xs
xsm
sm
md
lg

เขียนกราฟ…ก็แค่เรื่องกากๆ จริงหรือ?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อินโฟกราฟิกจากรายการวาไรตี้ที่ทำผมงงเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา โดยกราฟที่แสดงเป็นกราฟแท่งที่ระบุวิธีศัลยกรรมตามเวลาที่ผ่านไปโดยบนยอดของแต่ละแท่งแปะภาพสาวศัลยกรรมที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ด้วย ส่วนด้านบนมีเส้นแนวโน้มลากตามความสูงของแท่งกราฟแสดงระดับความสวยว่า ”พีค” ช่วงไหนด้วย (กระปุกด็อทคอม)
ผมนั่งดูรายการวาไรตี้ชื่อดังที่นำเสนอเรื่องของสาวเสพติดศัลกรรม แต่ที่สะดุดตามากที่สุดคือ “กราฟหรือแผนภูมิ” ที่คุณพิธีกรยกขึ้นมาประกอบการอธิบาย ว่าช่วงไหนที่แขกร่วมรายการทำศัลยกรรมแล้วดูสวยที่สุด ผมเองดูแล้วก็เข้าใจ คนดูทั่วไปก็น่าจะเข้าใจว่ารายการกำลังสื่อว่าเธอสวยที่สุดขณะทำศัลกรรมแบบพอดีๆ เมื่อทำมากขึ้นหน้าเธอก็เริ่มผิดปกติจนความสวยน้อยลง แต่ประเด็นที่ชวนคิดสะกิดใจก็คือ ผมเริ่มงงว่าเจ้ากราฟแท่งที่รายการนำมาแสดงนั่นหมายถึงอะไร

ตอนแรกผมนึกว่ากราฟแต่ละแท่งน่าจะสื่อถึงจำนวนครั้งของการทำศัลยกรรม แต่ก็ไม่ใช่เพราะจำนวนกลับลดลงในตอนท้าย หรือจะเป็นความสวยของแขกรับเชิญก็ดูจะไม่เชิง ผมเลยทึกทักเอาเองว่า ทางรายการคงพยายามทำกราฟในรูปแบบของ “อินโฟกราฟิก (infographics)” ที่พยามยามรวมเอาข้อมูลทั้งเชิงปริมาณและภาพลักษณ์ที่เปลี่ยนไปมารวมกัน แต่ดันพลาดไปตรงการเลือกใช้กราฟไม่ถูกประเภท ทำให้คนรับสารที่ค่อนข้างพิถีพิถันเรื่องการเสพข้อมูลรู้สึกว่า “มันไม่ใช่อ่ะ..มันไม่ใช่...” (หรือผมจะเรื่องมากไปเองก็ไม่รู้)

เรื่องการนำเสนอข้อมูลผ่านสื่อแบบนี้น่าสนใจตรง “ทำไมต้องอินโฟกราฟิก?” ซึ่งถือว่าเป็นแทรนด์ที่กำลังมาแรงมาก ลูกเด็กเล็กแดงก็ล้วนแต่เห็นจนชินตา ด้วยหลักการที่ว่า “ต้องสื่อสารข้อมูลจำนวนมากให้จบในภาพเดียว” จึงทำให้เหมาะกับจริตของคนรุ่นใหม่ ที่ต้องการความรวดเร็ว เข้าใจง่าย กระชับชับไว และแชร์ผ่านสังคมออนไลน์ได้ทันที แต่ด้วยการที่อินโฟกราฟิกนั้นเป็นประมวลข้อมูลเชิงปริมาณทั้งตัวเลขทางสติถิ กราฟ และข้อมูลเชิงคุณภาพ เช่น แผนผัง แผนที่ รูปภาพ รวมไปจนถึงข้อมูลที่ซับซ้อนอย่างองค์ความรู้ และสัญลักษณ์ต่างๆ เข้ามาไว้ด้วยกัน ดังนั้นผู้ที่จะคิดจะทำสื่อประเภทนี้คงต้องตรวจสอบตนเองด้วยว่าพื้นฐานความรู้ความเข้าใจในการเลือกใช้ข้อมูล เพื่อให้ข้อมูลถูกต้องและชัดเจนมากที่สุดตามความเป็นจริง ซึ่งถือเป็นความรู้หรือทักษะพื้นฐานที่สุดทางคณิตาศาสตร์และวิทยาศาสตร์ด้วยซ้ำไป

