xs
xsm
sm
md
lg

ชวน “ปล่อยของ” ประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์

เผยแพร่:   โดย: ศุภฤกษ์ คฤหานนท์


สวัสดีครับ สำหรับคอลัมน์นี้ ผมมีข่าวมาดีมาบอกกล่าวสำหรับท่านที่รักการถ่ายภาพ ซึ่งในช่วงนี้มีโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2555 โดยกิจกรรมการประกวดภาพถ่ายทางดาราศาสตร์นี้ เป็นการรวบรวมภาพถ่ายทางดาราศาสตร์ของประเทศไทยตามสถานที่ต่างๆ เพื่อนำมาใช้ในการจัดทำปฏิทินทางดาราศาสตร์ รวมทั้งนำภาพอื่นๆ ที่ส่งเข้าประกวดมาใช้ในการจัดทำสื่อการเรียนรู้ทางดาราศาสตร์และสมุดภาพสำหรับใช้เผยแพร่และประชาสัมพันธ์ภาพถ่ายทางดาราศาสตร์ และเทคนิคการถ่ายภาพ เรียกได้ว่าภาพถ่ายที่ส่งเข้าประกวดนอกจากจะมีคุณค่าความงามด้านศิลปะแล้ว ยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย

ทางสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ได้จัดโครงการประกวดภาพถ่ายทางดาราศาสตร์ ภายใต้หัวข้อในการประกวด “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย” โดยแบ่งประเภทของภาพที่ส่งเข้าประกวดทั้งหมด 5 ประเภท คือ Deep Sky Objects, ปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์, วัตถุในระบบสุริยะ, วิวธรรมชาติกับดาราศาสตร์, ปรากฏการณ์ในบรรยากาศโลก

ในการถ่ายภาพเข้าประกวดแต่ละประเภท มีรายละเอียดอย่างไรนั้น ผมจะขออนุญาตอธิบายเกี่ยวกับประเภทของภาพถ่ายรวมทั้งเทคนิคและวิธีการในการถ่ายภาพเพื่อให้เข้าใจมากยิ่งขึ้น ดังนี้ครับ
ตัวอย่างภาพถ่ายประเภท  Deep Sky Objects (ภาพอนุเคราะห์: สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ)
1.ภาพถ่ายประเภท Deep Sky Objects เช่น กาแล็กซี, เนบิวลา, กระจุกดาว โดยภาพถ่ายประเภทนี้ ผู้ถ่ายจะมีความรู้และเทคนิคด้านการถ่ายภาพทางดาราศาสตร์การใช้เครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ พอสมควร รวมทั้งความรู้ทางดาราศาสตร์ที่ขาดไม่ได้เลย ซึ่งภาพถ่ายประเภทนี้ ต้องถ่ายภาพบนฐานของกล้องโทรทรรศน์เพื่อให้กล้องสามารถบันทึกภาพ Deep Sky Objects เป็นเวลาหลายนาทีหรือหลายชั่วโมง และยังมีขั้นตอนในการบันทึกภาพ Dark, Flat และ Bias อีกมากมาย แล้วถึงนำภาพที่ได้มาผ่านกระบวนการ Process ภาพออกมาก่อนถึงจะได้ภาพถ่ายสวยๆ มาให้เราชื่นชมกัน เรียกได้ว่า ต้องลงทุนกับอุปกรณ์และการฝึกฝนค่อนข้างมากพอสมควรครับ โดยภาพประเภท ยกตัวอย่างง่ายๆ เลยเช่น เนบิวลา M42 บริเวณกลุ่มดาวนายพราย หรือกระจุกดาวลูกไก่ แม้กระทั่ง แอนโดรเมดากาแล็กซี M31 ก็มักจะเป็นภาพที่เราพอจะรู้จักกันบ้าง และก็เป็นภาพที่ผู้เริ่มต้นถ่ายภาพ Deep Sky Objects เลือกที่จะถ่ายเป็นอันดับต้นๆ เอาไว้วันหลังผมจะมาอธิบายเทคนิคและวิธีการถ่ายภาพประเภทนี้สำหรับผู้เริ่มต้นอีกทีครับ ขอติดไว้ก่อนครับ
ตัวอย่างภาพถ่ายประเภทปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ (ภาพอนุเคราะห์ : สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ)
2.ภาพถ่ายประเภทปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ เช่น ปรากฏการณ์สุริยุปราคา จันทรุปราคา ฝนดาวตก การบังกันของวัตถุในระบบสุริยะ การเกิด “คอนจังชัน” (การรวมตัวกัน) ของวัตถุในระบบสุริยะเป็นต้น แต่การขึ้น-ตกของดวงอาทิตย์ และดวงจันทร์ การเกิดเฟสของดวงจันทร์ อันนี้ไม่ใช่ปรากฏการณ์นะครับ ซึ่งในปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันนี้ เราคนไทยก็มีโอกาสได้เห็นปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง, สุริยุปราคาบางส่วน, ดาวเคียงเดือน และล่าสุด ปรากฏการณ์แห่งศตวรรษดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ ผมก็คิดว่า หลายท่านคงมีโอกาสได้ถ่ายภาพปรากกฏการณ์ต่างไว้บ้าง ซึ่งเทคนิคและวิธีการผมก็ได้แนะนำไปบ้างในคอลัมน์ก่อนๆ หรืออาจลองกลับไปอ่านดูตามลิงก์ก็ได้ครับ

