ช่วงนี้การจะถ่ายภาพวัตถุท้องฟ้าที่มีความสว่างน้อยๆ นั้นเป็นเรื่องยากมากเลยครับ เนื่องจากปัญหาหมอกควันทำให้ไม่สามารถออกไปเก็บภาพวัตถุท้องฟ้าได้ วันนี้ผมก็จะขออนุญาตเอาภาพเก่าๆ ที่ช่างภาพหลายๆ ท่านที่ผมรู้จัก นำมาเล่าให้ฟังแล้วกันนะครับ ในช่วงวันข้างขึ้นประมาณ 1 - 3 ค่ำ หรือ ช่วงข้างแรมประมาณ 12- 14 ค่ำ หากวันไหนท้องฟ้าปลอดโปร่งปราศจากเมฆหรือหมอกควัน (อันนี้คงต้องอยู่ห่างไกลจากตัวเมืองพอสมควร) เราจะมีโอกาสได้เห็นดวงจันทร์เป็นเสี้ยวสว่างได้อย่างชัดเจน แต่สิ่งที่น่าสนใจกว่านั้น หรือเราอาจไม่ได้สังเกตก็คือ เราจะเห็นแสงจางๆ จากด้านมืดของดวงจันทร์ แสงนี้ไม่ใช่แสงจากดวงอาทิตย์โดยตรง แต่เป็นแสงของดวงอาทิตย์ที่สะท้อนผิวโลกไปยังดวงจันทร์และสะท้อนกลับมายังผู้สังเกตบนโลกอีกทีหนึ่ง
ถ้าเราสังเกตดวงจันทร์ในข้างขึ้นและข้างแรมในคืนวันดังกล่าว เราจะเห็นดวงจันทร์เป็นทรงกลมมีแสงอยู่ 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 เป็นแสงจากดวงอาทิตย์โดยตรง เราจะมองเห็นดวงจันทร์ปรากฏเป็นเสี้ยวบางๆ แบบขึ้น 1 - 3 ค่ำ หรือ แรม 12 - 14 ค่ำ (แสงจากดวงอาทิตย์) ส่วนที่ 2 ที่ด้านมืดของดวงจันทร์ (ไม่ได้รับแสงของดวงอาทิตย์โดยตรงแต่จะได้รับแสงสะท้อนจากผิวโลกซึ่งที่ผิวโลกจะได้รับแสงจากดวงอาทิตย์โดยตรง) ดังนั้นเรามองดวงจันทร์ด้านที่เป็นกลางคืน มนุษย์บนโลกจะสังเกตเห็นแสงจางๆ จากด้านมืดของดวงจันทร์ แสงนี้ก็คือ แสงโลกนั่นเอง หรือที่เราอาจคุ้นหูกันว่า “ปรากฏการณ์แสงโลก (Earth Shine)” ครับ
มาทำความเข้าใจกันก่อนครับ
อุปกรณ์
สำหรับอุปกรณ์นั้นไม่มีอะไรมากครับก่อนอื่นต้องมาดูกันว่าก่อนจะไปการถ่ายภาพปรากฏการณ์แสงโลก (Earth Shine) ให้สวยงามเราจำเป็นต้องเตรียมอะไรบ้าง มาดูกันครับ
1. กล้องถ่ายภาพ : จะเป็นกล้องดิจิตอลแบบคอมแพ็คหรือแบบ D-SLR แบบเปลี่ยนเลนส์ได้ ก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับงบประมาณแล้วหล่ะครับ แต่หากเป็นแบบคอมแพ็ค หรือกล้องแบบเซมิ-โปร ที่ถอดเปลี่ยนเลนส์ไม่ได้ก็ควรเลือกแบบที่สามารถซูมภาพได้มากๆ ที่เรามักเรียกกันว่า แบบซุปเปอร์ซูมครับ เช่น 35X - 42X หรือมากกว่านั้น (ซึ่งเครื่องหมาย X ก็คือกำลังขยายเป็นกี่เท่านั่นเองครับ) ซึ่งปัจจุบันก็มีราคาไม่แพงมาก แถมยังได้ภาพที่มีคุณภาพดีมีความคมชัดเรียกได้ว่าอยู่ในระดับที่ดีเลยทีเดียว
