xs
xsm
sm
md
lg

การถ่ายภาพปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง (Total Lunar Eclipse)

เผยแพร่:   โดย: ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

ปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง วันที่ 16 มิถุนายน 2554 (ภาพโดย : ศุภฤกษ์  คฤหานนท์ : Canon EOS 5D Mark2 / F7 / 3.2 วินาที /  ISO 1600)
ในปี พ.ศ.2554 นี้คนไทยมีโอกาสเห็นปรากฏการณ์จันทรุปราคาถึง 2 ครั้ง โดยครั้งแรกในวันที่ 16 มิถุนายน 2554 ที่ผ่านมา และครั้งที่ 2 ในวันที่ 10 ธันวาคม 2554 หรือจำง่ายๆก็คือวันรัฐธรรมนูญนั่นเอง ทั้งสองปรากฏการณ์เป็นปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงทั้งสองครั้ง หากท่านได้ที่พลาดโอกาสในปีนี้คงต้องรออีก 3 ปี ประเทศไทยถึงจะเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มอีกครั้งใน วันที่ 8 ตุลาคม 2557

โดยช่วงเวลาเวลารวมในการเกิดจันทรุปราคาแต่ละครั้งนั้นนานกว่า 3 ชั่วโมง และดวงจันทร์จะอยู่ในเงามืดนานกว่า 1 ชั่วโมงโดยประมาณ ดังนั้นในปีนี้ก็เป็นโอกาสที่ดีที่เราจะได้เก็บภาพปรากฏการณ์ที่น่าตื่นเต้นอีกปรากฏการณ์หนึ่งซึ่งหาชมได้ยากไว้เป็นที่ระลึก แต่จะมีวิธีการถ่ายภาพอย่างไรมาทำความเข้าใจกับปรากฏการณ์กันก่อนครับ