http://www.manager.co.th/Science/ViewBrowse.aspx?BrowseNewsID=5517&SourceNewsID=5545&Page=1
ตัวอย่างภาพถ่ายประเภทวัตถุในระบบสุริยะ (ภาพอนุเคราะห์: สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ)
3.ภาพถ่ายประเภทวัตถุในระบบสุริยะ เช่น ดาวเคราะห์ ดาวหาง ดาวเคราะห์น้อย ดวงจันทร์ สำหรับภาพประเภทนี้ เราสามารถถ่ายภาพสวยๆ ส่งประกวดได้มายากครับ ส่วนมากแล้ววัตถุที่เราๆ สามารถถ่ายได้ตลอดเดือนตลอดปี ก็คือ ดวงจันทร์ และดวงอาทิตย์ นั่นเองครับ โดยในปีนี้ดวงอาทิตย์มีอะไรให้เราถ่ายมากเลยครับ เพราะปีนี้เกิดจุดบนดวงอาทิตย์หรือ Sun spot ค่อนข้างมากเป็นพิเศษ หรืออาจถ่ายภาพดวงจันทร์ในช่วงต่างๆ ก็ได้ และนอกจากนี้ ในช่วงเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา ก็ยังมีดาวอังคารโคจรเข้าใกล้โลกอีกด้วย ซึ่งก็เป็นช่วงที่เหมาะแก่การถ่ายภาพดาวอังคาร เพราะสามารถสังเกตเห็นขั้วน้ำแข็งของดาวอังคารได้ชัดเจนกว่าช่วงเดือนอื่นๆ และนอกจากนี้ ก็ยังมีดาวเคราะห์ดวงอื่นๆ ทั้งดาวเสาร์ที่เข้าใกล้โลก เมื่อเดือนเมษายน ที่ผ่านมา ทำให้ขนาดปรากฏของดาวเสาร์ใหญ่กว่าปกติเล็กน้อย ช่วยให้เห็นรายละเอียดได้ชัดเจนขึ้นด้วย รวมทั้งดาวพฤหัสบดีที่โคจรมาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ ทำให้สังเกตเห็นดาวพฤหัสบดีได้ตลอดทั้งคืนในช่วงเดือนตุลาคม ที่ผ่านมา ครับจากที่กล่าวมามีวัตถุให้ถ่ายค่อนข้างมากนะครับ ซึ่งถ้าหากเราจะเลือกถ่ายดวงอาทิตย์ หรือดวงจันทร์เทคนิคและวิธีการก็ไม่ยากเย็นเท่าไหร่ครับ ลองเข้าไปอ่านตามลิงก์ดูก็ได้ครับ

-การถ่ายภาพดวงอาทิตย์
http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9540000148931
- การถ่ายภาพดวงจันทร์
http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9540000135301

