หลังจากยานโฟบอส-กรุนต์ ของรัสเซียไปไม่ถึงดาวอังคาร ฝ่าฟันไม่ผ่านวงโคจรโลก จึงทำให้เกิดความสนใจที่รอบโลกด้านนอกว่า มีสิ่งแปลกปลอมหนาแน่นเพียงไร และสิ่งเหล่านั้นถ้าผ่องถ่ายออกมาจากโลก จะทำให้โลกเบาลงเหมือนลดน้ำหนักตัวหรือไม่
สำนักข่าวบีบีซีได้ค้นหาคำตอบ โดย ดร.คริส สมิธ (Dr Chris Smith) และเดวิด อันเซลล์ (David Ansell) นักฟิสิกส์มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (Cambridge University)
นักวิทยาศาสตร์ทั้ง 2 ระบุว่า ไม่ใช่แต่เฉพาะ “ขยะอวกาศ” (space junk) ที่เรานำออกไปทิ้ง จะทำให้โลกเบาขึ้น แต่ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้โลกเรามีมวลทั้งที่ลดลงและยังเพิ่มขึ้นอยู่ตลอดเวลา
ส่วนไหนของโลกที่หายไปสู่อวกาศ
ดร.สมิธก็ได้คำนวณภาพรวมว่า โลกของเราทั้งแผ่นดิน ผืนน้ำทะเล และชั้นบรรยากาศ ต่างสูญเสียมวลทุกขณะ
“แกนโลก” ก็เหมือนกับเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขนาดใหญ่ ที่ค่อยๆ ปล่อยมวลที่อยู่ในรูปแบบพลังงานออกมาตลอดเวลา ซึ่งทำให้มวลของแกนโลกค่อยๆ หายไป แต่ก็เพียงเล็กน้อย เขาคาดการณ์ว่า แกนโลกจะสูญมวลไม่มากไปกว่าปีละ 60 ตัน
แล้วถ้าปล่อยจรวดหรือยานออกไปนอกโลก เหมือนกับยานโฟบอส-กรุนต์ (Phobos-Grunt) ที่มีกำหนดการปล่อยออกไปโคจรสำรวจกันอยู่ปีละหลายๆ ครั้งทั่วโลก จะทำให้มวลหายไปหรือไม่ อย่าลืมว่าส่วนใหญ่แล้ว จรวดหรือยานสำรวจเหล่านั้น ท้ายที่สุดก็กลับเข้าสู่โลกอีกครั้ง จีงไม่นับว่าเป็นมวลที่สูญหาย
ดังนั้นจะต้องมีอะไรบางอย่างที่ทำให้มวลโลกหายไปได้มากกว่าวัตถุที่เราจับต้องได้ ซึ่งพวกก๊าซต่างๆ ที่อยู่ในอากาศ ก็สามารถลอยสูงออกไปจากชั้นบรรยากาศโลกไปได้ โดยเฉพาะก๊าซสุดเบาอย่าง “ไฮโดรเจน”
นักฟิสิกส์เคยแสดงให้ดูว่า โลกเรากำลังสูญเสียก๊าซไฮโดรเจนที่เบามากประมาณ 3 กิโลกรัมในทุกๆ 1 วินาที ถ้านับรวมในรอบปีก็เท่ากับ 95,500 ตัน ส่วนก๊าซเบาอื่นๆ เช่น ฮีเลียม น่าจะหายไปจากโลกประมาณ 1,600 ตันต่อปี
มีลดก็ต้องมีเพิ่ม อนุภาคใหม่ที่โลกแบกรับ
“ฝุ่นอวกาศ” เป็นสิ่งเพิ่มมวลให้โลกในปริมาณมากที่สุด คือในแต่ละปีมีฝุ่นอนุภาคจากอวกาศประมาณ 40,000 ตัน ได้ตกลงสู่ผืนโลก
ฝุ่นอวกาศเหล่านี้นับเป็นร่องรอยของระบบสุริยะ ทั้งดาวเคราะห์น้อยที่สลายตัว หรืออนุภาคมวลสารต่างๆ ที่ไม่สามารถประกอบร่างเป็นดาวเคราะห์ได้ ก็ล้วนกลายเป็นฝุ่นผงล่องลอยอยู่รอบๆ โลกของเรา และผ่านชั้นบรรยากาศโลกเข้ามาได้เวลา
“โลกเราเหมือนเครื่องดูดฝุ่นขนาดใหญ่ ที่มีพลังขับเคลื่อนจากแรงดึงดูดในอวกาศ เพื่อดึงฝุ่นและอนุภาคฝุ่นเข้ามา”
