xs
xsm
sm
md
lg

3-6 มี.ค.ชวนชม “ดาวอังคาร” ใกล้โลกและสว่างกว่าปกติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดาวอังคารในตำแหน่ง ตรงข้ามดวงอาทิตย์ ในช่วง ปี 2003 -2018 ซึ่งดาวอังคารเข้าใกล้โลกที่สุดผ่านไปเมื่อปี ค.ศ.2003(ภาพโดย Bob King: astrobob.areavoices.com)
สดร./สมาคมดาราศาสตร์ไทย - 3-6 มี.ค.ชวนชมปรากฏการณ์ดาวอังคารใกล้โลกและอยู่ตรงข้ามดวงอาทิตย์ ทำให้เห็นดาวแดงได้สว่างสดใสและชัดเจนกว่าปกติ

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร.แจ้งว่าในช่วงคืนวันที่ 5 มี.ค. ถึงเช้าวันที่ 6 มี.ค.55 นี้ ดาวอังคารจะมีขนาดใหญ่ส่องประกายสีส้มแดงบนท้องฟ้าและสว่างมากกว่าปกติ เนื่องจากดาวอังคารและโลกจะเข้าใกล้กันมากที่สุดในรอบ 26 เดือน โดยประชาชนทั่วไปที่สนใจสามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า

ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เผยว่า ดาวอังคารจะโคจรมาใกล้โลกทุก ๆ ประมาณ 2 ปี ซึ่งจะเป็นช่วงที่ดาวอังคารจะมีคาบการโคจรเข้ามาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ (opposition) โดยเป็นตำแหน่งที่ดาวอังคาร โลก และดวงอาทิตย์ เรียงอยู่ในเส้นตรงเดียวกันโดยมีโลกอยู่ตรงกลาง และในวันที่ 3 มี.ค.55 ดาวอังคารจะโคจรเข้ามาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ แล้วเข้าใกล้โลกที่สุดในวันที่ 5 มี.ค.55 ที่ระยะห่าง 100 ล้านกิโลเมตร

ปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นผลให้เราสามารถสังเกตเห็นดาวอังคารสว่างมากกว่าปกติ โดยจะสว่างกว่าในช่วงที่สว่างน้อยที่สุดประมาณ 17 เท่า และจะปรากฏบนท้องฟ้าตลอดทั้งคืน ซึ่งในค่ำคืนวันที่ 5 มี.ค.ดาวอังคารจะขึ้นเวลา 18:16 น. ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และตกในเวลา 06:41 น. ของวันที่ 6 มี.ค. ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ปรากฏบนท้องฟ้าใกล้กลุ่มดาวสิงโต

“ปกติแล้วเราจะมองเห็นดาวอังคารส่องประกายสีส้มแดงบนท้องฟ้า เนื่องจากพื้นผิวของดาวอังคารมีองค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นเหล็กออกไซด์ เราจึงมักเรียกฉายาของดาวอังคารว่า “ดาวเคราะห์สีแดง” ครั้งล่าสุดที่ดาวอังคารโคจรมาใกล้โลก เมื่อวันที่ 28 ม.ค.53 และจะเกิดขึ้นในครั้งต่อไปในวันที่ 14 เม.ย.57” ดร.ศรัณย์กล่าว

ทางด้านสมาคมดาราศาสตร์ไทยระบุว่า ช่วงปลายเดือน ก.พ.-ต้น มี.ค.นี้ ดาวอังคารส่องสว่างเป็นสีส้มอมชมพูในท้องฟ้าทิศตะวันออก โดยตอนนี้ดาวอังคารอยู่ในกลุ่มดาวสิงโต ซึ่งในกลุ่มดาวสิงโตมีดาวฤกษ์ที่สว่างที่สุดคือดาวหัวใจสิงห์หรือดาวเรกูลัส (Regulus) โดยดาวอังคารอยู่ห่างจากดาวหัวใจสิงห์ไปทางทิศตะวันออก ขณะขึ้นจากขอบฟ้าทิศตะวันออกดาวอังคารจะอยู่ต่ำกว่าดาวหัวใจสิงห์ แต่เมื่อเช้ามืดดาวอังคารย้ายไปอยู่ทิศตะวันตกแล้วจะอยู่สูงกว่า

การที่เราเห็นดาวอังคารสว่างตลอดทั้งคืนนี้ทางสมาคมดาราศาสตร์ฯ อธิบายว่าเพราะดาวอังคารอยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์หรือทำมุม 180 องศากับดวงอาทิตย์ เมื่อสังเกตจากโลก และยังอยู่ใกล้โลกที่สุดในรอบ 2 ปี ซึ่งปกติดาวอังคารจะมีขนาดเล็กและไม่ค่อยสว่างเมื่อเทียบกับดาวเคราะห์ดวงอื่นๆ ที่เห็นได้ด้วยตาเปล่าอีก 4 ดวง อีกทั้งผิวดาวอังคารยังสะท้อนแสงอาทิตย์ได้ไม่ดี

ช่วงเวลาที่สังเกตดาวอังคารด้วยกล้องโทรทรรศน์ได้ดีที่สุดคือช่วงที่ดาวอังคารอยู่บริเวณจุดตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ แต่เนื่องจากดาวอังคารมีวงโคจรเป็นวงรีทำให้มีช่วงที่ดาวอังคารอยู่ตรงข้ามดวงอาทิตย์แต่อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดและอยู่ตรงข้ามดวงอาทิตย์แต่อยู่ไกลดวงอาทิตย์มากที่สุด

ส่วนเหตุผลที่ปรากฏการณ์ดาวอังคารอยู่ตรงข้ามดวงอาทิตย์เกิดขึ้นไม่พร้อมปรากฏการณ์ดาวอังคารอยู่ใกล้โลกนั้นทางสมาคมอธิบายว่า เพราะวงโคจรของดาวอังคารและโลกไม่เป็นวงกลม แต่การสังเกตดังกล่าวในช่วงเวลานี้อาจไม่เห็นความแตกต่างมากนัก และเมื่อผ่านช่วงนี้ไปแล้วความสว่างของดาวอังคารจะลดลงเรื่อยๆ

พร้อมกันนี้สมาคมดาราศาสตร์ไทยได้จัดกิจกรรมรับปรากฏการณ์ดาวอังคารใกล้โลกในวันที่ 3 มี.ค.55 ณ สมาคมดาราศาสตร์ไทย ชั้น 1 อาคารศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา พร้อมบรรยายพิเศษโดย นายอารี สวัสดี นายมสมาคมดาราศาสตร์ไทยในเรื่อง “ดาวอังคารใกล้โลก” พร้อมตั้งกล้องโทรทรรศน์ดูดาวอังคารและดาวเคราะห์อื่นๆ ตั้งแต่เวลา 16.00 น. สนใจร่วมกิจกรรมสมาคมดาราศาสตร์ไทย โทร. 0-2381-7409
ในวันที่ 5 มี.ค.55ดาวอังคารจะปรากฏบนทท้องฟ้าตลอดทั้งคืน ผู้ที่สนใจการดูดาวและศึกษาดาราศาสตร์จะมีโอกาสในเฝ้าสังเกตการณ์ตั้งแต่หัวค่ำ จนถึงรุ่งสางของวันถัดไป
กำลังโหลดความคิดเห็น