ด้วยจุดเด่นในการดึงเอาพฤติกรรมตามธรรมชาติของ “มดแดง” มาออกแบบการทดลอง ทำให้โครงการวิทยาศาสตร์ของนักเรียนมัธยมศีรสะเกษในการศึกษาผลกระทบของแหล่งอาหารมดต่อปริมาณและคุณภาพ “ไข่มดแดง” สามารถคว้ารางวัลจากเวทีอินเตอร์ Intel ISEF ที่มีนักเรียนจากทั่วโลกกว่า 1,600 คนนำผลงานเข้าแข่งขัน
หลังจากได้รับคัดเลือกเข้าแข่งขันในการประกวดผลงานวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ระดับนานาชาติของอินเทล (Intel International Science and Engineering Fair) หรืออินเทลไอเซฟ (Intel ISEF) โครงงานวิทยาศาสตร์ในการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างอาหารต่อปริมาณและคุณภาพของไข่มดแดงที่ กิตติ์ธเนศ ธนะรุ่งโรจน์ทวี ทำการศึกษาเดี่ยว ตั้งแต่เป็นนักเรียน ม.ปลาย โรงเรียนกันทรารมณ์ จ.ศีรสะเกษ สามารถคว้ารางวัลอันดับ 2 แกรนด์ อะวอร์ด ของการแข่งขันที่จัดขึ้นเมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ณ เมืองพิตส์เบิร์ก มลรัฐเพนซิลเวเนีย สหรัฐฯ
กิตติ์ธเนศ เล่าว่า เลือกทำโครงงานดังกล่าว เพราะ “ไข่มดแดง” เป็นอาหารท้องถิ่นของชาวอีสาน และส่วนตัวแล้วเขาก็ชอบกินไข่มดแดงด้วย แต่ใช้ว่าจะหาอาหารถิ่นเช่นนี้มารับประทานได้ทั้งปี เพราะเป็นอาหารที่มีเฉพาะฤดูกาล ระหว่างเดือน ม.ค.-เม.ย.เท่านั้น อีกทั้งยังมีราคาแพงมากถึงกิโลกรัมละ 300 บาท จึงเกิดความคิดว่าหากให้อาหารมดแล้วจะทำให้มดมีไข่ในปริมาณเยอะขึ้นหรือไม่
ก่อนจะเริ่มโครงงานวิทยาศาสตร์กิตติ์ธเนศต้องทำความเข้าใจพฤติกรรมของมด ซึ่งเขาได้ถ่ายทอดให้ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ฟังว่า มดแบ่งออกเป็น 4 วรรณะ คือ ราชินีมด มดงาน มดวรรณะสืบพันธุ์เพศเมีย และมดวรรณะสืบพันธุ์เพศผู้ โดยเมื่อเริ่มสร้างรังนั้นมดราชินีที่เติบโตมาจากมดวรรณะสืบพันธุ์เพศเมียจะผสมพันธุ์และรับน้ำเชื้อครั้งเดียวจากมดวรรณะสืบพันธุ์เพศผู้เพื่อออกไข่ตลอดชีวิต (ส่วนมดวรรณะสืบพันธุ์เพศผู้จะตายไป)
เมื่อมดราชินีหาตำแหน่งสร้างรังที่เหมาะสมแล้วกินปีกของตัวเองเป็นอาหาร จากนั้นจะเริ่มออกไข่ชุดแรกซึ่งมีจำนวนไม่มาก 30-40 ฟอง โดยในช่วง 1-2 ปี ของการสร้างรังนั้นมดราชินีจะออกไข่เป็นมดงาน ก่อนที่จะออกไข่มดวรรณะเพศเมียและเพศผู้ต่อไป แต่ปัญหาคือ กรณีที่มดหาอาหารไม่เพียงพอก็อาจทำให้รังล่มสลายได้ ซึ่งกิตติ์ธเนศคิดว่าโครงงานของเขาจะแก้ปัญหานี้ได้
กิตติ์ธเนศ อยากรู้ว่า หากให้อาหารชนิดต่างๆ แก่มดแล้วจะส่งผลต่อปริมาณหรือคุณภาพไข่มดแดงอย่างไรบ้าง เขาจึงเลือกอาหารที่จะนำมาทดลอง 4 ชนิด คือ ข้าว ปลาทู จิ้งหรีด อาหารผสม แล้วเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมที่ไม่ให้อาหารใดเลย ซึ่งเขาต้องหารังมดแดงที่มีจำนวนประชากรใกล้เคียงกันเพื่อทำการทดลองถึง 15 รัง เพราะอาหารแต่ละชนิดต้องใช้รังมดศึกษาเพื่อหาค่าเฉลี่ยชนิดละ 3 รัง รวมถึงกลุ่มควบคุมที่ไม่ให้อาหารเลยอีก 3 รัง
ในการทดลองต้องแยกด้วยว่าอาหารที่ให้นั้นจะเป็นเลี้ยงมดเพียงรังเดียว จึงต้องหาอาณาเขตของมดแต่ละรัง วิธีการคือจับมดงานมาเจอกัน หากสู้กันแสดงว่าเป็นมดคนละรัง แต่หากเดินไปด้วยกันแสดงว่าเป็นมดจากรังเดียวกัน และยังต้องเลือกรังที่มีจำนวนประชากรใกล้เคียงกัน ซึ่งทำการทดลองโดยนับจำนวนมดที่เดินไปมาระหว่างความสูง 150-200 เมตร จากพื้นดิน หาประชากรมดแต่ละรังใกล้เคียงกัน จำนวนมดที่นับได้ในช่วงเวลาเท่ากันจะไม่แตกต่างกันมากนัก
