xs
xsm
sm
md
lg

เทคนิคการถ่ายภาพดวงจันทร์เต็มดวงให้คมชัด

เผยแพร่:   โดย: ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

ตัวอย่างภาพถ่ายดวงจันทร์โดยใช้เลนส์ซูม หรือเลนส์เทเลโฟโต้ ครอบภาพเพื่อให้เห็นรายละเอียดได้ชัดเจน (ภาพโดย : ศุภฤกษ์  คฤหานนท์ : Canon EOS 500D / F8 / 1/400 วินาที / ISO 200)
ในการถ่ายภาพนั้น ช่วงเวลาที่มักถูกมองข้ามก็คงจะเป็นเวลาในตอนกลางคืน เพราะการถ่ายภาพโดยทั่วไปต้องอาศัยแสงสว่างในการถ่ายภาพ และอาจจะมีบางคนที่ใช้เวลาช่วงก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นและหลังดวงอาทิตย์ตกบันทึกภาพ ซึ่งมีเวลาอย่างมากสุดก็ประมาณแค่ครึ่งชั่วโมงเท่านั้น แต่จะมีสักกี่คนที่บอกว่าใช้เวลากว่า 10 ชั่วโมงหลังดวงอาทิตย์ตกสร้างสรรค์ภาพถ่าย

และวันนี้ผมจะขอมาจุดประกายให้กับผู้ที่หลงไหลการถ่ายภาพ ให้หันมาลองใช้เวลาหลังดวงอาทิตย์ตกไปแล้วสร้างสรรค์ภาพถ่ายอันน่าตื่นเต้น ใช้แล้วครับวันนี้เราจะกล่าวถึงเทคนิคการถ่ายภาพดวงจันทร์ ซึ่งเป็นวัตถุท้องฟ้าที่เราสามารถสังเกตเห็นได้ง่ายที่สุดในตอนกลางคืน โดยผู้ที่เริ่มถ่ายภาพกลางคืน หากลองค้นหาในอินเทอร์เน็ตจะพบว่ามีรูปแบบในการถ่ายภาพต่างๆ มากมายให้ทดลองปฏิบัติ หรืออาจจะเก็บเอาเทคนิคที่ผมจะกล่าวต่อไปนี้ไปปรับปรุงใช้กับบางสถานการณ์ที่พบก็ได้นะครับ

การถ่ายภาพในเวลากลางคืนจะเป็นการ “สร้างภาพ” ซึ่งเกิดจากการคิดจินตนาการถึงภาพที่ต้องการก่อน ดังนั้นก่อนที่เราจะถ่ายภาพจึงต้องคิดถึงสิ่งที่ต้องการให้ปรากฎบนจอและหาวิธีที่จะทำให้เป็นตามนั้น สำหรับผู้ที่เริ่มต้นใหม่ๆ อาจจะเกิดคำถามมากมายเช่น ต้องเปิดหน้ากล้องนานเท่าไหร่ ต้องใช้ขนาดรูรับแสงค่าอะไร แล้วต้องใช้ค่าความไวแสงมากมั้ย และภาพที่ได้จะเป็นอย่างไร ซึ่งผมก็มีหลักการและเทคนิคง่ายๆในการถ่ายภาพดวงจันทร์ในคืนเต็มดวงมาฝากกัน

อุปกรณ์ที่จำเป็นในการถ่ายภาพ

ก่อนอื่นต้องมาดูกันว่าจะไปถ่ายภาพดวงจันทร์เต็มดวงให้คมชัด เราจำเป็นต้องเตรียมอะไรบ้าง มาดูกันครับ

- กล้องถ่ายภาพ : ควรชาร์จแบตเตอรี่ให้เต็ม และหากเป็นไปได้ควรเลือกใช้กล้องดิจิตอล SLR ชนิดเซ็นเซอร์แบบ APS-C เพราะเราจะได้ตัวคูณทางยาวโฟกัสของเลนส์เพิ่มขึ้นอีก เช่น กล้องของแคนนอน ก็ให้เอา 1.6 คูณกับค่าทางยาวโฟกัสของเลนส์ ส่วนนิคอน ก็เอา 1.5 คูณ ซึ่งค่านี้ก็มาจากขนาดของเซ็นเชอร์รับภาพนั้นเอง ยิ่งมีขนาดเว็นเชอร์เล็กก็จะมีค่าตัวคูณมากขึ้นตามไปด้วย ตัวอย่างเช่น ใช้เลนส์ขนาดทางยาวโฟกัส 300 mm. กับกล้องแคนนอน ก็จะได้เลนส์ที่มีขนาดทางยาวโฟกัสถึง 480 mm. เลยทีเดียว