มาทำความเข้าใจกับปรากฏการณ์กันก่อน
แผนภาพแสดงการเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง
ปรากฏการณ์จันทรุปราคาเกิดขึ้นเมื่อดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์ ได้โคจรมาอยู่ในแนวเดียวกันโดยมีโลกอยู่ตรงกลาง เกิดขึ้นเฉพาะในวันดวงจันทร์เต็มดวง หรือ ช่วงข้างขึ้น 14-15 ค่ำ โดยปรากฏการณ์จันทรุปราคาเกิดขึ้นขณะที่ดวงจันทร์โคจรผ่านเข้าไปในเงาของโลกและเมื่อดวงจันทร์โคจรผ่านเข้าไปในเงามืดของโลกแล้วดวงจันทร์จะค่อยๆ แหว่งไปทีละน้อยจนมืดทั้งดวง และเริ่มโผล่อีกครั้งเมื่อดวงจันทร์เคลื่อนที่ผ่านพ้นออกมาจากเงาของโลก เงาของโลกมีทั้งส่วนที่เรียกว่าเงามืด (umbra) และเงามัว (penumbra) เมื่อดวงจันทร์ถูกเงามืดของโลกบดบังทั้งดวง เราเรียกปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นว่า “จันทรุปราคาเต็มดวง” (total lunar eclipse) ภาพที่มองเห็นดวงจันทร์ในขณะนั้นอาจจะเป็นดวงจันทร์ที่มืดมากๆ หรือมีสีแดงอิฐ ทั้งนี้เนื่องจากสภาพของชั้นบรรยากาศโลก โดยแสงอาทิตย์เมื่อเคลื่อนที่ผ่านชั้นบรรยากาศโลกจะเกิดการกระเจิงของแสงเนื่องจากอนุภาคและฝุ่นอวกาศในชั้นบรรยากาศโลก โดยมีแสงสีแดงหรือส้มสามารถผ่านชั้นบรรยากาศโลกจะไปตกกระทบพื้นผิวดวงจันทร์ ทำให้เราเห็นดวงจันทร์มีสีแดงอิฐ
ภาพปรากฏการณ์จันทรุปราคาเหนือเมืองเชียงใหม่ ขณะดวงจันทร์อยู่บริเวณทิศตะวันตกเฉียงใต้ สูงจากเส้นขอบฟ้าประมาณ 30 องศา (ภาพโดย : สิทธิพร  เดือนตะคุ : Canon EOS 5D Mark2 / F4 / 5 วินาที /  ISO 1600)
ในการถ่ายภาพปรากฏการณ์จันทรุปราคาในวันที่ 16 มิถุนายน 2554 นอกจากจะสามารถเก็บภาพปรากฏการณ์จันทรุปราคาได้แล้ว ยังสามารถเก็บภาพปรากฏการณ์ดวงจันทร์บังดาวฤกษ์ได้อีกด้วย ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นขณะที่ดวงจันทร์เคลื่อนที่เข้าไปในเงาของโลกเกือบเต็มดวง ขณะที่ดวงจันทร์กำลังเคลื่อนที่ผ่านกลุ่มดาวคนแบกงูนั้น ดวงจันทร์ก็เคลื่อนที่ไปบังดาวฤกษ์ ที่ชื่อว่า ดาวออพพูเชียส (C Ophiuchi : C Oph) ด้วยเช่นกัน ปรากฏการณ์ครั้งนี้นับว่าเป็นปรากฏการณ์ที่มีความพิเศษมากเนื่องจากในวันดังกล่าวจะเกิดปรากฏการณ์ที่น่าสนใจทางดาราศาสตร์ถึง 2 ปรากฏการณ์ ในเวลาเดียวกันซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่หาชมได้ยากมาก
ภาพเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาบังดาวฤกษ์ ขณะเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง (ภาพโดย : ศุภฤกษ์  คฤหานนท์ : Canon EOS 5D Mark2 / F7 / 4 วินาที /  ISO 1000)
ภาพทางช้างเผือกทางช้างเผือกในคืนวันเพ็ญ ที่บันทึกภาพได้ขณะเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง (ภาพโดย : สิทธิพร  เดือนตะคุ : Canon EOS 5D Mark2 / F4 / 15 วินาที /  ISO 1600)
การเตรียมตัวถ่ายภาพปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง
ในการถ่ายภาพปรากฏการณ์จันทรุปราคาสามารถทำได้ง่ายและปลอดภัยกว่าการถ่ายภาพปรากฏการณ์สุริยุปราคามาก เนื่องจากแสงจากดวงจันทร์ไม่เป็นอันตรายต่อตาเราจึงสามารถดูดวงจันทร์ได้ด้วยตาเปล่าและไม่จำเป็นต้องมีฟิลเตอร์ไว้กรองแสงแต่อย่างใด ถึงแม้จะเป็นช่วงที่ดวงจันทร์เต็มดวงก็ตาม ในการถ่ายปรากฏการณ์จันทรุปราคานั้นถ้าจะเปรียบเทียบก็น่าจะคล้ายกับการถ่ายภาพดวงจันทร์เต็มดวง จะแตกต่างกันก็ในเรื่องของค่าการเปิดรับแสงที่นานกว่าการถ่ายภาพดวงจันทร์เต็มดวงที่สว่าง เนื่องจากดวงจันทร์ในขณะนั้นจะมีความสว่างลดลงและสังเกตเห็นดวงจันทร์เป็นสีแดงอิฐ

การถ่ายภาพปรากฏการณ์จันทรุปราคานั้น เราควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับเวลา สถานที่ ตำแหน่งการเกิดปรากฏการณ์เสียก่อนเพราะการเตรียมตัวที่ดีจะทำให้เราสามารถประสบความสำเร็จในการบันทึกภาพเหตุการณ์สำคัญ ซึ่งในบางครั้งเราอาจจะไม่มีโอกาสแก้ตัวใหม่ได้ โดยข้อมูลเกี่ยวกับปรากฏการณ์นั้นท่านสามารถตรวจสอบได้ที่เว็บไซต์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (www.narit.or.th) หรือเว็บไซต์ของนาซา (http://eclipse.gsfc.nasa.gov/lunar.html)

ตารางเวลาเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาในประเทศไทย วันที่ 16 มิถุนายน 2554

