xs
xsm
sm
md
lg

การถ่ายภาพเส้นแสงดาว (Star Trails) ตอนที่ 1

เผยแพร่:   โดย: ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

ภาพนี้ผมถ่ายหลังบ้านพี่ชายในช่วงเดือนมกราคมขณะนั้นท้องฟ้าปลอดโปร่งทั้งคืน โดยหันหน้ากล้องไปทางทิศเหนือซึ่งให้ดาวเหนืออยู่บริเวณกลางภาพและจัดองค์ประกอบภาพโดยให้น้ำเข้ามาอยู่ในภาพประมาณ 1 ใน 4 ส่วนของภาพ เพื่อให้เห็นแสงดาวสะท้อนผิวน้ำใช้เวลาถ่ายทั้งหมดกว่า 4 ชั่วโมง (ภาพโดย : ศุภฤกษ์  คฤหานนท์ : Canon EOS 5D Mark2 /17-40 มม. / F4 / ISO 400 / 4 ชั่วโมง 20 นาที (30 วินาที x 520 ภาพ)
ในช่วงเวลาค่ำคืนของฤดูหนาวผมมักต้องจัดกิจรรมเปิดฟ้าตามหาดาวอยู่บ่อยครั้งและในทุกๆครั้งในการจัดกิจกรรมดูดาวก็ต้องบรรยายเกี่ยวกับเรื่องการเคลื่อนที่ของทรงกลมท้องฟ้าหรือการเคลื่อนที่ของดวงดาวบนท้องฟ้านั่นเองและหลังจากการบรรยายผมมักจะให้ผู้ร่วมกิจกรรมได้ลองถ่ายภาพการเคลื่อนที่ของดวงดาวบนท้องฟ้าหรือที่เราคุ้นหูกันว่า “การถ่ายภาพเส้นแสงดาว หรือที่เรียกว่า Startrails” นั่นเองครับ ซึ่งถือว่าเป็นของแถมหลังจากการจัดกิจกรรมดูดาว ใช้แล้วครับในคอลัมน์นี้ผมก็จะพูดถึงการถ่ายภาพเส้นแสงดาว (Startrails) ที่หลายๆคนอยากรู้เทคนิคและวิธีการ ซึ่งจริงๆแล้วใครๆก็สามารถถ่ายได้อย่างไม่ยากนัก และไม่จำเป็นต้องมีกล้องเทพเลนส์เทวดาแต่อย่างใด เอาหล่ะครับก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับเวลาและสถานที่รวมทั้งการเคลื่อนที่ของดวงดาวบนท้องฟ้ากันก่อนครับ

ช่วงเวลาที่เหมาะสม
ฤดูหนาวเป็นฤดูที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการถ่ายภาพเส้นแสงดาว (Startrails) และช่วงเวลาที่ดีที่สุดอยู่ระหว่างเดือน พฤศจิกายน – กุมพาพันธ์ หลังจากนี้ไปจนถึงก่อนสงกรานต์ ท้องฟ้าก็ยังโปร่งไม่มีเมฆ แต่จะมีฟ้าหลัว หมอกแดด ซึ่งเกิดจากเปิดหน้าดินจากการเก็บเกี่ยว และการเผาป่าเผาไร่ หลังจากสงกรานต์เป็นต้นไปเป็นช่วงฤดูฝน ฟ้าเปิดเป็นหย่อม ๆ ดูดาวได้บ้างเป็นบางส่วน แต่จะมีเมฆผ่านไปมาอยู่ตลอดเวลา ทำให้ไม่สะดวกต่อการถ่ายภาพดวงดาวครับ