- เลนส์ : เลนส์หลักควรเป็นเลนส์เทเลโฟโต้ หรือเลนส์ที่มีทางยาวโฟกัสไม่น้อยกว่า 200 mm. ยิ่งมีค่าทางยาวโฟกัสมากเท่าไหร่ก็จะยิ่งได้ภาพดวงจันทร์ที่มีขนาดใหญ่มากเท่านั้น หรืออาจมีอุปกรณ์เสริมเช่น เลนส์เทเลคอนเวอเตอร์หรือท่อต่อเลนส์ (Barlow Lens) ก็จะสามารถเพิ่มทางยาวโฟกัสของเลนส์ที่ใช้ในการถ่ายภาพได้อีกวิธีหนึ่งและช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการซื้อเลนส์ซุปเปอร์เทเลโฟโต้

- เมโมรี่การ์ด : ในการถ่ายภาพดวงจันทร์เต็มดวงต้องถ่ายภาพหลายๆภาพเพื่อนำภาพหลายๆ ภาพมารวมกัน(รายละเอียดจะกล่าวต่อในหัวข้อเทคนิคและวิธีการครับ) ซึ่งอาจจะเปลืองเมโมรี่การ์ด

- ขาตั้งกล้อง : จำเป็นมากขาดไม่ได้ จะใช้ใหญ่หรือเล็กขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่และกำลังในการแบก หากถ่ายในที่ที่มีลมพัดโกรกอยู่ตลอดต้องให้แน่ใจว่าขาตั้งที่ใช้จะนิ่งพอ

- สายลั่นชัตเตอร์ : เป็นอีกอุปกรณ์หนึ่งที่จำเป็นใช้ในการถ่ายภาพและเพื่อใช้ในการถ่ายภาพแบบต่อเนื่องและไม่ให้เกิดแรงสั่นสะเทือนต่อตัวกล้อง เราจึงต้องใช้สายลั่นชัตเตอร์แทนการกดปุ่มชัตเตอร์ที่ตัวกล้องโดยตรง

- ไฟฉาย : บ่อยครั้งที่จำเป็นต้องใช้ไฟฉายในการเซ็ทอุปกรณ์
ภาพอุปกรณ์ที่ใช้ในการถ่ายภาพดวงจันทร์ โดยใช้เลนส์ทางยาวโฟกัส 300mm.  ต่อกับ teleconverter 2x  ติดตั้งบนขาตั้งกล้องที่มั่นคง
เทคนิคและวิธีการ

ในวันที่ดวงจันทร์เต็มดวงเราสามารถบันทึกภาพดวงจันทร์ได้อย่างไม่ยากเย็นนัก โดยในการถ่ายภาพดวงจันทร์นั้น นักถ่ายภาพส่วนใหญ่มักจะเข้าใจว่าจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ เช่น เลนส์ซุปเปอร์เทเลโฟโต้ที่มีราคาแพงๆ แต่แท้จริงแล้วเรายังมีวิธีที่ประหยัดกว่านั้น และวิธีที่จะกล่าวถึงก็คือ การถ่ายภาพแบบต่อเนื่องจำนวนหลายๆภาพแล้วนำภาพมา stack image เอาหล่ะครับก่อนที่จะกล่าวถึงวิธีการ stack image เรามาพูดถึงวิธีการถ่ายภาพกันก่อน

ดวงจันทร์เป็นวัตถุท้องฟ้าที่สังเกตได้ง่ายที่สุด และมีแสงสว่างมากพอที่ทำให้สามารถถ่ายภาพได้ไม่ยากนัก โดยส่วนใหญ่แล้วเรามักนิยมถ่ายภาพดวงจันทร์ในช่วงขึ้น 8 – 15 ค่ำ ซึ่งเป็นช่วงเวลาหัวค่ำที่ไม่ดึกมาก และควรดูตำแหน่งของดวงจันทร์ว่าอยู่สูงจากขอบฟ้าโดยประมาณ 40 องศา เนื่องจากที่บริเวณขอบฟ้าจะมีมวลอากาศค่อนข้างหนามาก ซึ่งสังเกตง่ายๆ เวลาเราเห็นดวงจันทร์บริเวณขอบฟ้าดวงจันทร์จะมีสีเหลืองๆ และมวลอากาศนี้เองจะทำให้ภาพดวงจันทร์ของเราไม่ชัดเจน เปรียบเทียบง่ายๆก็เหมือนเราใส่แว่นตาแล้วมาฝ้ามาเกาะแว่นเราทำให้มองเห็ไม่ชัด การถ่ายภาพก็เช่นกันครับ ดังนั้นเราจึงต้องถ่ายภาพดวงจันทร์ที่มีมวลอากาศรบกวนน้อยที่สุด เอาหล่ะครับต่อไปมาดูเทคนิคและวิธีการง่ายๆดังนี้ครับ