ภาพอุปกรณ์ที่ใช้ในการถ่ายภาพปรากฏการณ์จันทรุปราคา ซึ่งติดตั้งกล้องบนขาตั้งกล้องแบบตามดาวได้
อุปกรณ์ที่จำเป็นในการถ่ายภาพ
- กล้องถ่ายภาพ : ควรเป็นกล้องที่สามารถเพิ่มค่าความไวแสง(ISO) ได้สูงพอสมควร อย่างน้อยก็น่าจะมีค่า ISO 800 เป็นอย่างต่ำ เพราะการถ่ายภาพขณะเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง แสงจากดวงจันทร์ลดลงอย่างมากมาก
- เลนส์ : เลนส์หลักควรเป็นเลนส์เทเลโฟโต้ หรือเลนส์ที่มีทางยาวโฟกัสไม่น้อยกว่า 200 mm. ยิ่งมีค่าทางยาวโฟกัสมากเท่าไหร่ก็จะยิ่งได้ภาพดวงจันทร์ที่มีขนาดใหญ่มากเท่านั้น และได้รายละเอียดของดวงจันทร์ได้คมชัดมากยิ่งขึ้น ซึ่งเราอาจต้องลงทุนกับอุปกรณ์บ้าง แต่หากใครมีกล้องโทรทรรศน์ก็สามารถถ่ายภาพผ่านกล้องโทรทรรศน์ก็จะได้ภาพปรากฏการณ์ที่คมและมีขนาดใหญ่มากขึ้น
- เมโมรี่การ์ด : ในการถ่ายภาพปรากฏการณ์จำเป็นต้องถ่ายลำดับการเกิดปรากฏการณ์ซึ่งทำให้เปลืองเมโมรี่การ์ดพอสมควร โดยลำดับการเกิดปรากฏการณ์สามารถแบ่งออกเป็น 7 ช่วง ด้วยกัน คือ
สัมผัสที่ 1 (First contact) เป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคา ดวงจันทร์เริ่มสัมผัสเงามัวของโลกครั้งแรก และเริ่มเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาบางส่วนเงามัว ซึ่งเป็นช่วงที่สังเกตยากมากที่สุด เพราะแสงสว่างจากดวงจันทร์แทบจะไม่มีการลดลงเลย
สัมผัสที่ 2 (Second Contact) จุดเริ่มต้นของการเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาบางส่วน ดวงจันทร์เริ่มสัมผัสขอบด้านนอกเงามืดของโลกครั้งแรก และเริ่มเกิดจันทรุปราคาบางส่วนเงามืด ในช่วงนี้ดวงจันทร์จะเริ่มแหว่งไปช้าๆ
สัมผัสที่ 3 (Third Contact) จุดเริ่มต้นของปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง ดวงจันทร์จะอยู่ภายในเงามืดของโลกอย่างสมบูรณ์ แสงสว่างจากดวงจันทร์จะลงลดจากเดิมอย่างเห็นได้ชัด
กึ่งกลางอุปราคา (Greatest eclipse) เป็นจุดที่ดวงจันทร์เข้าไปอยู่กึ่งกลางเงามืดของโลก ซึ่งเป็นช่วงที่แสงจากดวงจันทร์ลดลงมากที่สุด
สัมผัสที่ 4 (Fourth Contact) จุดสุดท้ายของปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง เป็นจุดที่ดวงจันทร์จะเริ่มออกจากเงามืดของโลก แสงสว่างของดวงจันทร์เริ่มปรากฏขึ้น และกลายเป็นปรากฏการณ์จันทรุปราคาบางส่วนอีกครั้ง
สัมผัสที่ 5 (Fifth contact) จุดสิ้นสุดของปรากฏการณ์จันทรุปราคาบางส่วน ดวงจันทร์ออกจากเงามืดของโลกทั้งดวง และเริ่มเห็นดวงจันทร์เต็มดวงอีกครั้ง
สัมผัสที่ 6 (Sixth contact) จุดสุดท้ายของปรากฏการณ์จันทรุปราคาบางส่วนเงามัว เป็นจุดที่ดวงจันทร์จะผ่านพ้นเงามัวของโลกหมดทั้งดวงอย่างสมบูรณ์ และดวงจันทร์จะสว่างขึ้นดังเดิม
ภาพลำดับการเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง วันที่ 16 มิถุนายน 2554
- ขาตั้งกล้อง : จำเป็นมากเนื่องจากแสงจากดวงจันทร์ลดลงมาก ทำให้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำมาก ควรเลือกใช้ขาตั้งกล้องที่มั่นคงแข็งแรงเพื่อให้แน่ใจว่าขาตั้งที่ใช้จะนิ่งพอ หรือถ้าเป็นไปได้ควรใช้ขาตั้งกล้องแบบตามดาวได้
- สายลั่นชัตเตอร์ : เป็นอีกอุปกรณ์หนึ่งที่จำเป็นใช้ในการถ่ายภาพเพราะเราต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำ จึงไม่สามารถถือกล้องด้วยมือเปล่าได้ และเพื่อไม่ให้เกิดแรงสั่นสะเทือนต่อตัวกล้อง เราจึงต้องใช้สายลั่นชัตเตอร์แทนการกดปุ่มชัตเตอร์ที่ตัวกล้องโดยตรง หรือถ้าหากไม่มีสายลั่นชัตเตอร์ ก็อาจใช้วิธีถ่ายภาพแบบหน่วงเวลา ข้อเสียของการใช้วิธีนี้คือควบคุม จังหวะการบันทึกภาพค่อนข้างลำบาก
- ไฟฉาย : บ่อยครั้งที่จำเป็นต้องใช้ไฟฉายในการเซ็ทอุปกรณ์
ภาพเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาบังดาวฤกษ์ ขณะดวงจันทร์จะเริ่มออกจากเงามืดของโลก แสงสว่างของดวงจันทร์เริ่มปรากฏขึ้น และกลายเป็นปรากฏการณ์จันทรุปราคาบางส่วนอีกครั้ง(ภาพโดย : ศุภฤกษ์  คฤหานนท์ : Canon EOS 5D Mark2 / F7 / 4 วินาที /  ISO 1000)
เทคนิคและวิธีการ
ในเรื่องของเทคนิคและวิธีการในการถ่ายภาพปรากฏการณ์นั้น ก็เป็นเรื่องที่เราต้องทราบเพื่อจะได้วางแผนในการถ่ายภาพให้ประสบความสำเร็จเพราะปรากฏการณ์จันทรุปราคาแบบเต็มดวงไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆครับ เอาหล่ะมาดูกันว่าเราจะมีวิธีการในการถ่ายภาพกันอย่างไรบ้าง