แต่หากลงทุนกับอุปกรณ์กันสักหน่อย เช่น กล้อง D-SLR แบบเปลี่ยนเลนส์ได้ ก็อาจเลือกเลือกเลนส์ที่มีทางยาวโฟกัสมากๆ เช่น เลนส์ตั้งแต่ 300 mm. ขึ้นไปก็น่าจะได้ภาพที่มีขนาดใหญ่เห็นรายละเอียดได้ชัดเจนมากขึ้น
2. เลนส์ : เลนส์หลักควรเป็นเลนส์เทเลโฟโต้ หรือเลนส์ที่มีทางยาวโฟกัสไม่น้อยกว่า 200 mm. ยิ่งมีค่าทางยาวโฟกัสมากเท่าไหร่ก็จะยิ่งได้ภาพดวงจันทร์ที่มีขนาดใหญ่ มีรายละเอียดและความคมชัดมากขึ้นเท่านั้น หรืออาจมีอุปกรณ์เสริมเช่น เลนส์เทเลคอนเวอเตอร์ (Teleconverter) หรือท่อต่อเลนส์ (Barlow Lens) ก็จะสามารถเพิ่มทางยาวโฟกัสของเลนส์ที่ใช้ในการถ่ายภาพได้อีกวิธีหนึ่งและช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการซื้อเลนส์ซุปเปอร์เทเลโฟโต้
3. ขาตั้งกล้อง : เนื่องจากเป็นช่วงดวงจันทร์ข้างขึ้น 1 - 3 ค่ำ หรือ ช่วงข้างแรม 12- 14 ค่ำ ซึ่งดวงจันทร์เป็นเสี้ยวบางที่มีแสงสว่างไม่มากนัก ขาตั้งกล้องก็เป็นอุปกรณ์ที่สำคัญจำเป็นอย่างยิ่งที่ขาดไม่ได้ เพื่อให้ภาพชัดและคุณภาพของภาพดีที่สุด จะใช้ใหญ่หรือเล็กขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่และกำลังในการแบก หากถ่ายในที่ที่มีลมพัดโกรกอยู่ตลอดต้องให้แน่ใจว่าขาตั้งที่ใช้จะนิ่งพอ
4. สายลั่นชัตเตอร์ : เป็นอีกอุปกรณ์หนึ่งที่จำเป็นใช้ในการถ่ายภาพและเพื่อไม่ให้ภาพสั่นไหวช่วยลดแรงสั่นสะเทือนต่อตัวกล้อง เราจึงต้องใช้สายลั่นชัตเตอร์แทนการกดปุ่มชัตเตอร์ที่ตัวกล้องโดยตรง หรือหากไม่มีสายลั่นชัตเตอร์ก็อาจเลือกใช้โหมดการถ่ายภาพแบบหน่วงเวลาก็ได้ ที่กล้องทุกตัวมีอยู่แล้วครับ
เทคนิคและวิธีการ
1. ควรศึกษาตรวจสอบช่วงเวลาข้างขึ้น - ข้างแรม ของดวงจันทร์จากปฏิทินหรือ จากโปรแกรมทางดาราศาสตร์ เช่น Stellarium (ดาวน์โหลดได้ที่ http://www.stellarium.org) โดยส่วนตัวผมมักจะถ่ายในช่วง ข้างขึ้น 1 - 3 ค่ำ มากกว่าช่วงข้างแรม เพราะเสี้ยวของดวงจันทร์ยังไม่สว่างมากทำให้เวลาถ่ายภาพเพื่อให้เห็นรายละเอียดของส่วนมืดของดวงจันทร์ เสี้ยวสว่างก็ยังไม่สว่างโอเวอร์มากนัก และดวงจันทร์ในช่วงข้างขึ้นจะอยู่ทางทิศตะวันในช่วงหัวค่ำ และไม่ต้องตื่นมาถ่ายในช่วงใกล้สว่างอีกด้วย