สถานที่
สถานที่ที่เหมาะสมควรเป็นที่โล่งกว้าง มองเห็นขอบฟ้าได้ทุกด้าน โดยเฉพาะด้านทิศเหนือเพื่อให้สามารถสังเกตการเคลื่อนที่ของทรงกลมท้องฟ้า จากทิศตะวันออก ไปยังทิศตะวันตก (การหมุนรอบตัวเองของโลก) และอุปสรรคที่สำคัญของการการถ่ายภาพเส้นแสงดาว หรือแม้กระทั้งการดูดาวคือ แสงรบกวน ซึ่งนักดาราศาสตร์จะเรียกว่า “มลภาวะทางแสง” หรือ Light pollution ทั้งนี้รวมถึงแสงของดวงจันทร์ ที่จะรบกวนทำให้แสงของดาวจางกลืนไปกับท้องท้องที่มีมลภาวะทางแสงได้
ตัวอย่างภาพถ่ายเส้นแสงดาวที่ถ่ายจากในเมืองซึ่งมีแสงไฟรบกวนทำให้เห็นเส้นแสงดาวไม่มากนัก (ภาพโดย : ชนากานต์  สันติคุณาภรณ์ : Nikon D80 / F3.5 / ISO 1600 / 2 ชั่วโมง (30 วินาที x 240 ภาพ)
การวางแผน
ในการถ่ายภาพเส้นแสงดาว จำเป็นต้องใช้เวลาในการถ่ายภาพค่อนข้างนาน หรืออากต้องการเส้นแสงดาวยาวๆ หมุนเป็นวงกลมอาจต้องใช้เวลาตั้งแต่ 3 ชั่วโมงขึ้นไปหรืออาจถ่ายทั้งคืนจนถึงเช้าก็ได้ ดังนั้น การวางแผนเวลาการขึ้น-ตก ของดวงจันทร์ ช่วงเวลาที่เหมาะสมควรเป็นช่วงคืนเดือนมืด หรือ ข้างขึ้นตั้งแต่ ขึ้น 1 ค่ำ ถึง ขึ้น 4 ค่ำ (ดวงจันทร์ตกลับขอบฟ้าในช่วงหัวค่ำ) หรือข้างแรม ตั้งแต่ แรม 12 ค่ำ ถึง แรม 15 ค่ำ (ดวงจันทร์ขึ้นในช่วงใกล้รุ่งเช้า) โดยหลีกเลี่ยงช่วงข้างขึ้น 15 ค่ำ เพราะดวงจันทร์จะขึ้นทันทีหลังจากดวงอาทิตย์ขึ้น และตกตอนรุ่งเช้าเมื่อฟ้าสาง ทั้งคืนจะเต็มไปด้วยแสงของดวงจันทร์จันทร์ (ดวงจันทร์จะขึ้นช้าไปวันละประมาณ 50 นาที)

ซึ่งการวางแผนเราสามารถอาศัยข้อมูลปฏิทินจันทรคติ หรือโปรแกรมทางดาราศาสตร์ว่าคืนนั้นดวงจันทร์ขึ้น-ตกเวลาใด

การตรวจสอบสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา
เราควรจะวางแผนล่วงหน้า โดยตรวจสอบสภาพอากาศกับกรมอุตุวิทยาเพื่อดูอากาศว่าเป็นยังไง ท้องฟ้าปลอดโปร่งหรือมีเมฆมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่เราควรหลีกเลี่ยงมากที่สุด คือ ช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนตุลาคม เพราะเป็นช่วงฤดูฝน ทำให้ท้องฟ้าไม่ปลอดโปร่งและมีเมฆมากกว่าทุกฤดู แต่ถ้าจะให้ดี ช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดก็คือฤดูหนาว เพราะเป็นช่วงที่สภาพอากาศปลอดโปร่งในยามค่ำคืน สามารถมองเห็นดวงดาวได้ชัดเจนที่สุด แต่ก็อย่าลืมอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญนั่นก็คือต้องพยายามอย่าใกล้วันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ ซึ่งดวงจันทร์จะเต็มดวงและส่องแสงสว่างมากที่สุดจนบดบังแสงของดวงดาว

อุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการถ่ายภาพเส้นแสงดาว
มาดูกันว่าก่อนจะไปถ่ายภาพเส้นแสงดาวเราจำเป็นต้องเตรียมอะไรบ้าง