1. เลือกใช้เลนส์เทเลโฟโต้ ที่มีทางยาวโฟกัสตั้งแต่ 200 mm. ขึ้นไปเพื่อให้ๆได้ภาพดวงจันทร์ที่มีขนาดใหญ่พอที่จะเห็นรายละเอียดพื้นผิวดวงจันทร์ได้อย่างชัดเจน โดยปกติแล้วดวงจันทร์ขณะเต็มดวงจะมีขนาดปรากฏบนท้องฟ้าเพียง 0.5 องศาเท่านั้น หรือหากเหยียดแขนให้สุดแล้วใช้นิ้วก้อยเทียบกับดวงจันทร์ ดวงจันทร์จะมีขนาดครึ่งหนึ่งของนิ้วก้อยเท่านั้นครับ

2. เลือกใช้ระบบวัดแสงเฉพาะจุด (Spot metering) เพราะระบบนี้จะเลือกคำนวณเฉพาะพื้นที่ส่วนที่เป็นเป้าหมายเท่านั้นและจะไม่อ่านค่าแสงจากบริเวณอื่นๆ ซึ่งจะใช้พื้นที่ประมาณ 2-3 % กลางช่องมองภาพในการวัดแสงทำให้ได้แสงที่พอดี แต่เราจะเป็นต้องปรับชดเชยแสงควบคู่ไปด้วย

3. ควรเลือกค่าความไวแสง (ISO) ตั้งแต่ 800-1600 หรืออาจสูงกว่านี้หากใครใช้กล้องแบบฟลูเฟลมซึ่งมีระบบกำจัดสัญญาญรบกวน (Noise)ได้ดีครับครับ โดยการเลือกใช้ก็ขึ้นอยู่กับความสว่างของดวงจันทร์ในขณะนั้นด้วย ซึ่งขณะดวงจันทร์อยู่กึ่งกลางคลาสแสงจากดวงจันทร์ลดลงมากที่สุด

4. ควรเลือกขนาดรูรับแสงที่กว้างพอสมควรและยังให้ความชัดลึกได้ตลอดทั้งภาพ ที่ผมแนะนำว่าให้ใช้ขนาดรูรับแสงกว้างพอประมาณ ก็เนื่องจากขณะเกิดปรากฏการณ์แสงจากดวงจันทร์ลดลงมากที่สุด ซึ่งทำให้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำลงด้วย