2. เลือกใช้เลนส์เทเลโฟโต้ ที่มีทางยาวโฟกัสตั้งแต่ 200 mm. ขึ้นไป เพื่อให้ๆได้ภาพดวงจันทร์ที่มีขนาดใหญ่พอที่จะเห็นรายละเอียดพื้นผิวและหลุมของดวงจันทร์ได้อย่างชัดเจน โดยปกติแล้วดวงจันทร์ขณะเต็มดวงจะมีขนาดเชิงมุมบนท้องฟ้าเพียง 0.5 องศา หรือหากเหยียดแขนให้สุดแล้วใช้นิ้วก้อยเทียบกับดวงจันทร์ ดวงจันทร์จะมีขนาดครึ่งหนึ่งของนิ้วก้อยเท่านั้นครับ เพราะฉะนั้นหากเป็นไปได้ก็ควรเลือกใช้เลนส์ที่มีทางยาวโฟกัสมากๆ ก็จะได้เปรียบกว่าทั้งคุณภาพและขนาดของดวงจันทร์ด้วยครับ
3. เลือกใช้ระบบวัดแสงเฉพาะจุด (Spot metering) เพราะระบบนี้จะเลือกคำนวณเฉพาะพื้นที่ส่วนที่เป็นเป้าหมายเท่านั้นและจะไม่อ่านค่าแสงจากบริเวณอื่นๆ ซึ่งจะใช้พื้นที่ประมาณ 2-3 % กลางช่องมองภาพในการวัดแสงทำให้ได้แสงที่พอดี โดยให้วัดแสงตรงบริเวณเสี้ยวสว่างของดวงจันทร์
4. ควรเลือกค่าความไวแสง (ISO) ตั้งแต่ 400-1600 การเลือกใช้ก็ขึ้นอยู่กับความสว่างของดวงจันทร์ในขณะนั้นด้วย โดยบริเวณขอบฟ้าจะมีมวลอากาศอยู่หนาแน่นมักทำให้สีของดวงจันทร์มีสีออกเหลืองและความสว่างของดวงจันทร์ลดลงเล็กน้อย (คำแนะนำของผมอาจดูว่าทำไมต้องใช้ค่าความไวแสงสูงๆ ทั้งนี้ก็เพื่อให้กล้องสามารถเก็บแสงของดวงจันทร์ในส่วนมืดให้เร็วที่สุด เพื่อป้องกันการเคลื่อนที่ของดวงจันทร์เองครับ เพราะไม่เช่นนั้นแล้วภาพดวงจันทร์อาจจะเบลอได้ง่ายๆครับ แต่หากถ่ายผ่านกล้องโทรทรรศน์ที่มีมอเตอร์ตามดาวได้ก็ตัดปัญหานี้ไปได้เลย และสามารถใช้ความไวแสงต่ำได้ด้วยครับ)
5. เวลาในการเปิดหน้ากล้องหรือความเร็วชัตเตอร์ ซึ่งในการถ่ายภาพดวงจันทร์เต็มดวง โดยทั่วไปเรามักตั้งค่าความเร็วชัตเตอร์ให้สัมพันธ์กับทางยาวโฟกัสของเลนส์ที่ใช้ (เช่น หากเราใช้เลนส์ที่มีทางยาวโฟกัส 600 mm ควรใช้ความเร็วชัตเตอร์ไม่ต่ำกว่า 1/600s ***รายละเอียดอ่านได้ในคอลัมน์การถ่ายภาพดวงจันทร์ให้คมชัด***) แต่ในการถ่ายภาพ Earth Shine นั้นมีวิธีการที่ง่ายกว่า คือ หลังจากที่วัดแสงที่เสี้ยวสว่างของดวงจันทร์ให้พอดีแล้ว ก็สามารถถ่ายภาพได้เลย ซึ่งหากภาพที่ถ่ายออกมามืดเกินไปก็ให้ปรับค่าความเร็วชัตเตอร์ให้ช้าลง จนได้ภาพที่เห็นรายละเอียดของดวงจันทร์ในส่วนมืด