อีกเหตุผลที่ยังไม่ค่อยมีนัยสำคัญมากนัก แต่ก็เป็นสาเหตุให้มวลของโลกเพิ่มขึ้น นั่นคือเพราะ “สภาพการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ” หรือ “โลกร้อน” (Global Warming)
องค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) เคยคำนวณแล้วว่า โลกเรามีพลังงานเพิ่มมากขึ้น อันเนื่องมาจากอุณหภูมิเฉลี่ยสูงขึ้น ซึ่งนักฟิสิกส์ได้คาดการณ์ว่า อุณหภูมิความร้อนที่เพิ่มขึ้นนี้ ส่งผลให้มวลของโลกเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 160 ตัน
สรุปโดยเฉลี่ยในทุกๆ ปีมวลของโลกจะเพิ่มขึ้นประมาณ 40,000 - 41,000 ตัน
ส่วนจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น และตึกรามบ้านช่องที่ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดมากมายในแต่ละปี ไม่ถือเป็นสิ่งที่ทำให้มวลโลกเพิ่มขึ้น เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนสร้างมาจากสสารที่อยู่ในโลก
ปีละ 5 หมื่นตันที่หายไป โลกจะเป็นอะไรหรือไม่
เมื่อบวกลบมวลที่โลกเสียไปกับที่ได้รับเพิ่มเข้ามาแล้วนั้น ดร.สมิธพบว่า ในแต่ละปีโลกจะเบาขึ้น 50,000 ตัน ซึ่งตัวเลขครึ่งแสนนี้จะสร้างความกังวลให้เราหรือไม่
ถ้านึกไม่ออกว่า 50,000 ตันนั้นมากมายแค่ไหน ก็ประมาณได้เท่ากับน้ำหนักเรือสำราญ “คอสตา กอนกอร์เดีย” (Costa Concordia) ของอิตาลี หรือ “ไททานิก 2” ที่มีขนาดใหญ่ไม่แพ้กัน แต่เรือเกิดพลิกนอกชายฝั่งอิตาลีเมื่อช่วงกลางเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งมีทั้งผู้เสียชีวิตและสูญหายหลายสิบราย
แม้มวลขนาดไททานิกหายไปทุกๆ ปี แต่โลกก็คงยังไม่เล็กลงง่ายๆ เพราะมวลของโลกมีประมาณ 5.9722x1021 ตัน (5,972,200,000,000,000,000,000 ตัน) นับได้ว่าในแต่ละปีโลกจะสูญมวลเพียงแค่ 0.000000000000001% เท่านั้น
ดูเหมือนว่าเรื่องมวลที่หายไปไม่น่ากังวลแล้ว แต่ไฮโดรเจนอันเป็นส่วนหนึ่งของน้ำ ที่หายไปปีละ 1 แสนตัน ก็ไม่ทำให้ ดร.สมิธเป็นห่วง เพราะเมื่อคำนวณแล้วจะต้องใช้เวลาอีกนับล้านล้านปี จึงจะทำให้ไฮโดรเจนจากทะเลหมดไป (ส่งผลให้น้ำทะเลแห้งเหือด)
ตอนนี้โลกก็มีอายุประมาณ 5 พันล้านปีเอง กว่าจะถึงตอนนั้นสิ่งมีชีวิตบนโลกอาจเปลี่ยนแปลงวิวัฒนาการไปในแบบอื่นๆ หรือไม่เหลือใครแล้วก็เป็นได้.
มวลโลก | |
เพิ่มขึ้น / ตันต่อปี | สูญเสีย / ตันต่อปี |
ฝุ่นอวกาศ40,000 | ไฮโดรเจน95,000 |
โลกร้อน160 | ฮีเลียม1,600 |
พลังงาน16 |
สรุปแล้วในแต่ละปีโลกเสียมวล 50,000 ตัน
(ข้อมูลทั้งหมดเป็นตัวเลขโดยประมาณ)