ตอนนี้ต่อให้นักวิ่งเหรียญทองโอลิมปิกคนไหนมาลงแข่งก็คงไม่อาจเอาชนะ “ชีตาห์สาว” จากสวนสัตว์ในสหรัฐฯ ลงได้ เพราะเธอเพิ่งทุบสถิติเพื่อนร่วมสายพันธุ์ด้วยการทำความเร็วครั้งใหม่ระหว่างวิ่ง 100 เมตรในเวลาเพียง 5.95 วินาที
แม้แต่ อูเซน โบลต์ (Usain Bolt) นักวิ่งลมกรดชาวจาไมกา ซึ่งกำลังร่วมแข่งขันในโอลิมปิกส์ 2012 ที่ลอนดอน อังกฤษ และเป็นเจ้าของสถิติโลกวิ่ง 100 เมตรที่ความเร็ว 9.58 วินาที ก็ยังเป็นรอง “ซาราห์” (Sarah) ชีตาห์ตัวเมียวัย 11 ปี จากสวนสัตว์ชินชินนาติ (Cincinnati Zoo) ในสหรัฐฯ ที่ทำความเร็วครั้งใหม่ได้ 5.95 วินาทีในการวิ่ง 100 เมตร อ้างตามรายงานของไลฟ์ไซน์
แน่นอนว่าโครงสร้างของชีตาห์นั้นถูกออกแบบมาให้วิ่งได้เร็วกว่ามนุษย์ ซึ่งมีความเร็วโดยเฉลี่ยประมาณ 96.5 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ระหว่างทีมงานแม็กกาซีนเนชันนัลจีโอกราฟิคบันทึกภาพการวิ่งของซาราห์นั้น พบว่าเสือสาววิ่ง 100 เมตรด้วยความเร็ว 98 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ก่อนหน้าซาราห์เคยทำลายสถิติมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี 2009 ซึ่งเธอวิ่งในระยะทางเดียวกันด้วยเวลา 6.13 วินาที ซึ่งเป็นการทำลายสถิติของไนยานา (Nyana) ชีตาห์ตัวผู้ของแอฟริกาใต้ที่วิ่ง 100 เมตรด้วยเวลา 6.19 วินาที เมื่อปี 2001
ซาราห์นั้นเป็นชีตาห์ในโครงการทูตสัตว์ตระกูลแมว (Cat Ambassador Program) ของสวนสัตว์ชิชินนาติ และสารคดีของเธอได้รับทุนสนับสนุนจากเนชันนัลจีโอกราฟิก ในความพยายามที่จะอนุรักษ์แมวใหญ่ ซึ่งการบันทึกความเร็วของชีตาห์นั้นทีมงานได้ใช้ตุ๊กตาขนฟูเป็นเหยื่อล่อไปรอบๆ
ความลับเบื้องหลังความเร็วของชีตาห์คือกระดูกสันหลังที่ยาวและยืดหยุ่น ทำให้แต่ละช่วงก้าวไปได้ไกลถึง 6.7 เมตร และเปลี่ยนช่วงก้าวต่อวินาทีตามความเร็วที่เพิ่มขึ้น โดยมีช่วงก้าวถี่ขึ้นเมื่อเร่งความเร็ว ซึ่งนักวิจัยได้รายงานความสามารถดังกล่าวในวารสารเจอร์นัลออฟเอกซ์เพอริเมนทัลไบโอโลจี (Journal of Experimental Biology) ว่าเป็นเหมือนพรสวรรค์พิเศษ ส่วนสัตว์ที่มีความเร็วสูงอีกชนิดอย่างสุนัขเกรย์ฮาวนด์จะมีช่วงก้าวต่อวินาทีคงที่ไม่ว่าความเร็วจะเป็นเท่าไร
กรงเล็บอันแหลมคมของชีตาห์ก็ทำหน้าที่เหมือนปุ่มใต้รองเท้าวิ่งขณะวิ่ง ส่งผลให้แมวใหญ่มีแรงดึง อย่างไรก็ดี ไลฟ์ไซน์ระบุว่าชีตาห์เป็นสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ในธรรมชาติ โดยประมาณว่ามีสัตว์ชนิดนี้อยู่นอกกรงสวนสัตว์เพียง 9,000-12,000 ตัว