ตรงนี้อาจลองผิด ลองถูกครับ เพราะว่าสภาพแสงที่เราถ่ายไม่เหมือนกัน ซึ่งมาจากหลายปัจจัยครับ ทั้งทัศนวิสัยของท้องฟ้า ช่วงที่สังเกตเห็นเสี้ยวสว่างของดวงจันทร์ก็ดีครับ ดังนั้นเราอาจต้องลองถ่ายดูภาพก่อนแล้วปรับค่าการเปิดหน้ากล้องชดเชยตาม โดยเราอาจต้องปรับชดเชยทั้งค่าความไวแสงและความเร็วชัตเตอร์ ทั้งคู่ด้วยครับ
6. การเลือกขนาดรูรับแสง โดยปกติเรามักเลือกใช้ค่าประมาณ f/8 ขึ้นไป แต่ในบางครั้งหากสภาพทัศนวิสัยของท้องฟ้าไม่ดีมากนัก เราก็อาจเลือกใช้ค่ารูรับแสงที่กว้างขึ้นได้ เพื่อให้กล้องมีความไวแสงในการบันทึกภาพได้เร็วขึ้น
7. ตั้งค่าคุณภาพการบันทึกภาพ หากกล้องของเราสามารถตั้งไฟล์ภาพแบบ Raw File ได้ ควรตั้งเป็นแบบ Raw File เพื่อสามารถนำภาพมาปรับเปลี่ยนอุณภูมิสีหรือความสว่างให้ตรงตามต้องการได้ในภายหลัง
จากเทคนิคและวิธีการที่แนะนำข้างต้นเป็นเพียงวิธีการง่ายๆ วิธีการหนึ่งซึ่งจริงๆ แล้วในการถ่ายภาพนั้นล้วนมีเทคนิคละวิธีการที่แตกต่างกันไป ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับประสบการณ์และอุปกรณ์ที่ใช้ในการบันทึกภาพ โดยบางคนอาจใช้กล้องโทรทรรศน์ในการถ่ายภาพก็อาจจะมีวิธีการที่แตกต่างกันบ้าง ซึ่งผมจะขอยกไปอธิบายในคอลัมน์ต่อต่อไปครับ
และข่าวดีของผู้รักการถ่ายภาพแนวนี้ครับ ในช่วงปลายเดือนนี้ในวันที่ 25 -26 มีนาคมนี้ ก็จะมีปรากฏการณ์ดาวเคียงเดือน ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าว ดวงจันทร์อยู่ในช่วงข้างขึ้น 3-4 ค่ำ โดยดวงจันทร์จะเคลื่อนที่เข้าใกล้กับดาวศุกร์และดาวพฤหัสบดี ดังภาพด้านล่าง (สามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ http://www.narit.or.th) หากท้องฟ้าปลอดโปร่งก็จะเป็นโอกาสที่ดี ที่เราจะออกไปถ่ายภาพ Earth Shine ในช่วงปรากฏการณ์ดาวเคียงเดือนเป็นที่ระลึกและฝึกประสบการณ์ในการถ่ายภาพทางดาราศาสตร์อีกด้วยครับ
*********************
เกี่ยวกับผู้เขียน
ศุภฤกษ์ คฤหานนท์
สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
ปัจจุบันเป็นเจ้าหน้าที่สารสนเทศทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร. , เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร. ในหัวข้อ "มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย"
"คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย"
อ่านบทความ ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน