการปั่นด้วยมือ ส่วนล้อหลังจะเคลื่อนได้ด้วยการขย่ม ทำให้ต้องเกร็งกล้ามเนื้อตั้งแต่น่อง ต้นขาและหน้าท้อง รวมทั้งต้องออกกำลังทุกส่วนเพื่อขับเคลื่อนจักรยาน
นายสถาพร เชิดฉาย นักศึกษาเทคนิคยานยนต์ วิทยาลัยกาญจนบุรี อธิบายแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า คณะผู้ประดิษฐ์พุ่งความสนใจไปที่การสร้างนวัตกรรมเพื่อเด็กและเยาวชน จึงสร้างจักรยานหรรษานี้ขึ้น โดยมีลักษณะเด่นที่ใครเห็นแล้วต้องอยากเล่น อยากลอง และยังได้ประโยชน์สูงสุดในการเสริมสุขภาพหลายๆ ด้านในเวลาเดียวกัน
หลักการสำคัญคือการออกแบบล้อหลังที่เพลาล้อหลังปรับระยะเยื้องศูนย์และมีแผ่นเหล็กถ่วงน้ำหนัก คล้ายเพลาข้อเหวี่ยงเหมือน “เพลาข้อเหวี่ยง” ของเครื่องยนต์ เมื่อหมุนปั่นล้อหน้าด้วยมือทำให้ “คานเหยียบ” กระดกปลายขึ้นตามศูนย์ของเพลาล้อหลัง ซึ่งต้อง “ขย่ม” เพื่อกดคานและทำให้ล้อหลังหมุนและผลักจักรยานไปข้างหน้าเร็วขึ้น
ด้าน นายวัลลภ มากมี อาจารย์เทคนิคช่างยนต์ วิทยาลัยเทคนิคกาญจนบุรี และหัวหน้าโครงการพัฒนาจักรยานหรรยา เพิ่มเติมว่า จักรยานหรรยายังใช้เป็นเครื่องเล่นออกกำลังกายสำหรับ 2 คนได้ โดยให้คนด้านหน้าปั่นด้านหน้าและขย่มคานเหยียบ ส่วนอีกคนด้านหลังให้เกาะคนหน้าและคอยขย่มตามจังหวะ และสำหรับคนที่เริ่มเล่นใหม่ๆ ที่ยังไม่คุ้นเคยในการเล่นนั้น ยังมีเซนเซอร์เตือนเป็นจังหวะให้ขย่มตามด้วย
ตอนนี้ทางคณะได้จดสิทธิบัตรจักรยานหรรษานี้แล้วและกำลังรอภาคเอกชนที่สนใจรับไปต่อยอด โดยนายวัลลภกล่าวว่า จักรยานสำหรับออกกำลังนี้มีราคาไม่แพง โดยมีราคาเพียงแค่ 7,000 บาท แต่หากถ่ายทอดสู่ภาคเอกชนแล้วน่าจะผลิตได้ในราคาที่ถูกลง
พร้อมกันนี้คณะอาจารย์และนักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคกาญจนบุรีได้ส่งจักรยานหรรษานี้เข้าแข่งขันในการประกวดนวัตกรรมวิทยาศาสตร์การกีฬา (Sport Science Innovative Contest 2012: SSIC) ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักวิทยาศาสตร์การกีฬา กรมพลศึกษา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในประเภทประชาชน และได้รับรางวัลชนะเลิศในการประกวดดังกล่าว ซึ่งประกาศผลรางวัลเมื่อวันที่ 29 ส.ค.55 ณ สนามกีฬาแห่งชาติ กรมพลศึกษา
“เครื่องวัดความฝืดของสนามกีฬา” จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังเป็นอีกผลงานน่าสนใจที่ส่งเข้าประกวดเวทีเดียวกันและได้รับรางวัลชนะเลิศในประเภทอุดมศึกษา ซึ่ง น.ส.บีอิ้ง แซ่อิง นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์และหนึ่งในผู้พัฒนาอธิบายว่า ปัญหาเรื่องความฝืดของสนามมีผลกระทบมากต่อนักกีฬา หากสนามลื่นเกินไปอาจทำให้นักกีฬาเกิดอุบัติเหตุได้ หรือหากสนามฝืดเกินไปก็ทำให้นักกีฬาชินกับการออกแรงมากเกินไป ดังนั้น จึงจำเป็นต้องตรวจสอบว่าสนามนั้นมีความฝืดที่ได้มาตรฐานหรือไม่
ความฝืดมีค่าระหว่าง 0-1 ซึ่งตามมาตรฐานสนามกีฬาจะมีค่าความฝืด 0.5 ดังนั้น ทีมพัฒนาเครื่องวัดความฝืดจึงได้ออกแบบเครื่องวัดความฝืดที่แสดงค่าระหว่าง 0-100 เพื่อให้ง่ายต่อการอ่านค่า และอาศัยหลักการ “แรงเสียดทาน” ความรู้ฟิสิกส์พื้นฐานระดับ ม.ปลายมาใช้ในการออกแบบเครื่องวัดความฝืด โดยเครื่องมีเซนเซอร์วัดระยะทาง และเซนเซอร์วัดแรงกระทำจากพื้น จากนั้นไมโครคอนโทรลเลอร์ซึ่งได้รับการเขียนโปรแกรมจะคำนวณค่าความฝืดออกมา
น.ส.บีอิ้งสาธิตให้ดูว่า เมื่อเปิดเครื่องวัดความฝืดแล้ว เครื่องจะเดินหน้าไปโดยอัตโนมัติ และจะหยุดเมื่อถึงระยะที่กำหนดไว้ตามโปรแกรม และเท่าที่ตรวจสอบพบว่าที่ต่างประเทศนั้นมีเครื่องที่ตรวจสอบความฝืดของสนามได้ด้วยการตัดพื้นไปตรวจสอบ แต่ยังไม่มีใครพัฒนาเครื่องวัดความฝืดที่สามารถเคลื่อนที่ไปบนสนามได้
นอกจากนี้ยังนวัตกรรมที่น่าสนใจอีกหลายผลงาน อาทิ เครื่องเสิร์ฟลูกตะกร้อ จากวิทยาลัยเทคนิคนครนายก ที่ได้รัรางวัลชนะเลิศประเภทอาชีวศึกษา โดยเป้าหมายของการพัฒนาเพื่อฝึกให้นักกีฬาสามารถรับลูกเสิร์ฟหลังเท้าที่มีความรุนแรงได้มากขึ้น หรือเสื้อเกราะเทควันโดที่ติดเซนเซอร์รับสัญญาณเตะเพื่อช่วยนับคะแนน จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่มีต้นทุนเพียงไม่กี่พันบาท เป็นต้น