-กล้องถ่ายภาพ: ต้องเป็นกล้องที่มีสามารถถ่ายภาพต่อเนื่องได้ และสามารถเปิดหน้ากล้องได้นานกว่า 30 วินาที ที่สำคัญควรมีแบตเตอรี่ สำรองอีกอย่างน้อยหนึ่งก้อนเผื่อไว้ด้วย เพราะการถ่ายภาพเส้นแสงดาวจำเป็นต้องถ่ายภาพต่อเนื่องตลอดทั้งคืน จำนวนหลายร้อยภาพจึงทำให้เปลืองแบตฯ มากพอสมควร

-เลนส์: เลนส์หลักควรเป็นเลนส์มุมกว้างหนึ่งตัว ยิ่งมุมรับภาพกว้างมากเท่าไหร่ก็จะยิ่งเก็บเอาหมู่ดาวมาไว้ในภาพได้มากขึ้นเท่านั้น

-เมมโมรี่การ์ด : ในการถ่ายภาพเส้นแสงดาว นั้นต้องถ่ายภาพจำนวนมากเป็นพิเศษ ทำให้เปลืองเมโมรี่การ์ดควรเตรียมพื้นที่หน่วยความจำให้มากที่สุด

-ขาตั้งกล้อง: จำเป็นมากขาดไม่ได้ ควรตั้งขาตั้งกล้องให้มั่นคงที่สุด หรืออาจใช้ถุงทรายถ่วงเพื่อป้องกันลมพัดโกรกและต้องให้แน่ใจว่าขาตั้งกล้องที่ใช้มั่นคงและนิ่งพอ

-สายลั่นชัตเตอร์: อันนี้ก็จำเป็นมากที่สุด ให้ใช้เป็นแบบล็อคได้เพราะเราต้องถ่ายภาพแบบต่อเนื่อง

-ผ้าพลาสติกสำหรับคลุมกล้อง: ในตอนกลางคืนน้ำค้างจะเยอะ การตั้งกล้องทิ้งไว้ทั้งคืนกล้องอาจเปียกและเสียหายได้

-ไฟฉาย: บ่อยครั้งที่จำเป็นต้องใช้ไฟฉายเปิดแสงในบางตำแหน่งเพื่อให้ภาพออกมาสมบูรณ์ที่สุด

-แผนที่ดูดาว: เพื่อใช้ในการหาตำแหน่งของดาวเหนือที่ต้องการได้อย่างแม่นยำ

ทำความเข้าใจการเคลื่อนที่ของทรงกลมท้องฟ้า และการกำหนดทิศเพื่อกำหนดเส้นแสงดาว

เมื่อมองจากพื้นโลกเราจะเห็นทรงกลมท้องฟ้าเคลื่อนที่จากทิศตะวันออกไปยังทิศตะวันตก อย่างไรก็ตามเนื่องจากโลกของเราเป็นทรงกลม ดังนั้นมุมมองของการเคลื่อนที่ของทรงกลมท้องฟ้า ย่อมขึ้นอยู่กับตำแหน่งละติจูด (เส้นรุ้ง) ของผู้ถ่ายภาพนั้นเอง ตัวอย่างเช่น

ถ้าผู้ถ่ายภาพอยู่บนเส้นศูนย์สูตร หรือละติจูด 0° ขั้วฟ้าเหนือจะอยู่ที่ขอบฟ้าด้านทิศเหนือพอดี และดาวขึ้น – ตก ในแนวในตั้งฉากกับพื้นโลก

ถ้าผู้ถ่ายภาพอยู่ที่ละติจูดสูงขึ้นไป เช่น ละติจูด 15° ขั้วฟ้าเหนือจะอยู่สูงจากขอบฟ้า 15° ดาวขึ้น – ตก ในแนวเฉียงไปทางใต้ 15 °

ถ้าผู้ถ่ายภาพอยู่ที่ขั้วโลกเหนือหรือละติจูด 90° ขั้วฟ้าเหนือจะอยู่สูงจากขอบฟ้า 90° ดาวเคลื่อนที่ในแนวขนานกับพื้นโลก

เราสามารถสรุปได้ว่า ถ้าผู้สังเกตการณ์อยู่ที่ละติจูดเท่าใดขั้วฟ้าเหนือจะอยู่สูงจากขอบฟ้าเท่ากับ ละติจูดนั้น

ในการถ่ายภาพเส้นแสงดาวนั้น การกำหนดตำแหน่งและทิศทางของหน้ากล้องมีความสำคัญมาก เพราะเป็นการกำหนดทิศทางของเส้นแสงดาวที่จะเกิดในภาพ โดยอาศัยกลุ่มดาวสว่างบางกลุ่มในการบอกตำแหน่งดาวเหนือ หรือทิศได้ สำหรับผู้เริ่มต้นอาจใช้แผนที่ดาวของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ที่มีแจกให้ซึ่งสามารถติดต่อขอรับได้ หรืออาจใช้โปรแกรมดูดาวเช่น Stellarium ซึ่งเป็นฟรีแวร์สามารถดาวน์โหลดได้ที่ http://www.stellarium.org/

แผนที่ดูดาวของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ใช้สำหรับหาตำแหน่งของดวงดาวในแต่ละคืนและยังใช้ดูเวลาขึ้น-ตกของดวงอาทิตย์ในแต่ละวันได้ด้วย

การหาตำแหน่งดาวเหนือจากกลุ่มดาวหมีใหญ่

กลุ่มดาวหมีใหญ่" (Ursa major) หรือที่คนไทยเราเรียกว่า "กลุ่มดาวจระเข้" โดยทั่วไปมองเห็นดาวสว่างเรียงตัวเป็นรูปกระบวยตักน้ำ โดยดาวสองดวงแรกของกระบวยตักน้ำ จะชี้ไปยังดาวเหนือเสมอ ไม่ว่าทรงกลมท้องฟ้าจะหมุนไปอย่างไรก็ตาม

การหาตำแหน่งดาวเหนือจากกลุ่มดาวค้างคาว

กลุ่มดาวค้างคาว (Cassiopeia) ประกอบด้วยดาวสว่าง 5 ดวง เรียงเป็นรูปตัว “M” กลุ่มดาวค้างคาวจะอยู่ในทิศตรงข้ามกับกลุ่มดาวหมีใหญ่เสมอ ดังนั้นหากไม่เห็นกลุ่มดาวหมีใหญ่ เราก็จะใช้กลุ่มดาวค้างคาวในการบอกทิศแทน

การหาตำแหน่งดาวเหนือจากกลุ่มดาวนายพราน

ในบางครั้งหากมีเมฆบดบังท้องฟ้าด้านทิศเหนือ ไม่สามารถมองเห็นกลุ่มดาวหมีใหญ่ หรือ กลุ่มดาวค้างคาวได้ เราสามารถใช้ “กลุ่มดาวนายพราน” (Orion) ในการชี้ตำแหน่งทิศเหนือได้คร่าว ๆ เนื่องกลุ่มดาวนายพรานจะหันหัวเข้าหาดาวเหนือเสมอ นอกจากนั้นกลุ่มดาวนายพรานยังตั้งอยู่บนเส้นศูนย์สูตรฟ้า ทำให้กลุ่มดาวนายพรานขึ้น-ตก ในแนวทิศตะวันออก-ตะวันตก เสมอ

