ผ่านไปแล้วสำหรับปรากกฏการณ์ดาราศาสตร์แห่งศตวรรษ “ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์” ซึ่งนับต่อไปจากนี้อีก 105 ปี จึงจะเกิดปรากฏการณ์มาให้ชมกันอีกครั้ง ซึ่งหลายคนอาจมีโอกาสได้ร่วมสังเกตปรากฏการณ์ และบางคนอาจจะพลาดเหตุการณ์นี้ไป อย่างไรก็ดี ภาพจากเหตุการณ์วันที่ 6 มิ.ย.55 นี้ กลายเป็นอีกประวัติศาสตร์ของวงการดาราศาสตร์
หลายหน่วยงานจัดกิจกรรมรับปรากฏการณ์ “ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์” (Transit of Venus) ในวันที่ 6 มิ.ย.55 ซึ่งผู้สังเกตในเมืองไทยมีโอกาสได้ชมปรากฏการณ์ครั้งนี้ได้ตั้งแต่หลังพระอาทิตย์ขึ้นไปจนถึงเวลา 11.49 น.โดยพลาดโอกาสชมจังหวะในสัมผัสแรกที่ดาวศุกร์สัมผัสดวงอาทิตย์ และสัมผัสที่สองเมื่อดาวศุกร์ทั้งดวงเข้าสัมผัสขอบดวงอาทิตย์ด้านใน ขณะเดียวกัน ก็มีรายงานว่า หลายพื้นที่มีเมฆหนาบดบังปรากฏการณ์เป็นช่วงๆ
สำหรับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ได้เดินทางไปสังเกตปรากฏการณ์ พร้อมสมาคมดาราศาสตร์ไทย ณ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า เขาชะโงก จ.นครนายก พร้อมทั้งเฝ้ารับเสด็จฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรปรากฏการณ์ในครั้งนี้ด้วย โดยช่วงครึ่งปรากฏการณ์แรกสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย และมีเมฆหนาบดบัง จนไม่สามารถสังเกตปรากฏการณ์ได้ แต่ในช่วงครึ่งหลังของปรากฏการณ์ท้องฟ้าแจ่มใสจนสามารถสังเกตปรากฏการณ์ในช่วงสัมผัสสุดท้ายได้
ทางด้านสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร.ซึ่งตั้งจุดสังเกตปรากฏการณ์หลายจุดในประเทศ ได้แจ้งข่าวว่า จุดสังเกตปรากฏการณ์ที่สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส กรุงเทพฯ นั้น มีเมฆบดบังเป็นส่วนใหญ่ แต่ยังสามารถบันทึกภาพช่วงต้นและท้ายปรากฏการณ์ได้ ส่วนจุดสังเกตที่บริเวณลานกิจกรรมหน้าอุทยานหลวงราชพฤกษ์ จ.เชียงใหม่นั้น มีสภาพอากาศค่อนข้างแจ่มใส แม้จะมีเมฆบดบังในช่วงต้นๆ ของปรากฏการณ์ ขณะเดียวกัน เครือข่ายกว่า 50 แห่งทั่วประเทศ ก็รายงานสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง
ส่วน นายวรวิทย์ ตัณวุฒิบัณฑิต ปราชญ์ดาราศาสตร์จาก จ.ฉะเชิงเทรา ได้ร่วมจัดกิจกรรมให้แก่โรงเรียนในพื้นที่ซึ่งขาดแคลนกล้องโทรทรรศน์ โดยเขาบอกแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ว่า สภาพอากาศไม่ค่อยเอื้ออำนวยนัก เนื่องจากมีเมฆบดบังเป็นส่วนมาก ซึ่งต่างจากวันก่อนเกิดปรากฏการณ์ 1 วันที่มีสภาพอากาศค่อนข้างแจ่มใส พร้อมกันนี้ เขาให้ความเห็นว่า การสังเกตปรากฏการณ์ด้วยตาเปล่าผ่านแว่นกรองแสงอาทิตย์นั้น ค่อนข้างสังเกตจุดสีดำของดาวศุกร์ได้ยาก แต่จะเห็นชัดขึ้นหากสังเกตผ่านกล้องโทรทรรศน์ที่ติดฟิล์มกรองแสง ซึ่งการจัดกิจกรรมก็ได้รับความสนใจจากเยาวชนเป็นอย่างดี
ขณะที่ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งร่วมมือกับศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์ (LESA) จัดกิจกรรม ณ บริเวณสนามหญ้าหน้าหอประชุมใหญ่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งปรากฏว่า มีเมฆหนาบดบังการสังเกตปรากฏการณ์มากเช่นกัน โดยฟ้าปิดจนกระทั่งเวลา 08.30 น.จึงเริ่มมีฟ้าเปิดสลับกับมีเมฆมากไปจนจบปรากฏการณ์
สำหรับปรากฏการณ์ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์นี้ เป็นปรากฏการณ์ที่ภาพปรากฏของดาวศุกร์เคลื่อนผ่านเป็นจุดสีดำหน้าดวงอาทิตย์ ซึ่งเป็นเหตุการณ์คล้ายปรากฏการณ์สุริยุปราคา แต่เนื่องจากดาวศุกร์อยู่ไกลจากโลกมาก จึงเห็นภาพปรากฏเป็นเพียงจุดสีดำเล็กๆ โดยจะเกิดขึ้นเมื่อ โลก ดาวศุกร์ และดวงอาทิตย์ เคลื่อนมาอยู่ในแนวเดียวกัน
ทั้งนี้ ในรอบ 243 ปี จะเกิดปรากฏการณ์ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ขึ้นเพียง 4 ครั้ง โดยมีรอบการเกิดปรากฏการณ์เป็นคู่ แต่ละคู่จะห่างกัน 121.5 (+/- 8) ปี (และแต่ละครั้งใน 1 คู่นั้นจะเกิดห่างกัน 8 ปี) หากครั้งแรกของคู่แรกเกิดห่างจากครั้งแรกของคู่หลัง 129.5 ปี ครั้งแรกของคู่หลังจากห่างจากครั้งแรกของรอบถัดไป 113.5 ปี
ตัวอย่าง เช่น เหตุการณ์ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ครั้งแรกของคู่วันที่ 6 มิ.ย.55 นี้ คือ เมื่อวันที่ 8 มิ.ย.47 ซึ่งเกิดห่างจากครั้งแรกของคู่ก่อนหน้าในปี 9 ธ.ค.2417 เป็นเวลา 129.5 ปี และห่างจากครั้งแรกของคู่ถัดไปซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 11 ธ.ค.2660 เป็นเวลา 113.5 ปี ส่วนอีกครั้งถัดไปหลังจากนั้นจะเกิดขึ้นในวันที่ 8 ธ.ค.2668
ทั้งนี้ ในอดีตนักดาราศาสตร์เคยใช้ปรากฏการณ์นี้หาระยะทางระหว่างโลกและดวงอาทิตย์ ซึ่งนับเป็น 1 หน่วยดาราศาสตร์ (Astronomical Unit) ที่ใช้วัดระยะของวัตถุต่างๆ ในจักรวาล และยังช่วยให้เราทราบถึงความกว้างใหญ่ของระบบสุริยะ โดยใช้หน่วยวัดนี้เป็นตัวเปรียบเทียบด้วย