xs
xsm
sm
md
lg

เตรียมให้พร้อมชม “ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์” อย่างปลอดภัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เหตุการณ์แห่งศตววรษมาปรากฏควรรับชมอย่างปลอดภัยและมีอุปกรณ์ป้องกันดวงตาจากอันตรายของแสงแดด
100 กว่าปีถึงจะมีมาให้ชมกันสัก 2 ครั้ง สำหรับปรากฏการณ์ “ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์” ที่กำลังจะเกิดขึ้นในเช้าวันที่ 6 มิถุนายนนี้ และหากใครพลาดชมปรากฏการณ์ครั้งนี้ไป คงต้องรอไปอีก 105 ปี ซึ่งไม่แน่ว่าผู้คนที่มีชีวิตอยู่ในช่วงเวลานี้จะมีโอกาสได้ชมปรากฏการณ์ในครั้งนั้นหรือไม่

เพื่อไม่ให้ทีมงานและประชาชนทั่วไปพลาดชมปรากฏการณ์ดาราศาสตร์แห่งศตวรรษในครั้งนี้ ผู้รู้จึงบอกวิธีชมดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์อย่างปลอดภัย โดยสมาคมดาราศาสตร์ไทยได้จัดกิจกรรมบรรยายพิเศษ “เตรียมชมดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์แห่งศตวรรษ 6 มิถุนายน 2555” ณ สมาคมดาราศาสตร์ไทย ชั้น 1 อาคารศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา คลองเตย ให้แก่เยาวชนและประชาชนที่สนใจมาร่วมกิจกรรมกันมากมาย รวมทั้งทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์

นายอารี สวัสดี นายกสมาคมดาราศาสตร์ไทย แนะนำว่า วิธีดูดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์อย่างปลอดภัยนั้น หากดูโดยตรง ต้องดูผ่านแว่นดูดวงอาทิตย์โดยเฉพาะ หรือดูผ่านกล้องโทรทรรศน์ที่ติดแผ่นฟิล์มกรองแสงแล้วเท่านั้น ส่วนอีกวิธีหนึ่ง คือ ดูทางอ้อมผ่านฉากรับภาพจากกล้องโทรทรรศน์ ซึ่งปลอดภัยแน่นอน

“ไม่ควรมองผ่านกระจกรมควัน แผ่นซีดี หรือดีวีดี รวมไปถึงฟิล์มเอกซเรย์ ฟิล์มขาวดำ และแว่นกันแดด เพราะอาจทำให้ตาบอดได้” นายกสมาคมดาราศาสตร์ไทยเตือนถึงอุปกรณ์ที่ห้ามใช้ในการดูดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ เนื่องจากอุปกรณ์ดังกล่าวนั้นไม่สามารถกรองแสงอาทิตย์ได้ทั้งหมด และห้ามมองดูด้วยตาเปล่าหรือมองผ่านกล้องที่ไม่ติดฟิล์มกรองแสงเด็ดขาด เพราะจะทำให้ตาบอดทันที

สำหรับปรากฏการณ์ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 6 มิถุนายนนี้ สามารถสังเกตเห็นได้ในประเทศไทยช่วงเช้า ตั้งแต่พระอาทิตย์โผล่พ้นขอบฟ้าด้านทิศตะวันออก ซึ่งดาวศุกร์เริ่มเคลื่อนผ่านหน้าดวงอาทิตย์ไปแล้วราว 20 นาที เรื่อยไปจนถึงเวลาประมาณ 11.50 น.จึงสิ้นสุดปรากฏการณ์ รวมแล้วเป็นเวลาประมาณ 6 ชั่วโมง โดยเราจะสังเกตเห็นดาวศุกร์เป็นวงกลมสีดำขนาดเล็กค่อยๆ เคลื่อนผ่านหน้าดวงอาทิตย์ ซึ่งในวันนั้นดาวศุกร์จะมีขนาดปรากฏเล็กกว่าดวงอาทิตย์ 33 เท่า

ทั้งนี้ ปรากฏการณ์ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์นั้น เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นคู่ ระยะเวลาเกิดห่างกัน 8 ปี และแต่ละคู่จะเกิดขึ้นห่างกัน 105 และ 120 ปี โดยครั้งล่าสุดนั้นเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2547 หรือเมื่อ 8 ปีที่แล้วนั่นเอง และครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นในวันที่ 11 ธันวาคม 2660 หรือ 105 ปีถัดจากนี้ และวันที่ 8 ธันวาคม 2668 หรืออีก 113 ปีข้างหน้า ซึ่งในอดีตนั้น นักดาราศาสตร์อาศัยปรากฏการณ์นี้ในการคำนวณหาระยะทางระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์
ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2547 ถ่ายโดย ตระกูลจิตร จิตตะไสยะพันธ์ (ภาพจาก สมาคมดาราศาสตร์ไทย)
ภาพจำลองดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ ตามผลการคำนวณเมื่อสังเกตจากกรุงเทพฯ จังหวัดอื่น ๆ ก็เห็นคล้ายกัน เพียงแต่เวลาต่างกันเล็กน้อย (ภาพจาก สมาคมดาราศาสตร์ไทย)
นายอารี สวัสดี นายกสมาคมดาราศาสตร์ไทย
นายอารี (ซ้ายสุด) ให้ความรู้เกี่ยวกับปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ต่างๆให้เยาวชนและประชาชนที่สนใจ
ผู้สนใจร่วมส่องดูดวงอาทิตย์ผ่านกล้องโทรทรรศน์ที่ติดแผ่นฟิล์มกรองแสง เป็นการซ้อมดูดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์อย่างปลอดภัย
ซ้อมดูดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์อย่างปลอดภัย ผ่านกล้องโทรทรรศน์ที่ติดแผ่นฟิล์มกรองแสง
ซ้อมดูดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์อย่างปลอดภัย ผ่านกล้องโทรทรรศน์ที่ติดแผ่นฟิล์มกรองแสง
กำลังโหลดความคิดเห็น