การเคลื่อนที่ของเส้นดาวจะต่างกันไป บางภาพดาวจะเคลื่อนเป็นวงกลม บางภาพเป็นแนวขวาง เฉียงไปทางขวาบ้าง ซ้ายบ้าง ทั้งนี้เนื่องจากโลกเราหมุนในลักษณะรอบแกนของตัวเอง ซึ่งแกนที่ว่าก็คือขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้นั้นเอง ดังนั้นเมื่อเราหันหน้ากล้องไปทางทิศเหนือหรือดาวเหนือ ซึ่งเป็นแนวแกนของโลก เราก็จะได้ภาพเส้นแสงดาวเคลื่อนที่หมุนวงรอบๆดาวเหนือ แต่ถ้าหากเราหันหน้ากล้องไปทางทิศตะวันออกหรือทิศตะวันตก เราก็จะได้ภาพเส้นแสงดาวเคลื่อนที่เป็นแนวขวาง เป็นหลักการง่ายๆ ที่ควรทราบและเข้าใจสำหรับคนที่อยากถ่ายภาพเส้นแสงดาวครับ
 ตัวอย่างภาพถ่ายเส้นแสงดาวทางทิศเหนือหรือดาวเหนือ ซึ่งเราก็จะได้ภาพเส้นแสงดาวเคลื่อนที่หมุนวงรอบๆดาวเหนือดังภาพ (ภาพโดย : สิทธิพร  เดือนตะคุ : Nikon D90 / 11-16 มม. / F6.3 / ISO 500 / 3 ชั่วโมง 35 นาที ( 5นาที x 43 ภาพ)
ตัวอย่างภาพถ่ายเส้นแสงดาวทางทิศตะวันออก ซึ่งเราก็จะได้ภาพเส้นแสงดาวเคลื่อนที่เป็นแนวขวาง เฉียงไปทางขวา ดังภาพ(ภาพโดย : วทัญญู  แพทย์วงษ์ : Canon EOS 450D / 8-16 มม. / F4.5 / ISO 1600 / 2 ชั่วโมง 50 นาที (30 วินาที x 340 ภาพ)
เทคนิคและวิธีการ
การถ่ายภาพเส้นแสงดาว (Star trail) ให้ปรากฏเคลื่อนที่เป็นเส้นทางยาวในภาพ เพื่อแสดงการหมุนรอบตัวเองของโลกนั้น โดยในเวลา 1 ชั่วโมง ดาวจะเคลื่อนที่ไปทางทิศตะวันตกประมาณ 15 องศา ซึ่งตำแหน่งและทิศทางที่น่าจะสวยที่สุดและเป็นที่นิยมการถ่ายกันมากที่สุด คือ การถ่ายภาพเส้นแสงดาวในทางทิศเหนือ เนื่องจากดาวดวงอื่นๆ จะเคลื่อนที่หมุนรอนรอบดาวเหนือเป็นวงกลม ซึ่งจะแสดงให้เห็นถึงการเคลื่อนที่ของดวงดาวที่เกิดจากการหมุนรอบตัวเองของโลก

ในอดีตในยุคกล้องฟิล์มนั้นเรามักถ่ายภาพเส้นแสงดาว ด้วยวิธีการเปิดหน้ากล้องค้างไว้นานนับชั่วโมง ซึ่งภาพที่ได้ก็จะเป็นเส้นแสงดาวเส้นเล็กๆ แต่มักไม่ยาวมากนัก เนื่องจากการเปิดหน้ากล้องค้างไว้นานๆ แสงก็จะถูกสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ยิ่งใช้เวลาถ่ายภาพนานเท่าไหร่ ภาพก็จะสว่างมากขึ้นเท่านั้น และอาจทำให้ภาพสว่างมากเกินจนขาดรายละเอียด

แต่ในปัจจุบันวิธีการถ่ายภาพภาพเส้นแสงดาว (Star trail) นั้น เราจะใช้วิธีการถ่ายภาพแบบต่อเนื่องแล้วนำภาพมาต่อกันเพื่อให้ได้ภาพเส้นแสงดาวที่สวยงาม ซึ่งผมมีเทคนิคและวิธีการที่แสนจะง่ายดายดังจะกล่าวต่อไปนี้

