เอเยนซี - European Space Agency (ESA) เผยว่า กรุงปักกิ่งเกือบต้องเผชิญภัยจากดาวเทียมโรแซตของเยอรมนี ซึ่งเป็นดาวเทียมขนาดใหญ่เท่ารถบรรทุกหนักเกือบ 2 ตัน ที่ตกลงมาเหนืออ่าวเบงกอล เมื่อวันที่ 23 ต.ค. ปีที่แล้ว หากตกช้ากว่าเดิม 7 - 10 นาที
สื่อต่างประเทศรายงาน (1 ม.ค.) อ้างคำแถลงของ European Space Agency (ESA) ว่า กรุงปักกิ่งเกือบต้องเผชิญภัยจากดาวเทียมโรแซตของเยอรมนี ซึ่งเป็นดาวเทียมขนาดใหญ่เท่ารถบรรทุก ที่ตกลงมาเหนืออ่าวเบงกอล เมื่อวันที่ 23 ต.ค. ปีที่แล้ว ว่าจากการคำนวณวิถีการตกสู่ชั้นบรรยากาศโลก พบว่า หากคลาดเคลื่อนเวลาไปเพียง 7 - 10 นาที ตำแหน่งจุดตกของดาวเทียมน้ำหนักเกือบ 2 ตันนี้ จะตกลงมาที่กลางกรุงปักกิ่งพอดี
รายงานข่าวกล่าวว่า ดาวเทียมโรแซต (ROSAT) เป็นดาวเทียมสำรวจท้องฟ้าในย่านรังสีเอกซ์ของเยอรมนี ถูกนำขึ้นสู่อวกาศ เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2533 ที่แหลมคานาเวอรัล รัฐฟลอริดา ปฏิบัติงานอยู่ในอวกาศได้เพียง 8 ปี จนกระทั่ง เกิดความผิดปกติขึ้นกับอุปกรณ์หลักสำหรับกำหนดทิศทางของดาวเทียม เสียหายไม่อาจแก้ไขได้ ต้องยุติภารกิจ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2542 กลายเป็นขยะอวกาศโคจรอยู่รอบโลกมานับแต่นั้น
ปัญหาใหญ่อีกเรื่องของดาวเทียมโรแซต คือไม่มีระบบขับดันสำหรับควบคุมการเคลื่อนที่ จึงไม่สามารถคำนวณให้ตกสู่โลกในพื้นที่เป้าหมาย ที่ห่างไกลผู้คนเช่นมหาสมุทรเหมือนกับดาวเทียมปลดระวางอื่นๆ ได้ โดยในเวลานั้น หน่วยงานอวกาศเยอรมนี ประเมินว่าความเสี่ยงของอันตรายจากการตกของดาวเทียมดวงนี้ มีราว 1 ใน 2,000 ซึ่งสูงกว่าขีดกำจัดที่นาซากำหนดไว้คือ 1 ใน 10,000 (- อ่านเพิ่มเติม รายงานพิเศษ : ดาวเทียมโรแซต (ROSAT) วรเชษฐ์ บุญปลอด (สมาคมดาราศาสตร์ไทย))
ไฮเนอร์ คลินคราด หัวหน้าศูนย์ European Space Operations Centre ระบุในรายงานว่า นักวิทยาศาสตร์ไม่สามารถควบคุมตำแหน่งตกของดาวเทียมโรแซต และจากการคำนวณวิถีเดินทางอัตราความเร็ว 300 ไมล์ต่อชั่วโมง ก็เป็นไปได้มากว่าหากมันตกสู่ชั้นบรรยากาศช้าไปเพียง 7 - 10 นาที จุดตกจะอยู่กลางกรุงปักกิ่ง ซึ่งเป็นอันตรายใหญ่หลวงต่อประชาชน
ไฮน์เนอร์ กล่าวว่า โดยปกติแล้ว ชิ้นส่วนของดาวเทียมที่ตกสู่พื้นจะถูกเผาผลาญในชั้นบรรยากาศ จนเหลือประมาณร้อยละ 20 - 40 เท่านั้น ตอนถึงพื้นโลก แต่สำหรับดาวเทียมโรแซต ซึ่งประกอบด้วยชิ้นส่วนขนาดใหญ่ทำให้ยังคงเหลือขนาดกว่าร้อยละ 60 เมื่อตกลงมา
ด้าน เบอร์นาร์ด วอน โฆษกของหน่วยงานฯ กล่าวว่า ระยะเวลา 10 นาทีในอวกาศ มีความแตกต่างกันในวิถีจุดตกบนโลกมาก โดยหากมันตกเร็วกว่าเดิมไปหนึ่งนาที จุดที่ตกจะอยู่ในไซบีเรีย และหากตกช้ากว่าเดิม 1 นาที ก็จะตกลงมหาสมุทรแปซิฟิกแทน
สื่อต่างประเทศรายงานว่า นับเป็นโชคดีของชาวโลก ที่ดาวเทียมโรแซต ตกลงที่อ่าวเบงกอล มหาสมุทรอินเดีย เพราะหากไม่เช่นนั้น จะกลายเป็นมหันตภัยร้ายแรงในประวัติศาสตร์ทีเดียว
อ่านเพิ่มเติม
- เยอรมนีไม่ยืนยันดาวเทียมโรแซตเล็ดลอดชนโลกหลังพุ่งเข้าชั้นบรรยากาศ
(คลิปโดย Analytical Graphic, Inc.จำลองการตกของดาวเทียมโรแซต ที่จะกระจายออกไปกว่า 30 ชิ้น น้ำหนักเกือบ 2 ตัน และคาดว่าชิ้นที่ใหญ่และหนักที่สุดจะมีน้ำหนักมากกว่า 1.7 ตัน)