ช่วงนี้ข่าวดาวเคราะห์น้อยเข้าใกล้โลกดึงความสนใจทั้งไทยและเทศ แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านดาราศาสตร์ออกมาชี้แจงว่าไม่ใช่เรื่องชวนตื่นตระหนกขนาดนั้น เพราะโอกาสที่ดาวเคราะห์น้อยจะพุ่งชนโลกมีน้อยมาก พร้อมทั้งชี้ถึงสาเหตุของความตื่นตูมดังกล่าวว่ามาจากการความไม่เข้าใจวิทยาศาสตร์ของคนจำนวนมาก
ตอนนี้มีดาวเคราะห์น้อยที่อยู่ในความสนใจ 2 ดวง คือ ดาวเคราะห์น้อย 2012 ดีเอ14 (2012 DA14) และดาวเคราะห์น้อย 2011 เอจี5 (2011 AG5) โดย “2012 ดีเอ 14” นั้นเป็นหินอวกาศขนาดกว้าง 45 เมตร ซึ่งจะผ่านเข้าใกล้โลกในเดือน ก.พ.ปี 2013 ในระยะ 27,000 กิโลเมตร ซึ่งเป็นระยะที่ใกล้โลกกว่าวงโคจรของดาวเทียมบางดวง ซึ่งเป็นระยะเฉียดใกล้ที่สุดของดาวเคราะห์น้อยขนาดนี้ แต่องค์การบริหาการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ชี้ว่าโอกาสที่ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้จะพุ่งชนโลกในปีหน้าที่จะถึงนี้เป็น “ศูนย์”
ส่วนดาวเคราะห์น้อยอีกดวง “2011 เอจี5” ที่ดึงความสนใจและลงข่าวหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์บางฉบับนั้นก็แทบจะเชื่อมั่นได้เต็มร้อยว่าดาวเคราะห์น้อยขนาดเท่าสนามฟุตบอลนี้จะไม่พุ่งชนโลกในปี 2040 อย่างแน่นอน แต่เหตุใดจึงมีความตื่นกลัวและสิ้นหวังต่อการเข้าใกล้โลกของดาวเคราะห์น้อยเหล่านี้ ซึ่งทางสเปซด็อทคอมได้เสนอความเห็นของ ดอน ยีโอมานส์ (Don Yeomans) หัวหน้าโครงการสังเกตการณ์ดาวเคราะห์น้อยใกล้โลก จากห้องปฏิบัติการจรวดขับเคลื่อนความดัน (Jet Propulsion Laboratory) ของนาซา โดยเขากล่าวโทษว่าตื่นกลัวดังกล่าวมี 2 ปัจจัยสำคัญ
ปัจจัยแรกนั้น ยีโอมานส์ให้ความเห็นผ่านทางไลฟ์สลิตเติลมิสเตอรีส์ (Life's Little Mysteries) เว็บไซต์เครือข่ายของสเปซด็อทคอมว่า เพราะอินเทอร์เน็ตเปิดกว้างให้ใครกล่าวอะไรก็ได้ ขณะที่ในอดีตนั้นการอ้างถึงดาวเคราะห์น้อยจะเขียนรายงานโดยนักวิทยาศาสตร์และส่งเผยแพร่ผ่านวารสารวิชาการที่มีผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบ ซึ่งกระบวนการสำคัญดังกล่าวได้คัดกรองสิ่งไม่สมเหตุสมผลออกไป และหากมีสิ่งใดที่ได้รับการตีพิมพ์หลังกระบวนการดังกล่าวย่อมเป็นที่น่าเชื่อถือ
“แต่ทุกวันนี้มีการเขียนถึงความน่ากลัวเกี่ยวกับดาวเคราะห์น้อยดวงล่าสุดหลายบทความแล้วโพสต์ลงบล็อกและเว็บไซต์ที่ชอบเผยแพร่เรื่องราวหมือนหนังสือแท็บลอยด์ ก่อนที่นักวิทยาศาสตร์นาซาจะได้ตรวจสอบการกล่าวอ้างและเผยแพร่อย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นแถลงการณ์เกี่ยวกับวิถีโคจรของดาวเคราะห์น้อยที่มีความน่ากลัวน้อยกว่า” ยีโอมานส์กล่าว