1. เลือกใช้เลนส์เทเลโฟโต้ ที่มีทางยาวโฟกัสตั้งแต่ 200 mm. ขึ้นไปเพื่อให้ๆได้ภาพดวงจันทร์ที่มีขนาดใหญ่พอที่จะเห็นรายละเอียดพื้นผิวและหลุมของดวงจันทร์ได้อย่างชัดเจน โดยปกติแล้วดวงจันทร์ขณะเต็มดวงจะมีขนาดปรากฏบนท้องฟ้าเพียง 0.5 องศา หรือหากเหยียดแขนให้สุดแล้วใช้นิ้วก้อยเทียบกับดวงจันทร์ ดวงจันทร์จะมีขนาดครึ่งหนึ่งของนิ้วก้อยเท่านั้นครับ

2. เลือกใช้ระบบวัดแสงเฉพาะจุด (Spot metering) เพราะระบบนี้จะเลือกคำนวณเฉพาะพื้นที่ส่วนที่เป็นเป้าหมายเท่านั้นและจะไม่อ่านค่าแสงจากบริเวณอื่นๆ ซึ่งจะใช้พื้นที่ประมาณ 2-3 % กลางช่องมองภาพในการวัดแสงทำให้ได้แสงที่พอดี

3. ควรเลือกค่าความไวแสง (ISO) ตั้งแต่ 100-200 โดยการเลือกใช้ก็ขึ้นอยู่กับความสว่างของดวงจันทร์ในขณะนั้นด้วย โดยบริเวณขอบฟ้าจะมีมวลอากาศอยู่หนาแน่นมักทำให้สีของดวงจันทร์มีสีออกเหลืองและความสว่างของดวงจันทร์ลดลงเล็กน้อย

4. เวลาในการเปิดหน้ากล้องหรือความเร็วชัตเตอร์ ต้องสัมพันธ์กับทางยาวโฟกัสของเลนส์ที่ใช้ เช่น หากเราใช้เลนส์ที่มีทางยาวโฟกัส 600 mm ควรใช้ความเร็วชัตเตอร์ไม่ต่ำกว่า 1/600s ซึ่งหากภาพที่ถ่ายออกมามืดเกินไปก็ให้ปรับค่าความไวแสง (ISO) เพิ่มขึ้นจนได้แสงที่พอดี ซึ่งปกติแล้วแสงของดวงจันทร์จะสว่างมากอาจทำให้ภาพสว่างโอเวอร์จนไม่เห็นรายละเอียด เรามักต้องปรับกล้องให้ถ่ายภาพติดค่าอันเดอร์ประมาณ 2-3 สต็อป หรืออาจมากกว่านั้นขึ้นอยู่กับความสว่างของดวงจันทร์ก็จะได้ภาพที่เห็นรายละเอียดของพื้นผิวและหลุมบนดวงจันทร์ได้ชัดเจนมากขึ้น

5. ควรเลือกขนาดรูรับแสงโดยประมาณ f/8 ขึ้นไป เพื่อให้ได้ความชัดลึกตลอดทั้งภาพและเห็นรายละเอียดของหลุมบนดวงจันทร์

6. ใช้สายลั่นชัตเตอร์ในการถ่ายภาพและตั้งบนขาตั้งกล้องที่มั่นคงเพื่อลดการสั่นไหวของตัวกล้อง จากนั้นเลือกใช้โหมดการถ่ายภาพแบบต่อเนื่อง โดยถ่ายภาพต่อเนื่องจำนวนหลายๆภาพอาจเป็น 50 – 100 ภาพก็ได้ครับ ซึ่งภาพแต่ละภาพจะมีความคมชัดในแต่ละบริเวณภาพที่แตกต่างกันไปเนื่องจากผลของมวลอากาศที่เคลื่อนที่ผ่านหน้ากล้องเราและอยู่ในชั้นบรรยากาศครับ เมื่อเราได้ภาพจำนวนมากแล้ว เราก็จะนำภาพทั้งหมดมารวมกันเป็นภาพเดียวที่มีความคมชัดมากที่สุด

7. ในการถ่ายภาพดวงจันทร์ในปัจจุบันเพื่อให้ได้ภาพที่มีรายละเอียดครบถ้วน และให้ได้ภาพที่คมชัดนั้น เราจะถ่ายภาพดวงจันทร์ให้ได้จำนวนภาพมากๆ แล้วนำภาพทั้งหมดมารวมกันโดยใช้โปรแกรม Registax (สามารถดาวน์โหลดโปรแกรมได้ที่ http://www.astronomie.be/registax/) โดยโปรแกรมจะเลือกเอาส่วนที่มีความคมชัดของแต่ละภาพมารวมกันให้เป็นภาพที่มีความคมชัดทั่วทั้งภาพ หรืออาจใช้โปรแกรม Photoshop CS4 เพื่อรวมภาพก็ได้โดยมีวิธีการดังนี้

