ข่าวดีสำหรับ “ลิงลีเมอร์” เมื่อทางการของมาดากัสการ์ใช้เกาะขนาดใหญ่ไว้เป็นแหล่งอนุรักษ์สัตว์ป่าขนาดใหญ่ โดยกินพื้นที่มากกว่าเกาะของอังกฤษ
เกาะดังกล่าวมีชื่อว่า “อุทยานแห่งชาติมาริกา” (Makira Natural Park) ซึ่งไลฟ์ไซน์ระบุว่า เป็นเกาะที่มาดากัสการ์สร้างเพื่อเป็นแหล่งอนุรักษ์สัตว์ป่า โดยมีความหลากหลายทางชีวภาพเหมาะสำหรับลิงลีเมอร์มากที่สุดในโลก โดยอ้างตามคำประกาศของสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (Wildlife Conservation Society: WCS)
อุทยานเพื่อการอนุรักษ์ลิงลีเมอร์สัตว์ประจำถิ่นของมาดากัสการ์นี้มีพื้นที่กว้างกว่าเกาะโรด (Rhode Island) ของอังกฤษ โดยมีพื้นที่ 3724 ตารางกิโลเมตร อยู่ในป่าฝนทางตะวันออกเฉียงเหนือของมาดากัสการ์ ซึ่งสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่าระบุว่ามีลิงลีเมอร์ 20 สปีชีส์จากทั้งหมด 103 สปีชีส์ ในจำนวนนี้มีลีเมอร์แผงคอแดง (red-ruffed lemur) และลีเมอร์ซิลกีซิฟากา (silky sifaka) อยู่ด้วย
ทั้งนี้ พบลีเมอร์เฉพาะในมาดากัสการ์ และเพิ่งถูกระบุว่าเป็นกลุ่มสิ่งมีชีวิตมีกระดูกสันหลังที่ใกล้สูญพันธุ์มากที่สุดในโลก โดยลีเมอร์รวมถึงลิงลม (loris) และตัวบุชเบบี (bushbabies) จัดอยู่ในกลุ่มไพรเมทโพรซิเมียน (prosimian primate) ซึ่งถูกนิยามว่าไม่ใช่ทั้งลิงจ๋อ (monkey) และลิงไม่มีหางหรือลิงเอป (ape)
ในอุทยานแห่งชาติมาริกานั้นไม่ได้พิทักษ์เพียงลีเมอร์เท่านั้น แต่สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่ากล่าวว่าเกาะดังกล่าวยังเป็นแหล่งอนุรักษ์สัตว์อื่นๆ อย่าง เหยี่ยวงูมาดากัสการ์ (Madagascar serpent eagle) และตัวฟอสซา (fossa) สัตว์คล้ายแมวและเป็นผู้ล่าขนาดใหญ่เพียงหนึ่งเดียวของเกาะ ซึ่งกินลีเมอร์และเป็นสัตว์ที่ต้องการพื้นที่ป่าสมบูรณ์ขนาดใหญ่เพื่อคงไว้ซึ่งประชากรที่แข็งแรง
ทางเจ้าหน้าที่ประเมินว่าเมื่อรวมอุทยานแห่งใหม่กับอุทยานแห่งชาติมาซัสลา (Masoala National Park) ของมาดากัสการ์ที่อยู่ใกล้ๆ กัน รวมถึงบริเวรลุ่มน้ำของอ่านอันตงกิล (Antongil Bay) จะทำให้พื้นที่ของเกาะแห่งมีความอุดมในด้านความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุด
ด้าน คริสเตียน แซมเปอร์ (Cristián Samper) ประธานและผู้บริหารระดับสูงของสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่ากล่าวว่า อุทยานมาริกาจะเป็นตัวแทนของศูนย์กลางในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพของมาดากัสการ์ โดยเป็นการแสดงให้เห็นว่ามาดากัสการ์ให้พันธะสัญญาในการเดินหน้าพิทักษ์มรดกทางธรรมชาติของตนเองไว้