เดลิเมล์ - โลกเกาะติดเหตุการณ์ดาวเทียมยูเออาร์เอสดิ่งกลับสู่พื้นโลกเมื่อวันเสาร์ที่แล้ว(24) และเวลานี้พบว่าดาวเทียมปลดประจำการอีกดวงที่หลุดวงโคจร และคาดหมายว่าดาวเทียมดาราศาสตร์ของเยอรมนีนามโรแซต(ROSAT) จะตกลงสู่โลกในช่วงปลายเดือนตุลาคมหรือต้นเดือนพฤศจิกายนนี้
ด้วยที่ดาวเทียมโรแซตมีขนาดเล็กกว่าดาวเทียมศึกษาบรรยากาศชั้นบนยูเออาร์เอส จึงคาดหมายว่าชิ้นส่วนของดาวเทียมโรแซตจะเล็ดลอดตกสู่โลกมากกว่า ขณะที่หน่วยงานด้านอวกาศของเยอรมนีคาดเดาว่าดาวเทียมดวงนี้มีโอกาสทำอันตรายประชาชนถึง 1 ใน 2,000 ซึ่งสูงกว่าขีดกำจัดที่นาซากำหนดไว้คือ 1 ใน 10,000 และสูงกว่าดาวเทียมยูเออาร์เอส ที่มีความเสี่ยงเป็นอันตรายต่อผู้คน 1 ใน 3,200
ดาวเทียมโรแซตน้ำหนัก 2 ตันครึ่งดวงนี้ ถูกยิงขึ้นสู่อวกาศในปี 1990 ก่อนปลดระวางในปี 1998 ขณะที่หน่วยงานด้านอวกาศของเยอรมนีคาดหมายว่าจะมีชิ้นส่วนจากดาวเทียมดังกล่าวราว 30 ชิ้นเล็ดลอดตกสู่พื้นโลก ในจำนวนนั้นอาจรวมไปถึงเศษชิ้นส่วนมีคมด้วย อย่างไรก็ตามก็เป็นอีกครั้งที่ไม่สามารถคาดคะเนได้อย่างแน่นอนว่าดาวเทียมดวงนี้จะตกสู่พื้นโลกเมื่อไหร่หรือที่ไหน
ไฮเนอร์ คลินการ์ด หัวหน้าสำนักงานขยะอวกาศขององค์การอวกาศยุโรป ระบุว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะคำนวณการดิ่งสู่โลกของดาวเทียมโรแซตได้อย่างถูกต้องแม่นยำ "ความไม่แน่นอนจะลดลง ณ ช่วงเวลาที่มันใกล้กลับสู่โลก แต่เป็นไปไม่ได้เลยที่จะทำนายว่าดาวเทียวดวงนี้จะตกลงที่ใดจนกว่า 2 ชั่วโมงก่อนดาวเทียมเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ"
ทั้งนี้นาซาระบุว่าชิ้นส่วนดาวเทียมยูเออาร์เอส ได้เคลื่อนผ่านทวีปแอฟริกา และตอนเหนือของมหาสมุทรแอตแลนติก พร้อมตกลงในมหาสมุทรแปซิฟิกนอกชายฝั่งรัฐแคลิฟอร์เนีย