แต่หากจะลองถ่ายวัตถุประเภทดาวเคราะห์ หรือดาวหางแล้วล่ะก็ คงต้องฝึกฝนและลงทุนกับอุปกรณ์อยู่บ้างครับ เพราะต้องถ่ายภาพด้วยกล้องโทรทรรศน์ที่สามารถติดตามวัตถุท้องฟ้า และยังมีเทคนิคอีกมากมายครับสำหรับการถ่ายภาพประเภทนี้ ซึ่งผู้ที่สามารถถ่ายภาพดาวเคราะห์มาได้อย่างสวยงามก็ต้องขอชื่นชมเลยครับ
ตัวอย่างภาพถ่ายประเภทวิวธรรมชาติกับดาราศาสตร์ (ภาพอนุเคราะห์ : สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ)
4.ภาพถ่ายประเภทวิวธรรมชาติกับดาราศาสตร์ เช่น ภาพถ่ายที่ประกอบด้วยวัตถุบนพื้นโลกกับวัตถุบนท้องฟ้าที่เกี่ยวข้องกับดาราศาสตร์ ภาพถ่ายประเภทนี้หลายท่านคงชอบจะเคยกันค่อนข้างมาก เพราะมีวิธีการถ่ายภาพไม่ยาก และมีเทคนิควิธีการเหมือนกับการถ่ายภาพวิวทิวทัศน์ทั่วไปนั่นเองครับ ตัวอย่างเช่น การถ่ายภาพทางช้างเผือก, การถ่ายภาพแสงจักรราศี (Zodiacal Light), การถ่ายภาพเส้นแสงดาว (Star Trails), หรืออาจเป็นกลุ่มดาวกับวิวทิวทัศน์ ก็ล้วนแต่เป็นการถ่ายภาพประเภทวิวธรรมชาติกับดาราศาสตร์ครับ หรืออาจเข้าไปอ่านเทคนิคและวิธีการได้ตามลิงก์ครับ

- การถ่ายภาพทางช้างเผือก
http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9540000148958

- การถ่ายภาพแสงจักรราศี
http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9550000006234

- การถ่ายภาพเส้นแสงดาว (Star Trails)
http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9550000016487
ตัวอย่างภาพถ่ายประเภทปรากฏการณ์ในบรรยากาศโลก (ภาพอนุเคราะห์ : สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ)
5.ภาพถ่ายประเภทปรากฏการณ์ในบรรยากาศโลก เช่น ปรากฏการณ์ทางลมฟ้าอากาศ ฟ้าผ่า เมฆ การเกิดรุ้งกินน้ำ ดวงจันทร์ทรงกลด หรือดวงอาทิตย์ทรงกลด สำหรับภาพถ่ายประเภทสุดท้ายนี้ ผมคิดว่าในช่วงนี้เป็นช่วงเหมาะอย่างยิ่งในการถ่ายภาพปรากฏการณ์ในบรรยากาศโลก เนื่องจากเป็นช่วงฤดูฝน ท้องฟ้าในช่วงนี้มักเกิดปรากฏการณ์ต่างๆ มากมาย เช่น ช่วงฝนตกหนัก มักจะเกิดฟ้าฝ่า, ช่วงหลังฝนตกในช่วงที่มีแสงอาทิตย์ มักจะเกิดรุ้งกินน้ำในทิศตรงข้ามกับดวงอาทิตย์, การเกิดดวงอาทิตย์ทรงกลด ในช่วงกลางวัน หรือแม้กระทั่งการเกิดเมฆสี ที่ผมสังเกตเห็นบ่อยๆ มักเกิดช่วงเย็น แต่นั่นก็อาจเพราะเป็นเวลาเดียวที่ผมจะมีโอกาสแหงนหน้ามองฟ้าครับ หรือหากอยากทราบรายละเอียดเกี่ยวกับปรากฏการณ์ต่างๆ ในบรรยากาศก็อาจลองเข้าไปอ่านได้ในเว็บไซต์ ชมรมคนรักมวลเมฆ ของ ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ (ตามลิงก์ครับ http://cloudloverclub.com/pages/first-page/) ซึ่งจะมีข้อมูลปรากฏการณ์ในบรรยากาศโลกมากมายครับ

สำหรับผู้ที่สนใจส่งภาพถ่ายดาราศาสตร์เข้าร่วมประกวด สามารถเข้าไป อ่านรายละเอียดได้ที่ http://www.narit.or.th/images/downloads/pdf/contest2555.pdf

อย่าลืมส่งภาพเข้ามาร่วมประกวดกันเยอะนะครับ ปีหนึ่งมีครั้งเดียว และนี้ก็เป็นโอกาสที่เราจะได้โชว์ผลงานภาพถ่ายทางดาราศาสตร์ของเราครับ



*********************

เกี่ยวกับผู้เขียน



ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

ปัจจุบันเป็นเจ้าหน้าที่สารสนเทศทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”

“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”

อ่านบทความ ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน
กำลังโหลดความคิดเห็น