xs
xsm
sm
md
lg

ระทึก! ยานสำรวจ “โฟบอส-กรันต์” เตรียมโหม่งโลกวันนี้ รัสเซียมึนไม่รู้จุดตกอยู่ไหน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพถ่ายยานโฟบอส-กรันต์ ด้วยระบบเรดาร์
เอเอฟพี/ASTVผู้จัดการออนไลน์ - องค์การอวกาศรัสเซียยอมรับในวันนี้ (15) ว่าไม่อาจคาดเดาถึงจุดตกของ “โฟบอส-กรันต์” ยานสำรวจดาวอังคารที่ไปไม่ถึงเป้าหมาย ไม่กี่ชั่วโมงก่อนที่ยานสำรวจอวกาศไร้นักบินน้ำหนัก 13.5 ตันลำนี้ จะตกลงสู่พื้นโลก

“รอสคอสมอส” องค์การอวกาศของรัสเซีย รายงานบนเว็บไซต์ว่า ชิ้นส่วนของยานสำรวจโฟบอส-กรันต์ จะตกลงสู่พื้นโลกในวันอาทิตย์ เวลาระหว่าง 1436-2224 จีเอ็มที (ตรงกับ 21.36-05.24 น.วันจันทร์ (16) ตามเวลาประเทศไทย)

อย่างไรก็ตาม รอสคอสมอส ขอยกเลิกรายงานเมื่อวันเสาร์ (14) ซึ่งระบุว่า ชิ้นส่วนของโฟบอส-กรันต์ จะตกลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก ทางทิศตะวันตกของชิลี โดยรายงาน 2 ฉบับล่าสุดก่อนหน้านี้ ก็ระบุถึงจุดตกแตกต่างกันไปว่า อาจตกลงมหาสมุทรอินเดีย และแอตแลนติก

“ชุดทำงานสนับสนุนปฏิบัติการกำลังเฝ้าระวังการหลุดจากวงโคจรของยานโฟบอส-กรันต์ อย่างต่อเนื่อง” คำแถลงสรุปของรอสคอสมอส ระบุ

ด้าน สำนักข่าวไอทาร์-ทาสส์ (ITAR-TASS) ของรัสเซีย รายงานอ้างอิงแหล่งข่าวจากองค์การอวกาศ ว่า โฟบอส-กรันต์ อาจเริ่มตกลงสู่โลกในเวลา 19.51 น.ตามเวลาท้องถิ่น (ตรงกับ 00.51 น.วันจันทร์ตามเวลาประเทศไทย)

โฟบอส-กรันต์ ยานสำรวจอวกาศไร้นักบินมูลค่า 165 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 5,000 ล้านบาท) ประสบเหตุขัดข้องระหว่างการเดินทาง โดยติดอยู่ในวงโคจรของโลก ตั้งแต่ทะยานขึ้นสู่อวกาศในวันที่ 9 พฤศจิกายน ส่วนในประเด็นเชื้อเพลิงอันตราย ซึ่งบรรจุในโฟบอส-กรันต์ ปริมาณมากพอที่จะเดินทางถึงดวงจันทร์โฟบอสของดาวอังคารนั้น ไอทาร์-ทาสส์ รายงานว่า รอสคอสมอสประเมินไว้ว่า เชื้อเพลิงพิษเหล่านี้จะถูกเผาไหม้จนหมดสิ้นที่ความสูง 100 กิโลเมตร

รอสคอสมอส คาดการณ์ว่า จะมีชิ้นส่วนยานเพียง 20-30 ชิ้น น้ำหนักไม่เกิน 200 กิโลกรัม เหลือรอดจากการเผาไหม้ ก่อนตกถึงพื้นโลก

ทั้งนี้ โครงการนี้เป็นความร่วมมือในการพิชิตดาวอังคารระหว่างจีนกับรัสเซีย เพื่อหวังแซงหน้าสหรัฐฯ และเตรียมตัวสำหรับภารกิจส่งมนุษย์ไปยังดาวอังคาร ยานโฟบอส-กรันต์ได้ติดตั้งเครื่องมือเก็บตัวอย่างดิน และยังรับหน้าที่ขนส่งยานอิ้งหัว-1 ยานสำรวจดาวอังคารของจีน อีกด้วย

ทว่า โฟบอส-กรันต์ หลุดออกจากจอเรดาร์ของรัสเซียแทบจะในทันทีที่ทะยานขึ้นจากพื้นโลก หลังจากนั้น รัสเซียต้องใช้เวลาถึง 3 สัปดาห์ เพื่อหาทางควบคุมโฟบอส-กรันต์ อีกครั้ง กระนั้นก็ดี รอสคอสมอสไม่สามารถบังคับโฟบอส-กรันต์ ให้เดินทางต่อ หรือกลับลงสู่พื้นโลกตามแผนได้ พร้อมทั้งยอมรับว่า จุดตกอาจขึ้นอยู่กับปัจจัยสภาพแวดล้อมหลายๆ ประการ เช่น ความหนาแน่นของชั้นบรรยากาศ และปรากฏการณ์บนดวงอาทิตย์

“การเปลี่ยนแปลงเวลาและจุดตกขึ้นอยู่กับความสูงที่ลดลงของโฟบอส-กรันต์ ปรากฏการณ์บนดวงอาทิตย์ และสภาพแวดล้อมในชั้นบรรยากาศ” รอสคอสมอส ระบุ

ในปีที่ผ่านมา รัสเซียเสียดาวเทียมสำรวจไปแล้ว 3 ดวง อีกทั้งดาวเทียมการทหารเทคโลโนยีชั้นสูง 1 ดวง และดาวเทียมสื่อสารอีก 1 ดวง
กำลังโหลดความคิดเห็น