ส่วนอีกปัจจัยที่เหลือนั้นคือคนจำนวนมากไม่รู้ว่าจะประเมินความสมเหตุสมผลของ “ข้อมูลวิทยาศาสตร์เทียม” (pseudo-scientific information) จากสิ่งที่อ่านได้อย่างไร ซึ่งยีโอมานส์กล่าวว่ามีคนอีกนับเป็นล้านๆ ที่ไม่ได้รับการฝึกให้คิดเป็นวิทยาศาสตร์ และไม่เข้าใจว่า “หลักฐาน” เป็นเรื่องสำคัญในการสนับสนุนความคิดใหม่ๆ อะไรก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเบี่ยงเบนไปมากจากสถานการณ์ปัจจุบัน
“ความคาดหวังคือคนทั่วไปจะยอมรับว่าเราเป็นแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือมากกว่า” ยีโอมานส์กล่าว และยังย้ำถึงโอกาสที่ดาวเคราะห์น้อย 2012 ดีเอ14 จะชนโลกในปีหน้านั้นเป็นศูนย์ และโอกาสพุ่งชนโลกจะสูงขึ้นเล็กน้อยในปี 2020 เมื่อดาวเคราะห์น้อยโคจรเข้ามาใกล้อีกครั้งหนึ่ง โดยมีโอกาส 1 ใน 80,000 หากแต่การสังเกตด้วยเรดาร์และย่านแสงเมื่อหินอวกาศดวงนี้กลับมาอีกครั้งนั้นจะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ประเมินวิธีโคจรของดวาเคราะหืน้อยได้ ซึ่งมีแนวโน้มว่าอาจจะลดการประเมินความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอีก 8 ปีข้างหน้าลงเหลือศูนย์
“ยังมีเรื่องให้ต้องห่วงมากกว่ากรณีเลวร้ายที่สุด หากสังเกตการณ์ในปีหน้าชี้ว่าโลกและดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ชนกันแน่ นาซาก็จะพยายามเบี่ยงเบนมันด้วยการส่งยานอวกาศขึ้นไปชนเพื่อเปลี่ยนวิถีก่อนที่จะจับย้ายตำแหน่ง แต่หากเกิดการผิดพลาดแล้วดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนโลกจริง ก็มีโอกาส 70% ที่ดาวเคราะห์น้อยจะพุ่งชนมหาสมุทร และมีโอกาสสูงที่ส่งผลกระทบเฉพาะต่อมหาสมุทร หรือในบริเวณที่ไม่มีประชากรอาศัยอยู่ และทุกๆ 700 ปีก็มีดาวเคราะห์น้อยขนาดนี้ที่พุ่งชนโลก ซึ่งมนุษย์ก็รอดชีวิตมานับถ้วนจากเหตุการณ์เช่นนี้” ยีโอมานส์กล่าวถึงโอกาสพุ่งชนโลกของ 2012 ดีเอ14
ขณะเดียวกันทางด้านสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ก็ให้ข้อมูลว่าประชาชนไม่ควรตกใจต่อข่าวดาวเคราะห์น้อยเข้าใกล้โลก โดย ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการ สดร.กล่าวว่า กระแสเรื่อง 2012 ทำให้ประชาชนหวั่นวิตกว่าอุกกาบาตจะพุ่งชนโลก ทางสถาบันจึงต้องออกมาให้ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว
