นอกจากขยะจะเป็นปัญหาใหญ่บนโลกแล้ว ขยะอวกาศที่ลอยคว้างอยู่รอบโลกก็เป็นอีกปัญหาใหม่ที่ท้าทายมนุษย์ยุคดิจิทัล และเริ่มเป็นภัยคุกคามดาวเทียมที่เรายังใช้งานอยู่ รวมถึงสถานีอวกาศที่มีมนุษย์ขึ้นไปประจำการอยู่ ในขณะที่เรากำลังเผชิญความเสี่ยงนี้นักวิทยาศาสตร์สวิสก็ประกาศแผนการส่งดาวเทียมที่ออกแบบมาเป็นพิเศษเพื่อขึ้นไปกำจัดขยะอวกาศ
ดาวเทียมดังกล่าวคือดาวเทียมคลีนสเปซวัน (CleanSpace One) ซึ่งเอพีระบุว่าจะเป็นต้นแบบของดาวเทียมชุดเดียวกันนี้ที่ถูกสร้างขึ้นโดยศูนย์อวกาศสวิส (Swiss Space Center) ณ สถาบันเทคโนโลยีสหพันธ์สวิส (Swiss Federal Institute for Technology) ในเมืองโลซานน์ สวิตเซอร์แลนด์ และดาวเทียมมูลค่ากว่า 300 ล้านบาทนี้ดวงนี้จะถูกส่งขึ้นไปในอีก 2-3 ปีข้างหน้า โดยภารกิจแรกคือการเก็บกวาดดาวเทียมสวิสที่ถูกส่งขึ้นเมื่อปี 2009 และ 2010 แต่ไม่ได้ใช้งานแล้ว
ทั้งนี้ องค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐ (นาซา) ระบุว่า มีขยะอวกาศกว่า 500,000 ชิ้น ที่เกิดจากชิ้นส่วนจรวดที่ใช้งานแล้ว ดาวเทียมที่เสียหาย รวมถึงเศษวัสดุอื่นๆ โคจรอยู่รอบโลก ขยะอวกาศเหล่านี้โคจรด้วยความเร็ว 28,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งเร็วเพียงพอที่จะทำลายหรือสร้างความเสียหายให้แก่ดาวเทียมหรือยานอวกาศได้ และการชนกันของวัตถุในอวกาศจะทำให้เกิดเศษซากเสียหายลอยล่องอยู่ในอวกาศอีกจำนวนมาก
มีเหตุดาวเทียมชนกันในวงโคจรอย่างน้อยอย่างน้อย 2 ครั้ง คือ เมื่อปี 1996 ซึ่งดาวเทียมของฝรั่งเศสถูกชนเสียหายจากเศษชิ้นส่วนของจรวด และเมื่อปี 2009 ที่ดาวเทียมสื่อสารของสหรัฐฯ ชนเข้ากับดาวเทียมที่ลอยเคว้งคว้างของรัสเซีย ซึ่ง เคลาด์ นิโคไลเออร์ (Claude Nicollier) มนุษย์อวกาศและศาสตราจารย์ประจำสถาบันเทคโนโลยีสหพันธ์สวิสกล่าวว่า เป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องเฝ้าระวังขยะอวกาศเหล่านี้ รวมถึงระวังความเสี่ยงที่เกิดจากการเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วของขยะอวกาศเหล่านี้
นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า การสร้างดาวเทียมดังกล่าวหมายถึงการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่เพื่อรับมือ 3 ความท้าทายใหญ่ ได้แก่ การคำนวณวิถีโคจรที่ดาวเทียมจะต้องปรับเส้นทางของตัวเองเพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายในการเก็บกวาดได้ ซึ่งทางสถาบันกำลังพิจารณามอเตอร์จิ๋วแบบใหม่ที่เข้าถึงความสามารถดังกล่าวได้ อีกความท้าทายคือการพัฒนาให้ดาวเทียมสามารถคว้าและรักษาระดับของขยะอวกาศ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์กำลังศึกษาการคว้าสิ่งต่างๆ ของสัตว์และพืชเพื่อเป็นต้นแบบสำหรับดาวเทียม
ท้ายที่สุดดาวเทียมคลีนสเปซวันจะต้องชี้นำให้ขยะอวกาศและดาวเทียมที่ไม่ใช้งานแล้วให้สามารถกลับสู่ชั้นบรรยากาศโลกได้ ซึ่งจะเป็นจุดที่ทั้งดาวเทียมของสวิสและขยะที่เก็บมาได้จะเผาไหม้เมื่อกลับจากวงโคจร
ทางด้าน วอลเกอร์ กาสส์ (Volker Gass) ผู้อำนวยการศูนย์อวกาศสวิสกล่าวว่า สักวันหนึ่งจะสามารถเสนอและขายชุดดาวเทียมที่มีระบบพร้อมนี้ได้ โดยดาวเทียมจะถูกออกแบบให้มีความยั่งยืนเท่าที่จะเป็นไปได้เพื่อให้สามารถเก็บกวาดดาวเทียมได้อย่างหลากหลายออกจากวงโคจร
ทั้งนี้ เรื่องค่าใช้จ่ายยังเป็นประเด็นที่น่ากังวล เนื่องจากดาวเทียมในภากิจเก็บกวาดขยะอวกาศนี้จะถูกทำลายหลังเสร็จสิ้นภารกิจและกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลก หากแต่เป็นไปได้ว่ารัฐบาลจะเป็นช่วยเหลือค่าใช้จ่ายบางส่วนเมื่อรัฐบาลเห็นด้วยในกฎเรื่องการจำกัดปริมาณขยะอวกาศ
เรื่องความพยายามกำจัดดาวเทียมใช้แล้วนี้ทางเอพีได้กล่าวถึงการทำลายดาวเทียมใช้แล้วของจีนด้วยการยิงจรวดมิสไซล์เมื่อปี 2007 แต่เหตุการ์ณดังกล่าวทำให้เกิดเศษซากชินเล็กชิ้นน้อยประมาณ 150,000 ชิ้นในอวกาศ โดยที่ประมาณ 3,000 ชิ้นมีขนาดใหญ่พอที่จะติดตามด้วยสัญญาณเรดาร์จากภาคพื้น
นอกจากนี้ยังมีขยะอวกาศชิ้นใหญ่จากปฏิบัติการล้มเหลวของรัสเซียที่พยายามส่งยานไปสำรวจดวงจันทร์ของดาวอังคารเมื่อเร็วๆ นี้ แต่ยานติดค้างอยู่ในวงโคจรของโลกหลังจากถูกส่งขึ้นเมื่อวันที่ 9 พ.ย.ปีที่ผ่านมา และความพยายามของผู้เชี่ยวชาญรัสเซียและองค์การอวกาศยุโรป (อีซา)ที่จะกู้ให้ยานกลับมาทำงานอีกครั้งก็ไม่ประสบความสำเร็จ ทำให้ยานอวกาศลำนี้กลายเป็นขยะอวกาศหนักที่สุดและเป็นพิษมากที่สุดจากเชื้อเพลิงที่หลงเหลืออยู่ ซึ่งตอนนี้ก็ยังไม่มีรายงานว่ายานดังกล่าวตกสู่โลกหรือยัง