หลังจากให้อาหารมดในช่วงเวลาหนึ่งแล้วก็นำอาหารเหล่านั้นมาชั่งน้ำหนักเพื่อดูว่ามดขนอาหารไปมากน้อยแค่ไหน ซึ่งจากการทดลองพบว่ามีอาหารเหลือประมาณครึ่งหนึ่ง แสดงว่าอาหารที่ให้นั้นเพียงพอต่อความต้องการของมด และธรรมชาติของมดนั้นจะหาอาหารจากบริเวณที่ใกล้รังมากที่สุด จึงมั่นใจได้ว่ามดจะไม่ไปหาอาหารที่อื่น ขณะเดียวกันต้องทดลองด้วยว่าปริมาณที่หายไปนั้นหายไปจากสภาพแวดล้อมเท่าไหร่ ซึ่งกิตติ์ธเนศได้วางอาหารชนิดเดียวกันที่มีภาชนะปิดไม่ให้มดเข้าควบคู่กันด้วย
ผลจากการทดลองให้อาหารมดทุกสัปดาห์ๆ ละ 500 กรัม จนครบ 8 สัปดาห์ พบว่า มดกินจิ้งหรีดเยอะที่สุดประมาณ 50% ของอาหารที่ให้ และเฉลี่ยแล้วมดกินอาหารแต่ละชนิดประมาณ 36-50% และเมื่อนับปริมาณไข่มดแดงที่ได้ พบว่าอาหารผสมที่มดแดงกินไป 41.91% นั้นให้ปริมาณไข่มากที่สุด แต่เมื่อเทียบมดให้อาหารทุกชนิดกับกลุ่มมดที่ไม่ได้ให้อาหาร พบว่ามดที่ได้อาหารเลี้ยงมีปริมาณไข่มากกว่าถึง 2 เท่า
ด้านคุณค่าทางโภชนาการนั้นปลาทูจะให้ไข่ที่มีโปรตีนมากที่สุด ข้าวให้ไข่ที่มีคาร์โบไฮเดรตสูงสุด ส่วนจิ้งหรีดให้ไข่ที่มีไขมันมากที่สุด และอาหารผสมให้ไข่ที่มีแคลอรีสูงสุด เมื่อคำนวณเป็นรายได้จากการขายไข่มดแดง พบว่า มดที่เลี้ยงด้วยอาหารผสม ให้กำไรมากที่สุดกิโลกรัมละ 150 บาท
“โปรตีนจากไข่มดแดงมีมากกว่านมวัว และชาวจีนยังใช้ไข่มดแดงเป็นยารักษาโรค ใช้เพิ่มปริมาณน้ำนมให้แม่ และหากเลี้ยงมดแดงในสวนผลไม้จะช่วยควบคุมแมลงที่กินผลไม้ได้ด้วย ทำให้เราไม่ต้องใช้สารเคมีในการกำจัดแมลง” กิตติ์ธเนศที่เพิ่งก้าวเป็นน้องใหม่ในคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวถึงประโยชน์ของไข่มดแดงและการเลี้ยงมดแดงในสวนผลไม้
ทั้งนี้ นอกจากอาจารย์ที่ปรึกษาในโรงเรียนแล้วเขายังได้รับการปรึกษาโครงงานเรื่องนี้จาก ดร.เดชา วิวัฒน์วิทยา จากคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องมดด้วย
สำหรับงานประกวดอินเทลไอเซฟครั้งนี้มีนักเรียนกว่า 1,600 คน จาก 59 ประเทศทั่วโลก ส่งผลงานเข้าประกวดใน 18 สาขา อาทิ สัตววิทยา วิศวกรรมศาสตร์:วัสดุและวิศวกรรมชีวภาพ การจัดการสิ่งแวดล้อม เซลล์ และชีวโมเลกุล ฟิสิกส์และดาราศาสตร์ พืชศาสตร์ คณิตศาสตร์ เป็นต้น โดยมีการประกวดไอเซฟอย่างต่อเนื่องทุกปีมาตั้งแต่ปี 2493 โดยสมาคมเพื่อวิทยาศาสตร์และสาธารณะ (Society for Science & the Public: SPP) และกลายเป็นเวทีประกวดระดับนานาชาติในอีก 8 ต่อมา จากนั้นอินเทลได้เข้าเป็นผู้สนับสนุนหลัก
นอกจากนำเสนอผลงานที่มีกรรมการถึง 7 คน เวียนมาซักถามแล้ว กิตติ์ธเนศบอกว่าเขายังเดินดูผลงานของคนอื่นๆ ในสาขาสัตววิทยาที่เขาแข่งขัน ซึ่งมีผลงานที่หลากหลายที่ส่วนใหญ่มาจากยุโรปและสหรัฐฯ ซึ่งบางงานวิจัยซับซ้อนถึงขั้นศึกษาจีโนมหมู ดูแนวโน้มว่าหมูที่มียีนบางมีโอกาสเป็นโรค ซึ่งสามารถเตือนเกษตรกรที่เลี้ยงหมูได้ว่า หมูจะเป็นโรคหรือไม่ ขณะที่ความเรียบง่ายของเขาก็เอาชนะใจกรรมการได้
“กรรมการเขามาบอกกับเราในตอนหลังว่า ชอบที่เรานำเอาพฤติกรรมของมดมาออกแบบการทดลองในรูปแบบง่ายๆ ไม่ต้องใช้แล็บหรืออุปกรณ์วิทยาศาสตร์ยากๆ น่าสนใจและสามารถแก้ปัญหาในพื้นที่ของบ้านเราได้จริงๆ” ว่าที่หมอยาระบุ ทั้งนี้ ชื่อเขาจะถูกนำไปตั้งชื่อให้ดาวเคราะห์น้อยในระบบสุริยะด้วย
คลิปไฮไลต์งาน Intel ISEF