1. ตั้งกล้องบนขาตั้งกล้องที่มั่นคง โดยปกติแล้วเรามักจะหันหน้ากล้องไปที่ดาวเหนือ (ที่มุมเงยประมาณ 15 องศาเหนือ โดยการหาตำแหน่งของดาวเหนือ อาจสังเกตจากกลุ่มดาวหมีใหญ่ หรือกลุ่มดาวค้างคาวก็ได้) แล้วจัดองค์ประกอบภาพตามความเหมาะสม พร้อมกับต่อสายลั่นชัตเตอร์ให้เรียบร้อย

2. ช่วงเวลาที่เหมาะแก่การถ่ายภาพนั้นสามารถเริ่มถ่ายได้ตั้งแต่ช่วงหัวค่ำ โดยเมื่อเริ่มสังเกตเห็นแสงของดวงดาวก็สามารถถ่ายได้ไปจนถึงช่วงเช้ามืด

3. ควรเตรียมแบตเตอรี่สำรอง เพราะการถ่ายภาพเส้นแสงดาว แบบต่อเนื่องจำเป็นต้องเปิดหน้ากล้องทิ้งไว้นานๆ ทำให้สิ้นเปลืองพลังงานพอสมควร

4. ควรเลือกใช้เลนส์มุมกว้าง หรืออาจเลือกใช้เลนส์ชนิดตาปลา (FishEye Lens) เพื่อให้ได้องศาการรับภาพที่กว้างมากขึ้น

5. ควรเลือกขนาดรูรับแสงโดยประมาณ f/4 หรืออาจต่ำกว่านั้นก็ได้หากจำเป็น เพื่อกล้องมีความไวแสงในการสร้างภาพ เนื่องจากแสงดาวมีความสว่างน้อย และนอกจากนั้นยังช่วยไม่ให้เส้นแสงของดาวมีขนาดเล็กจนเกินไปจนมองไม่เห็น

6. เวลาในการเปิดหน้ากล้องหรือความเร็วชัตเตอร์ ไม่มีค่าตายตัวขึ้นอยู่กับสภาพแสง โดยทั่วไปมักนิยมใช้เวลาในการเปิดหน้ากล้อง 30 วินาที และถ่ายภาพต่อเนื่อง (Continuous) เรื่อยๆ
ตัวอย่างภาพถ่ายที่เปิดหน้ากล้องนาน 30 วินาที และเลือกใช้ค่ารูรับแสงกว้าง F4 และใช้ค่าความไวแสง ISO 400 ซึ่งจะได้ภาพดาวเป็นจุดสว่าง พร้อมกับเห็นรายละเอียดของโฟร์กราวด์ได้อย่างชัดเจน โดยเราจะถ่ายภาพออกมาแบบนี้แบบต่อเนื่องแล้วนำเอาภาพทั้งหมดมาต่อกันด้วยโปรแกรมในภายหลัง
ตัวอย่างภาพถ่ายที่เปิดหน้ากล้องนาน 5 นาที เพื่อต้องการเก็บรายละเอียดของโฟร์กราวด์ และเลือกใช้ค่ารูรับแสงไม่กว้างมากนัก F6.3 และใช้ค่าความไวแสง ISO 500 ซึ่งจะได้ภาพดาวเป็นเส้นแสงสั้นๆ และถ่ายภาพมาแบบต่อเนื่องแล้วนำเอาภาพทั้งหมดมาต่อกันด้วยโปรแกรมในภายหลัง
7. การถ่ายแบบต่อเนื่องทำให้เราไม่จำเป็นต้องเปิดหน้ากล้องค้างไว้นาน จึงสามารถที่จะเลือกใช้ค่าความไวแสง (ISO) สูง ตั้งแต่ 400-800 หรืออาจสูงกว่าก็ได้ ทั้งนี้ในภาพแรกหากต้องการทดสอบสภาพแสงดูก่อน อาจเลือกใช้ความไวแสงสูงพอประมาณ ISO 1600 เพื่อให้ระยะเวลาในการถ่ายสั้นลง เพื่อตรวจสอบดูค่าแสงก่อน หากภาพที่ถ่ายทดสอบใช้ได้แล้ว ก็ให้ปรับลดความไวแสงลง และชดเชยเวลาในการเปิดชัตเตอร์ให้พอดี