- ใช้คำสั่ง edit->auto align layers เพื่อให้ทุกเลเยอร์วางซ้อนตรงกัน
- จากนั้นใช้คำสั่ง edit->auto blend layers เลือก stack image
- ทำให้แต่ละเลเยอร์ ซ่อน/แสดง ส่วนที่ ไม่ต้องการ/ต้องการ ด้วย layer mask
ทำให้เห็ดชัดหมดทุกส่วนนั่นเองครับ

วิธีการนั้นมองดูแล้วอาจคล้ายกับการสร้างภาพ พาโนรามา โดยการเอาหลายเลเยอร์ที่ถ่ายมาต่อกัน ซ้ายไปขวาให้มีส่วนเหลื่อมกันเล็กน้อยแต่วิธีการ Stacking image คือถ่ายภาพเดียวซ้ำๆ แล้วเอามาซ้อนให้พอดี แล้วเลือกเอาส่วนที่ดีที่สุดของแต่ละเลเยอร์แสดงออกมาแสดงนั่นเองครับ

8. การบันทึกข้อมูลควรเลือกรูปแบบไฟล์เป็น RAW format เพื่อที่จะสามารถนำมาปรับแก้ได้ภายหลัง
 ภาพดวงจันทร์ถ่ายโดยใชเลนส์เทเลโฟโต้ ขนาดทางยาวโฟกัส 300 มม. (ภาพโดย : ศุภฤกษ์  คฤหานนท์ : Canon EOS 500D / F8 / 1/400 วินาที / ISO 200)
ภาพดวงจันทร์ภาพเดียว
กับภาพดวงจันทร์ที่ถ่ายหลายๆ ภาพแล้วนำมาทำ Stacking image
กับภาพดวงจันทร์ที่ถ่ายหลายๆภาพแล้วนำมาทำ Stacking image
ในการถ่ายภาพดวงจันทร์เต็มดวงนั้นเราจะสามารถสังเกตเห็นดวงจันทร์ได้ตั้งแต่ช่วงหัวค่ำทางทิศตะวันออกจนถึงรุ่งเช้าทางทิศตะวันตก โดยลักษณะการเคลื่อนที่ของดวงจันทร์นั้นจะเคลื่อนที่อยู่ตามเส้นทางเดียวกันกับดวงอาทิตย์ที่เราสังเกตเห็นในตอนกลางวัน ดังนั้นเราสามารถวางแผนการถ่ายภาพดวงจันทร์ได้ตั้งแต่ในช่วงเวลากลางวันเลยทีเดียว ซึ่งก็มากพอสำหรับการหาตำแหน่งหรือสถานที่สำหรับการถ่ายภาพ
ภาพดวงจันทร์ขณะกำลังขึ้นทางทิศตะวันออก จะเห็นว่าหูกระต่ายตั้งขึ้นและดวงจันทร์มีสีโทนเหลืองเนื่องจากดวงจันทร์อยู่บริเวณขอบฟ้ามีบรรยากาศหนาแน่น ซึ่งภาพนี้ถ่ายโดยใช้เลนส์ทางยาวโฟกัส 300mm. แล้วนำภาพมาครอบตัดสัดส่วน (ภาพโดย กรกมล ศรีบุญเรือง)
ก่อนที่เราจะออกไปถ่ายภาพดวงจันทร์เต็มดวงนั้นเราควรทำความเข้าใจกันก่อน หลายท่านคงเคยสังเกตผิวดวงจันทร์ว่ามีลักษณะคล้ายกระต่ายอยู่บนดวงจันทร์ในคืนวันดวงจันทร์เต็มดวง หรือว่าวันขึ้น 15 ค่ำ โดยในช่วงหัวค่ำทางทิศตะวันออกเราจะเห็นหูกระต่ายตั้งขึ้น ส่วนในช่วงรุ่งเช้าทางทิศตะวันตกเราจะเห็นหูกระต่ายคว่ำลง ฉะนั้นหากเราต้องการภาพดวงจันทร์มีลักษณะเช่นไร เราก็จะสามารถคาดการณ์และวางแผนไว้ก่อนล่วงหน้าได้และทำให้ได้ภาพตามที่เราคิดไว้

ท้ายนี้ผมหวังว่าหลายท่านที่ได้อ่านบทความนี้คงคันไม้คันมือจับกล้องออกมาทดลองถ่ายภาพดวงจันทร์ซึ่งเป็นบริวารดวงเดียวของโลกกันนะครับ

*********************

เกี่ยวกับผู้เขียน



ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

ปัจจุบันเป็นเจ้าหน้าที่สารสนเทศทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร. , เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร. ในหัวข้อ "มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย"

"คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย"

อ่านบทความ ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน
กำลังโหลดความคิดเห็น