โดยส่วนตัวแล้วเรื่องการเลือกใช้แผนภูมิหรือกราฟผิดๆ นี้ ผมเริ่มสัมผัสได้เมื่อลงมือทำเวิร์คชอปเกี่ยวกับโครงงานวิทยาศาสตร์ให้กับนักเรียนทั้งระดับประถมและมัธยม จนถึงงานช่วบสอนในมหาวิทยาลัย ผมพบว่าเด็กๆ รุ่นใหม่มีทักษะการเลือกใช้กราฟที่อ่อนมาก เช่น พวกเขามักเลือกการเปรียบเทียบข้อมูลการทดลองคนละชุดด้วยกราฟเส้นแทนที่จะเป็นกราฟแท่งเพราะคิดว่าสวยงามและดูเป็น “วิทยาศาสตร์” มากกว่ากราฟแท่ง (คิดได้ไง? สงสัยดูข่าวเศรฐกิจมากไปมั้ง)

หลังจากที่ผมอธิบายว่าการใช้กราฟเส้นเราจะเลือกใช้ก็ต่อเมื่อเป็นข้อมูลที่ได้มีความต่อเนื่องกันจนเหมือนมีจุดเรียงต่อกันเป็นเส้น พวกเขาก็สามารถปรับเปลี่ยนได้รวดเร็ว แต่เสียงสะท้อนที่น่าตกใจคือ “หนูไม่เห็นเคยรู้มาก่อนเลย!” ซึ่งผมตีความหมายได้หลายทาง คือ เกิดปัญหาทั้งในส่วนของการเรียนการสอนและตัวของนักเรียนนักศึกษาเอง ในห้องเรียนครูอาจเห็นว่าเรื่องนี้เล็กน้อยมากจนปล่อยให้เด็กๆ ทำอย่างไรก็ได้ โดยไม่กวดขันให้เลือกใช้อย่างถูกต้อง ในแบบเรียนคณิตศาสตร์เบื้องต้นก็มักจะมีคำสั่งที่เริ่มต้นว่า “จงเขียนแผนภูมิแท่งเพื่อแสดง...” แต่กลับไม่มีลักษณะคำถามปลายเปิดเพื่อฝึกทักษะการเลือกใช้กราฟที่ถูกต้อง

ผมเคยอ่านรายงานต่างประเทศหลายฉบับเกี่ยวกับวิธีการสอนเด็กอนุบาลเรื่องสถิติและการนำเสนอกราฟ มักมีคำแนะนำคล้ายกัน คือ การนำเด็กๆ ออกไปเดินในสนามและให้เก็บ ดอกไม้ ใบไม้หลายขนาด หลายสีมาจัดกลุ่ม หรือนับจำนวนก้อนหิน แยกสีผึ้งที่มาตอมดอกไม้ ฯลฯ แล้วนำมาเลือกเขียนกราฟเปรียบเทียบสิ่งที่สังเกตเห็นให้ถูก ซึ่งเป็นวิธีการสร้างคำถามปลายเปิดที่น่าสนใจทีเดียว แต่ในบ้านเราปัญหาที่คาราคาซังนี้ยังตามหลอกหลอนผู้เรียนผู้สอนถึงระดับมหาวิทยาลัย เพราะในปฏิบัติการต่างๆ ส่วนมากก็มักจะเป็นการฝึกฝนทางเทคนิค และทักษะการใช้อุปกรณ์มากกว่าการฝึกกระบวนการคิด ดังนั้น การเขียนกราฟในรายงานต่างๆ จึงเป็นเรื่องที่ “ต้องทำให้ถูก” ไม่ใช่ “ทำให้เป็น” แถมนักศึกษาส่วนมากยังชอบลอกงานกันเองหรือลอกจากรายงานเก่าของรุ่นพี่อีกต่างหาก เรียกว่าคัดลอกความกากกันมาตั้งแต่รุ่นพี่ยันรุ่นน้องกันเลยทีเดียว...

เมื่อมองที่ตัวนักเรียนนักศึกษาเองก็มีปัญหาไม่แพ้กัน เมื่อภาคเรียนที่ผ่านมา ผมมีหน้าที่ช่วยสอนปฏิบัติการในชั้นเรียนที่ผมร่วมทำวิจัยอยู่ เมื่อผมขอให้นักศึกษาเขียนกราฟลงในกระดาษกราฟด้วยมือแล้วติดลงในรายงาน นักศึกษาส่วนมากโวยวายทันทีว่าทำไมต้องเสียเวลาเขียนด้วยมือ พวกเขาสามารถสั่งให้โปรแกรม MS Excel ช่วยเขียนได้ แต่ผมยืนยันว่าให้ทดลองทำด้วยมือก่อน แล้วเอามาดูกันว่ากราฟที่ผมให้เขียนจากข้อมูลดิบโดยไม่ได้บอกว่าให้ใช้กราฟอะไรและต้องเลือกตัวแปรใดมาแสดงนั้น นักศึกษาจะสามารถทำเองได้หรือไม่

หลังจากที่ได้รับรายงานปฏิบัติการผมพบว่านักศึกษาเพียงครึ่งชั้นเรียนเท่านั้นที่สามารถเลือกใช้กราฟและอธิบายผลที่เชื่อมโยงกับกราฟได้อย่างถูกต้อง เมื่อเรานำเรื่องนี้ไปอภิปรายในชั้นเรียน นักศึกษายอมรับว่าพวกเขาพึ่งมองเห็นว่าเรื่องนี้ยากกว่าที่คิด เพราะปกติจะนำข้อมูลดิบใส่ลงในโปรแกรมและให้โปรแกรมจัดการให้ และมักจะไม่มีอาจารย์เข้มงวดเรื่องกราฟที่พ่นออกมาจากโปรมแกรมสำเร็จรูปเท่าไหร่นัก หลังจากนั้นในปฏิบัติการต่อๆ มา นักศึกษาก็เริ่มสนุกกับการสร้างกราฟด้วยมือตามลักษณะข้อมูลในแต่ละปฏิบัติการ ซึ่งล้วนแต่เป็นคำถามปลายเปิด และผมให้พวกเขาตรวจสอบกันเองว่าเริ่มมีทักษะที่ “ใช้ได้” หรือยัง ถ้าเพื่อนๆ เห็นว่าทำได้ดีแล้วจึงจะร่วมกันตัดสินใจเปลี่ยนไปใช้โปรแกรมช่วยได้ ซึ่งก็ได้ผลลัพธ์ที่ดีทีเดียว

