xs
xsm
sm
md
lg

นักดาราศาสตร์ ระบุ คนเมินดูดาวอังคารใกล้โลก เพราะอีก 6 ปี มีใกล้กว่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ฉะเชิงเทรา- นักดาราศาสตร์ท้องถิ่นระบุ คนเมินดูดาวอังคารใกล้โลก คืนนี้ เหตุจากยังมีวงโคจรที่เข้าใกล้โลกมากกว่าอีก เผยจะเข้าถึงระยะประชิดที่ 35.8 ล้านไมล์ ในรอบ 6 ปีข้างหน้า พร้อมกับยังจะมีปรากฏการณ์ที่น่าสนใจมากกว่า ในช่วงกลางปีที่จะถึงนี้ คือ ดาวศุกร์บังโลก ที่นานครั้งจึงจะเกิดขึ้นในวงรอบอีกร้อยกว่าปีข้างหน้า หากพลาดโอกาสจากคราวนี้ไป

วันนี้ (5 มี.ค.) นายวรวิทย์ ตันวุฒิบัณฑิตนักดาราศาสตร์ภูมิปัญญาท้องถิ่น ชาว จ.ฉะเชิงเทรา กล่าวที่หอดูดาวบัณฑิต ต.บางบ่อ อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา ว่า จากปรากฏการณ์ดาวอังคารใกล้โลกที่จะเกิดขึ้นในค่ำคืนวันนี้ ไม่ได้รับความสนใจจากผู้คนทั่วไป รวมถึงนักดาราศาสตร์อีกจำนวนมาก ที่จะเฝ้าคอยติดตามชมปรากฏการณ์ ว่า เนื่องจากปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้ยังไม่ใช่ปรากฏการณ์ของดาวอังคารใกล้โลกมากที่สุดที่จะเกิดขึ้นในไม่ช้านี้ เนื่องจากในอีก 6 ปีข้างหน้านั้น หรือช่วงประมาณปลายเดือน ก.ค.ปี พ.ศ.2561 (ค.ศ.2018) นั้นจะมีปรากฏการณ์ดาวอังคารใกล้โลกอีกหนึ่งรอบซึ่งคราวนี้จะโคจรเข้ามาใกล้เฉียดโลกมากว่า ที่ระยะ 35.8 ล้านไมล์หรือประมาณ 57 ล้าน กม.

โดยที่ครั้งนี้เข้ามาใกล้โลกแค่เพียงในระยะ 101 ล้าน กม.เท่านั้น จึงทำให้ระดับความน่าสนใจลดลงประกอบกับปกติดาวอังคารจะโคจรเข้ามาใกล้โลกอยู่เป็นประจำในทุกวงรอบ 26 เดือน หรือประมาณ 2 ปีอยู่แล้ว แต่มีระยะที่แตกต่างกันไป และหากยังมีประชาชนผู้สนใจที่จะเฝ้าคอยติดตามชมปรากฏการณ์ที่จะเกิดขึ้นในครั้งนี้ด้วยตนเองนั้น สามารถเฝ้าติดตามสังเกตการณ์ได้ด้วยตาเปล่า ในเวลาประมาณ 21.00 น.ของคืนนี้

โดยให้หันหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือเล็กน้อย ก็จะสังเกตเห็นดาวอังคารที่มีสีแดงส้มอย่างโดดเด่น สุกประกายด้วยแสงที่คงที่ ไม่มีการกะพริบ เนื่องจากเป็นดาวเคราะห์ซึ่งผู้สนใจสามารถเฝ้าสังเกตการณ์ หรือมองเห็นได้ไปโดยตลอดทั้งคืน


ส่วนปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่น่าสนใจในปีนี้นั้น ในช่วงเดือน มิ.ย.55 หรือกลางปีนี้นั้นจะมีปรากฏการณ์ ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ หรือดาวศุกร์บังโลก แต่เนื่องจากดาวศุกร์มีขนาดที่เล็กกว่าโลกมาก และอยู่ในระยะที่ไกลเกินกว่าเงาแสงจะบังถึง จึงทำให้ไม่สามารถบดบังแสงจากดวงอาทิตย์ที่จะส่องมายังโลกได้ และจะไม่ส่งผลกระทบอะไรต่อชาวโลก

ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้ นานๆ จึงจะเกิดขึ้น หรือหากพลาดโอกาสจากในครั้งนี้ไปมนุษย์โลกก็จะต้องเฝ้ารอไปอีกประมาณกว่า 100 ปีข้างหน้า จึงจะเกิดขึ้นอีกครั้ง


กำลังโหลดความคิดเห็น