5. เวลาในการเปิดหน้ากล้องหรือความเร็วชัตเตอร์ ตรงนี้สำคัญมากต้องเราจะเป็นต้องทราบก่อนว่าดวงจันทร์มีการเคลื่อนที่โดยประมาณ 1 ชั่วโมง 15 องศา ดังนั้นหากเราใช้เลนส์ที่มีทางยาวโฟกัสสูงๆ เวลาในการถ่ายภาพก็ควรจะสัมพันธ์กับทางยาวโฟกัสของเลนส์ที่ใช้ด้วย แต่เราอาจต้องลองผิดลองถูกกันบ้าง โดยทดลองถ่ายภาพให้ได้แสงที่พอดีก่อนแล้วมาขยายภาพดูว่าดวงจันทร์ยืดหรือไม่ ถ้ายืดหรือเบลอ ก็ต้องเพิ่มความเร็วชัตเตอร์ขึ้นไปอีก หรืออาจต้องเพิ่มค่าความไวแสงตามด้วย

แต่สำหรับใครที่มีกล้องดูดาวแบบตามดาวได้ก็หมดปัญหาเรื่องเวลาในการถ่ายภาพไปครับเพราะกล้องจะเคลื่อนที่ตามดวงจันทร์ทำให้เราใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำได้

6. หากกล้องของเรามีระบบแสดงภาพแบบ Live View ก็จะทำให้สะดวกขึ้นในการปรับค่าต่างของกล้องโดยเราสามารถเปิดระบบแสดงภาพบนจอ LCD จากนั้นทำการปรับค่าความไวแสง ค่ารูรับแสง และความเร็วชัตเตอร์ แล้วดูภาพว่าได้ตามที่ต้องการหรือไม่

7. ใช้ขาตั้งกล้องที่มีความมั่นคงและควรเลือกใช้โหมดการถ่ายภาพแบบต่อเนื่องและถ่ายภาพจำนวนครั้งละหลายๆรูปเพื่อที่จะนำภาพมาเลือกภาพที่ดีที่สุด เพราะขณะเกิดปรากกฏการณ์อาจมีเมฆบดบัง หรือเคลื่อนที่ผ่าน หรือถ้าจะให้ได้ภาพที่ดีที่สุดก็ควรเป็นขาตั้งกล้องแบบตามดาวได้ครับเพราะจะช่วยให้กล้องเคลื่อนที่ตามดาวตลอดและสามารถใช้ค่าความไวแสง และความเร็วชัตเตอร์ต่ำได้ เพราะจะทำให้กล้องเปิดรับแสงได้นาน ภาพก็จะมีความสว่างเห็นรายละเอียดได้ดีกว่าครับ

8. การบันทึกข้อมูลควรเลือกรูปแบบไฟล์เป็น RAW format เพื่อที่จะสามารถนำมาปรับแก้ได้ภายหลัง

9. เลือกการตั้งค่าไวท์บาลาน (WB) แบบออโต้ เนื่องจากขณะเกิดปรากฏการณ์อุณหภูมิแสงของดวงจันทร์จะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด

ตารางเวลาเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาในประเทศไทย วันที่ 10 ธันวาคม 2554

อุปกรณ์ที่ใช้ในการบันทึกภาพปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง วันที่ 16 มิถุนายน 2554 โดยติดตั้งกล้องถ่ายภาพบนกล้องโทรทรรศน์บนขาตั้งกล้องแบบตามดาว
และในวันที่ 10 ธันวาคม 2554 ที่ใกล้เข้ามานี้ก็จะเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงอีกครั้ง โดยเราจะสังเกตเห็นดวงจันทร์เริ่มเข้าสู่เงามืดของโลก ตั้งแต่เวลา 19:46 น. ทางทิศตะวันออก สูงจากเส้นขอบฟ้าประมาณ 25 องศา และจุดเริ่มต้นปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง ดวงจันทร์จะอยู่ภายในเงามืดของโลกอย่างสมบูรณ์ตอนเวลา 21:06 น. และเป็นโชคดีของเราครับเนื่องจากเป็นช่วงหน้าหนาวพอดี ท้องฟ้าโปร่ง ความสนุกและน่าตื่นเต้นของการถ่ายภาพปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง เราต้องเรียนรู้ ทำความข้าใจ ฝึกฝน ลองผิดลองถูก นี่แหละความสนุกของการถ่ายภาพทางดาราศาสตร์

*********************

เกี่ยวกับผู้เขียน



ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

ปัจจุบันเป็นเจ้าหน้าที่สารสนเทศทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร. , เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร. ในหัวข้อ "มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย"

"คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย"

อ่านบทความ ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน
กำลังโหลดความคิดเห็น