8. ปิดฟังชั่น Noise reduction เพื่อให้กล้องสามารถถ่ายภาพต่อเนื่องไปเรื่อยๆ และไม่ทำให้เส้นแสงดาวขาดหายไป

9. ไม่ใช้ระบบล็อคกระจกสะท้อนภาพ หลายท่านคงชอบใช้ระบบนี้ในการถ่ายภาพเพื่อให้กล้องนิ่งที่สุด แต่สำหรับการถ่ายภาพเส้นแสงดาวแบบต่อเนื่องให้เลิกใช้ไปเลยครับ เพราะขณะที่กล้องจะถ่ายภาพในแต่ละครั้งจะทำให้เสียช่วงเวลาหนึ่งในการเปิดล็อกกระจก และจะทำให้เส้นแสงดาวขาดหายไปเป็นช่วงๆ ไม่ต่อเนื่องครับ

10. การปรับโฟกัสของเลนส์ควรศึกษาระยะไกลสุด (อินฟินิตี้) ของเลนส์ก่อนการถ่ายภาพเนื่องจากระยะชัดที่สุดของระยะไกลสุด (อินฟินิตี้) ของเลนส์ แต่ละตัวอาจปรับอยู่ในตำแหน่งที่ต่างกัน และไม่ควรใช้ระบบออโต้โฟกัสอย่างเด็ดขาด เพราะกล้องจะไม่สามารถหาโฟกัสได้ในตอนกลางคืน รวมทั้งปิดระบบกันสั่นของเลนส์ (หากมี)

11. การบันทึกข้อมูลควรเลือกรูปแบบไฟล์เป็น RAW format เพื่อที่จะสามารถนำมาปรับเปลี่ยนแก้ไขภาพเพิ่มเติมในภายหลังได้อย่างยืดหยุ่นกว่าไฟล์แบบ JPEG

12. เมื่อต่อสายลั่นชัตเตอร์ให้เรียบร้อยแล้ว ให้ปรับโหมดในการถ่ายภาพเป็นการถ่ายภาพแบบต่อเนื่อง (Continuous) หลังจากตั้งกล้องตรวจสอบการตั้งค่าทุกอย่างเสร็จแล้ว ให้ล็อกสายลั่นชัตเตอร์เพื่อให้กล้องถ่ายภาพต่อเนื่อง โดยใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 ชั่วโมงเพื่อให้ได้ภาพเส้นแสงดาวโค้งเป็นวงกลมยาวๆ ซึ่งเราจะได้จำนวนภาพหลายร้อยภาพ หลังจากถ่ายภาพเสร็จแล้ว นำภาพทั้งหมดมาต่อกันโดยใช้โปรแกรม Star trails (สามารถดาวน์โหลดโปรแกรมได้ที่ (http://www.startrails.de/html/software.html) ก็จะได้ภาพเส้นแสงดาวที่สวยงามและยังสามารถควบคุมความสว่างของภาพได้อีกด้วย

13. ควรใช้ผ้าพลาสติกสำหรับคลุมกล้องเพื่อป้องกันน้ำค้าง เพราะในเวลากลางคืน การตั้งกล้องทิ้งไว้ทั้งคืนกล้องอาจเปียกและเสียหายได้