สำหรับดาวเคราะห์น้อย 2011 เอจี5 นั้นได้รับความสนใจจากนักดาราศาสตร์ทั่วโลก เพราะวงโคจรของดาวเคราะห์น้อยพาดผ่านเข้ามาในวงโคจรโลก และจากการคำนวณพบว่ามีโอกาสเฉียดใกล้โลกในเดือน ก.พ.อีก 28 ปีข้างหน้า โดยดาวเคราะห์ดวงนี้ถูกค้นพบเมื่อ 8 ม.ค.2011 ด้วยกล้องโทรทรรศน์สะท้อนแสงขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 15 เมตรที่ตั้งอยู่บนยอดเขาเมาท์เลมมอน (Mount Lemmon) แอริโซนา สหรัฐฯ มีขนาด 140 เมตร มวล 4,000 ล้านกิโลกรัม ใช้เวลาโคจรรอบดวงอาทิตย์ 1.71 ปี และมีวงโคจรพาดผ่านจากแถบดาวเคราะห์น้อย ดาวอังคารและวงโคจรของโลก
“ความเป็นไปได้ที่ดาวเคราะห์น้อยดังกล่าวมีสิทธิที่จะพุ่งชนโลกว่ามีเพียง 1 ใน 625 เท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่ปลอดภัยและในเดือนกันยายน พ.ศ.2013 คือปีหน้า ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้จะโคจรมาอยู่ในระยะที่สามารถศึกษารายละเอียดได้อีกครั้งหนึ่ง (มีระยะห่างจากโลก 147 ล้านกิโลเมตร) นักดาราศาสตร์ก็จะทำการเก็บข้อมูลเพื่อวิเคราะห์วงโคจรและความเป็นไปได้ของดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ใหม่” ดร.ศรัณย์กล่าว
ส่วนดาวเคราะห์น้อย 2012 ดีเอ14 ถูกค้นพบโดยหอดูดาวลาซากรา (Lasagra) ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศสเปน ซึ่งดาวเคราะห์น้อยดวงนี้มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 45 เมตร และจะโคจรเฉียดโลกในระยะ 27,000 กิโลเมตร หรือ3.5 เท่าของรัศมีโลก ในวันที่ 15 ก.พ.2013 โดยการโคจรระดับนี้มีค่าใกล้เคียงกับระดับการโคจรของดาวเทียมจำนวนมากอาจจะสร้างความเสียหายต่อดาวเทียมของโลกได้ แต่การเข้าใกล้ก็เป็นแค่การเฉียดโลกเท่านั้น ไม่ได้พุ่งชนโลกแต่อย่างใด
“ดาวเคราะห์น้อยจะเคลื่อนที่พาดผ่านเข้ามาทางตอนเหนือของโลกเวลาประมาณ 02.26 น. ตามเวลาในประเทศไทย และจะอยู่ในเงาของโลกประมาณ 18 นาที การสังเกตดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ด้วยตาเปล่านั้นถือเป็นเรื่องยากมากเพราะดาวเคราะห์ดวงนี้มีความสว่างน้อย ซึ่งถือว่าน้อยมากจะต้องใช้กล้องโทรทรรศน์ในการสังเกตการณ์ปรากฏการณ์ในครั้งนี้” ดร.ศรัณย์ กล่าว
อย่างไรก็ดี ดร.ศรัณย์สรุปว่า ดาวเคราะห์น้อย 2 ดวง นี้จะเฉียดใกล้โลกเท่านั้นและไม่มีอิทธิพลต่อโลกแต่อย่างใด เพราะปัจจุบันเทคโนโลยีก้าวหน้า ซึ่งนักดาราศาสตร์จากทั่วโลกก็ศึกษาวิจัยเรื่องเหล่านี้เพื่อหาแนวทางและวิธีป้องกันไม่ให้สิ่งเหล่านี้พุ่งชนโลกอย่างแน่นอน ตรงกันข้ามเราควรจะศึกษาและรู้เท่าทันเรื่องเหล่านี้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ เพื่อให้มีความตระหนักและตื่นตัวอยู่เสมอ แทนที่จะมีความเชื่อที่ไม่ถูกต้องและเกิดความวิตกกังวลไปต่างๆ นานา
คลิปการทำงานส่วนหนึ่งในโครงการเฝ้าระวังวัตถุใกล้โลก โดยใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศรังสีอินฟราเรดไวส์ (WISE)