แม้เรื่องการเขียนกราฟ หรือแผนภูมิจะดูง่ายและไม่มีอะไรซับซ้อน แต่ในนาทีนี้ที่โลกกำลังผจญกับสภาวะข้อมูลท่วมท้น การจัดการข้อมูลมากมายกลับต้องพึ่งพาทักษะง่ายที่สุดเท่าที่เราจะนึกถึง ก็คือ “การเขียนกราฟ” ที่เมื่อนำมาประกอบกับข้อมูลที่ซับซ้อนอื่นๆ ก็จะกลายร่างเป็นอินโฟกราฟิกซึ่งกระโดดมาเป็นพระเอกหน้าม่าน ช่วยให้เราเข้าถึงข้อมูลที่หลากหลายได้อย่างรวดเร็ว แต่หากผู้สื่อสารขาดทักษะพื้นฐานที่ดีแล้ว พระเอกอาจกลายเป็นผู้ร้าย หรือกลายเป็นตัวตลกให้คนหัวเราะเอาได้ง่ายๆ นอกจากไม่เท่ตามเทรนด์แล้ว ยังจะลดมูลค่าและความน่าเชื่อถือของตนเองและองค์กรไปมากโข “ทักษะการเลือกใช้กราฟเบื้องต้น” จึงอาจจะไม่ใช่ ”เรื่องกากๆ” เสียแล้ว ณ วันนี้
ผู้บุกเบิกการนำข้อมูลทางสถิติมาแปลงเป็นภาพให้เห็นได้ชัดเจนนั้น คือ William Playfair วิศวกรและนักเศรฐศาสตร์ทฤษฏี ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นผู้ริเริ่มสร้างกราฟที่เรานิยมใช้กันในปัจจุบัน คือ กราฟเส้น (line graph) และกราฟแท่ง (bar chart) ที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นในปี 1786 ส่วนแผนภูมิวงกลมถูกประดิษฐ์ขึ้นในปี 1801 ส่วนกราฟเส้นเปรียบเทียบเพื่อใช้แสดงความเคลื่อนไหวของกระแสการเงินถูกประดิษฐ์ขึ้นในปี 1786 ในชื่อ Playfairs trade-balance time-series chart
อินโฟกราฟิกยุคต่อมานั้นเกิดระหว่างสงครามไครเมียระหว่างมหาอำนาจในยุโรป (1853-1856) โดยกราฟฟิกอินโฟที่มีชื่อเสียงเขียนขึ้นโดยพยาบาลชื่อดัง คือ ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล (Florence Nightingale) ซึ่งประสงค์จะแสดงอัตราการตายของทหารในค่ายกลางสนามรบจึงคิดประดิษฐ์กราฟวงกลมที่ใช้เปรียบเทียบสาเหตุการตายขยายตัวออกมาเป็นรูปกลีบดอกกุหลาบ โดยมีชื่อว่า Diagram of the Causes of Mortality จากข้อมูลที่ซับซ้อนจึงทำให้เข้าใจได้ง่าย สื่อสารกับผู้บังคับบัญชาจนถึงระดับพระราชินี ได้รวดเร็วกว่ากระดาษที่เขียนตัวเลขไว้เป็นพรืด ซึ่งในยุคต่อมามีคนขนานนามว่า “Nightingale Rose Diagram”
อินโฟกราฟิกจากมหาวิทยาลัยปรินตัน เล่าเรื่องการขยายอาณานิคมครอบคลุมโลกของร้านกาแฟและอาหารแดกด่วน ซึ่งสามารถแสดงข้อมูลมากมายซับซ้อน ทั้งแหล่งวัตถุดิบ การขยายตัวของยอดขาย ส่วนแบ่งการตลาด ตามประเทศต่างๆ ได้ชัดเจนในภาพเดียว แต่หากสังเกตให้ดีจะเห็นว่าอัตราส่วนของกราฟ และข้อมูลทางสถิติยังคงรักษาความถูกต้องไว้ได้เป็นอย่างดี เพียงแต่ถูกจัดประกอบกันให้ดูชัดเจนสวยงาม และน่าสนใจมากขึ้นเท่านั้น
Facebook ที่ใช้ชื่อเพจว่า “ประเทศไทยอยู่ตรงไหน” หรือ www.whereisthailand.info  ได้รับความนิยมในสังคมออนไลน์อย่างมาก แม้หลายครั้งข้อมูลที่นำมาวิเคราะห์จะยังมีข้อถกเถียงในด้านความถูกต้อง หรือมีประเด็นการเมืองซ่อนอยู่บ้างก็ตาม แต่ในความคิดเห็นส่วนตัว ผมมองว่าเว็บไซต์นี้นำเสนอกราฟและข้อมูลต่างๆ ผ่านอินโฟกราฟิกได้ค่อนข้างชัดเจนดีเลยทีเดียว
********************

เกี่ยวกับผู้เขียน
“นายปรี๊ด”
นักเรียนทุนวิทยาศาสตร์ที่บ่น โวยวาย บ้าพลังและไม่ชอบกรอบ แต่มีประสบการณ์ในแวดวงวิทยาศาสตร์ล้นเหลือระหว่างตะกายบันไดการศึกษาสู่ตำแหน่ง “ด็อกเตอร์” ด้านชีววิทยา ทั้งงานสอน ผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ ทำสื่อการเรียนวิทยาศาสตร์ ของเล่นเชิงวิทยาศาสตร์ กรรมการตัดสินโครงงานวิทยาศาสตร์และวิทยากรบรรยายเรื่องวิทยาศาสตร์ใกล้ตัว

"แคะคุ้ยเรื่องวิทย์ๆ สะกิดต่อมคิด"

อ่านบทความของนายปรี๊ดได้ทุกวันอาทิตย์เว้นอาทิตย์
กำลังโหลดความคิดเห็น