14. การตั้งกล้องไม่ควรเงยหน้ากล้องมากเกินไป เพราะจะทำให้น้ำค้างเกาะหน้าเลนส์ได้ง่าย และการตั้งกล้องทิ้งไว้เวลานานๆ อาจจะทำให้มีน้ำค้างตกใส่กล้อง จึงควรหาถุงพลาสติกคลุมบริเวณกล้องเพื่อป้องกันน้ำค้างด้วย
ตัวอย่างการใช้ผ้าพลาสติกสำหรับคลุมกล้องเพื่อป้องกันน้ำค้างในเวลากลางคืน หรืออาจใช้หมวกหรือผ้าคลุมกล้องไว้ก็ได้
ตัวอย่างภาพถ่ายเส้นแสงดาวที่ขณะถ่ายมีฝ้าและไอน้ำเกาะบริเวณหน้ากล้องทำให้เส้นดาวขาดหาย บริเวณกลางภาพและทำให้ภาพไม่คมชัด (ภาพโดย : ศุภฤกษ์  คฤหานนท์ : Canon EOS 5D Mark2 /17-40 มม. / F4 / ISO 1600 / 2 ชั่วโมง 58 นาที (30 วินาที x 356 ภาพ)
เมื่อตรวจสอบทุกอย่างเรียบร้อยก็เริ่มการถ่ายภาพกันได้เลย ระหว่างนี้ก็ควรหมั่นตรวจดูหน้าเลนส์ด้วยครับว่ามีฝ้าหรือน้ำค้าง มาเกาะหรือเปล่า เพราะจะทำให้ภาพที่ถ่ายมาทั้งคืนเสียหมดเลยก็เป็นได้ครับ ขอให้สนุกกับการถ่ายภาพแบบโต้รุ่งนะครับ และในคอลัมน์ต่อไปของเรื่องการถ่ายภาพเส้นแสงดาว (Star Trails) ตอนที่ 2 ผมจะมาอธิบายถึงวิธีการใช้งานโปรแกรมที่ใช้ในการ Process ภาพเพื่อให้ภาพออกมาเป็นเส้นแสงดาวที่สวยงาม ซึ่งจะมีโปรแกรมอะไรบ้างต้องติดตามในคอลัมน์ต่อไปครับ



*********************

เกี่ยวกับผู้เขียน



ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

ปัจจุบันเป็นเจ้าหน้าที่สารสนเทศทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร. , เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร. ในหัวข้อ "มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย"

"คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย"

อ่านบทความ ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน
มือปราบพ่อลูกอ่อน ตอนที่ 13
มือปราบพ่อลูกอ่อน ตอนที่ 13
อธิปยืนมองผืนน้ำทะเลที่เรียบสงบแล้วก็เริ่มอึ้ง พิมมาดาก้าวขึ้นมาจากน้ำ เดินขึ้นมาตามบันไดสะพานปลา แล้วหย่อนก้นนั่งกอดเข่าคอตกอย่างสิ้นหวัง พิมมาดายกมือป้ายน้ำตาที่ไหลไม่หยุด แจ๊ส โจ๊ก และจีจ้าโผเข้ามากอดพิมมาดา “น้าพิม...น้ากริสน์เค้าคงจมน้ำไปก้นทะเลแล้ว” แจ๊สร้องไห้ “หรือไม่ลูกพี่ก็คงถูกปลาฉลามกินไปแล้ว” จีจ้าก็ร้องไห้ “น้ากริสน์ไม่มีวันกลับมาหาพวกเราอีกแล้ว” โจ๊กน้ำตาไหลพราก พิมมาดานิ่งงันแล้วเริ่มตระหนักความจริงจึงเสียใจจนร้องไห้หนัก อธิป เดช ผู้ใหญ่ชวด เจ๊ช้าง และชาวบ้านทุกคนยืนมองทั้งสี่คนอยู่บนสะพาน “คนพวกนั้นคงรักมันมากนะครับ เหมือนไอ้กรดมันเป็นพ่อ แล้วก็ตายจากเมียกับลูกไปกะทันหันยังไงอย่างนั้น” เดชพูดกับอธิป อธิปเริ่มรู้สึกแย่ เดชพูดต่อ “ยิ่งดูก็ยิ่งสลดใจ อย่างกับดูช่วงวงเวียนชีวิต” อธิปรีบตัดบท “หุบปากเดี๋ยวนี้ไอ้เดช!”
กำลังโหลดความคิดเห็น