xs
xsm
sm
md
lg

น่ารักๆ ลูกเป็ดหายากฟักออกจากไข่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น่ารักๆ ฟักออกมาพร้อมความหวัง (บีบีซีนิวส์)
18 ลูกเป็ด “โปชาร์ดมาดากัสการ์” เป็ดที่เสี่ยงสูญพันธุ์มากที่สุดในโลก ได้ฟักออกจากไข่ในสถานเพาะเลี้ยง ซึ่งให้ประชากรเป็ดชนิดนี้เพิ่มขึ้นเป็น 60 ตัวแล้ว ด้านองค์กรอนุรักษ์ที่จัดโครงการเพาะเลี้ยงเป็ดหายากชนิดนี้ ชี้ว่า การฟักของลูกเป็ดครั้งนี้ สร้างความหวังในการช่วยสัตว์ปีกดังกล่าวรอดจากการสูญพันธุ์

องค์กรอนุรักษ์ไวล์ดโฟว์ลแอนด์เวทแลนด์ส์ทรัสต์ (Wildfowl and Wetlands Trust) หรือ WWT และองค์กรอนุรักษ์สัตว์ป่าเดร์เรลล์ (Durrell Wildlife Conservation Trust) ได้ร่วมกันริเริ่มโครงการขยายพันธุ์เป็ดโปชาร์ดมาดากัสการ์ (Madagascan pochard) ขึ้นภายในสถานเพาะเลี้ยง ซึ่งทางกลุ่มอนุรักษ์ ระบุว่า การฟักของลูกเป็ด 18 ตัวนี้ได้สร้างความหวังว่า นกเป็ดชนิดนี้จะรอดจากการสูญพันธุ์ได้ โดยพวกเขาได้สร้างสถานเพาะเลี้ยงขึ้นในมาดากัสการ์เพื่อฟูมฟักไข่เป็ดอันล้ำค่าเหล่านั้น

บีบีซีนิวส์ ระบุว่า เคยเชื่อว่า เป็ดชนิดนี้ได้สญพันธุ์ในช่วงปลายทศวรรษ 1990 แต่ก็มีการค้นพบอีกครั้งในปี 2006 เมื่อนักอนุรักษ์ซึ่งทำการสำรวจได้สังเกตเห็นเป็ดดังกล่าว 22 ตัว ณ จุดๆ เดียว คือ ที่ทะเลสาบเลกมัทสะบอริเมนา (Lake Matsaborimena) หรือ ทะเลสาบแดง (Red Lake) ทางตอนเหนือของมาดากัสการ์ จากนั้นองค์กรอนุรักษ์เดอร์เรลล์ และ WWT จึงได้เริ่มภารกิจเร่งด่วนในการช่วยเหลือนกเป็ดที่มีวิกฤตเสี่ยงสูญพันธุ์ในปี 2009

เป้าหมายของกลุ่มอนุรักษ์ คือ เก็บไข่เพื่อดำเนินโครงการขยายพันธุ์ในสถานเพาะเลี้ยง ซึ่งจะช่วยปกป้องสายพันธุ์ของนกเป็ดนี้ได้ โดยนักอนุรักษ์ได้เก็บไข่ 24 จากรังที่พบข้างๆ ทะเลสาบ เบื้องต้นพวกเขาเก็บไข่ไว้ในห้องน้ำของโรงแรม ในขณะที่กำลังเตรียมสร้างศูนย์เพาะเลี้ยง และตอนนี้เป็ดเหล่านั้นได้ขยายพันธุ์ภายในสถานกักขังเป็นครั้งแรก

ดร.กลิน ยัง (Dr.Glyn Young) นักชีววิทยาด้านการอนุรักษ์จากเดอร์เรลล์ ผู้ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ไปกับการศึกษาเป็ดโปชาร์ดมาดากัสการ์ กล่าวว่า ลูกเป็ดเหล่านี้เป็นสัญลักษณ์ของการก้าวไปข้างหน้าอย่างเหลือเชื่อในการต่อสู้เพื่อรักษาให้เป็ดโปชาร์ดนี้ไม่สูญพันธุ์ การมาใหม่ของลูกเป็ดเหล่านี้นำไปสู่ความหวังที่เป็นจริง ว่า วันหนึ่งเป็ดเหล่านี้ต้องกลับมาเพิ่มจำนวนมากมายอีกครั้ง

อย่างไรก็ดี บีบีซีนิวส์ ระบุว่า เป็ดโปชาร์ดมาดากัสการ์ ยังคงเสี่ยงสูงที่สูญพันธุ์จากเหตุการณ์เดี่ยวๆ อย่างปัญหามลพิษ หรือการระบาดของโรค ตอนนี้นักวิทยาศาสตร์กำลังศึกษาประชากรเป็ดในธรรมชาติที่เหลืออยู่อย่างใกล้ชิด เพื่อทำความเข้าใจถึงเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังจาการลดจำนวนของสิ่งมีชีวิตชนิดนี้ และเพื่อประเมินสภาพที่เหมาะสมในการปล่อยเป็ดเหล่านี้กลับสู่ถิ่นอาศัยตามธรรมชาติ

ปีเตอร์ แครนส์วิค (Peter Cranswick) หัวหน้าฝ่ายการฟื้นสายพันธุ์สัตว์จาก WWT อธิบายว่า แม้ทะเลสาบเลกมัทสะบอริเมนาจะเป็นแหล่งซ่อนตัวสุดท้ายสำหรับเป็ดเหล่านี้ แต่มันก็ยังเป็นสถานที่ห่างไกลจาก “อุดมคติ” ซึ่งจากการสำรวจเบื้องต้นของพวกเขาเผยให้เห็นว่า ที่ดังกล่าวมีอาหารน้อยเกินไป และอาจจะนำไปสู่การรอดชีวิตได้ต่ำสำหรับลูกเป็ด และกรณีดังกล่าวเป็ดเหล่านั้นก็จะเริ่มขาดอาหาร

ส่วน ไนเกล จาร์เรตต์ (Nigel Jarrett) จาก WWT ผู้มีส่วนร่วมในภารกิจช่วยกอบกู้สายพันธุ์เป็ดโปชาร์ดมาดากัสการ์เมื่อปี 2009 กล่าวว่า ทางทีมอนุรักษ์คาดหวังที่จะได้พบ หรือแม้กระทั่งสร้างพื้นที่ชุ่มน้ำสำหรับนกเป็ด ซึ่งปราศจากแรงกดดันจากนักล่าสัตว์น้ำที่รุกราน เขาระบุด้วยว่าทางทีมคาดหวังที่จะสร้างสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็ดหายากเหล่านี้จะรอดชีวิตได้ด้วยตัวเอง และสามารถขยายพันธุ์ให้เจริญเติบโตต่อไปได้ นอกจากนี้ เขายังอยากปันความรู้ดีๆ ให้แก่คณะทำงานที่มาดากัสการ์ในความรู้สึกยินดีที่ได้เห็นไข่ฟักออกมาเป็นตัว

พร้อมกันนี้ ยังมี ไอดริส พัตติ (Idris Bhatti) จาก WWT ที่กำลังทำงานร่วมกับทีมในมาดากัสการ์ในการช่วยเหลือนักอนุรักษ์ในการเรียนรู้ทักษะที่จำเป็นสำหรับการขยายพันธุ์และการฟูมฟักเป็ดโปชาร์ด โดยพวกเขาต้องทำงานหนักในการตรวจตราไข่เป็ดและเครื่องฟักไข่อย่างน้อยคืนละ 3 ครั้ง และมีการตรวจอีกนับไม่ถ้วนในช่วงกลางวัน จนเขารู้สึกเหมือนวางไข่และกกไข่ให้ฟักด้วยตัวเอง จนเขาไม่อาจกลั้นน้ำตาในความสำเร็จครั้งนี้ไว้ได้

โครงการอนุรักษ์และขยายพันธุ์เป็ดโปชาร์ดมาดากัสการ์ครั้งนี้ยังเกิดจากความร่วมมือของอีกหลายหน่วยงาน ได้แก่ กองทุนเปเรไกรน์ (The Peregrine Fund) องค์กรอนุรักษ์นกมาดากัสการ์ (Asity Madagascar) รวมถึงรัฐบาลมาดากัสการ์ด้วย
ฟักออกมาหมาดๆ (WWT)
ฝูงลูกเป็ดโปชาร์ดมาดากัสการ์เพิ่มความหวังที่จะป้องกันไม่ให้เป็ดสายพันธุ์นี้สูญพันธุ์ (บีบีซีนิวส์)
นักอนุกรักษ์เรียนรู้การดูและและฟักไข่เป็ดอย่างถูกวิธี (บีบีซีนิวส์)



ชมคลิปลูกเป็ดโปชาร์ดมาดากัสการ์



กำลังโหลดความคิดเห็น