xs
xsm
sm
md
lg

ท้าธรรมชาติ...เผยงานวิจัยไวรัสหวัดนกแพร่ทางอากาศได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เจ้าหน้าที่เข้าฉีดพ่นทำลายเชื้อเพื่อป้องกันการระบาดของไข้หวัดนกที่เวียดนาม (เอพี)
2 งานวิจัยจาก 2 แล็บ ใช้เทคนิคคนละอย่างศึกษาการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสหวัดนก แล้วพบว่าไวรัสทำให้สัตว์ทดลองติดเชื้อทางอากาศได้ ซึ่งยังไม่พบในธรรมชาติ โดยผลการทดลองดังกล่าวจะช่วยให้เรามองเห็นความเป็นไปของไวรัสที่จะเกิดการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ได้ ท่ามกลางความกังวลว่าความรู้จากงานวิจัยนี้จะถูกนำไปใช้เป็นอาวุธเชื้อโรค

สำหรับรายละเอียดของงานวิจัยยังไม่ได้เผยแพร่ลงวารสารวิทยาศาสตร์ แต่ไลฟ์ไซน์รายงานว่าข้อมูลดังกล่าวก็กระจายมายังสื่อแล้ว และเผยให้เห็นถึง 2 เทคนิคในงานวิจัยที่แตกต่างกันนั้นสามารถกระตุ้นให้ไวรัสเอช5เอ็น1 (H5N1) ซึ่งเป็นสาเหตุของไข้หวัดนก แพร่กระจายทางอากาศ แล้วทำให้ “ตัวเฟอร์เรต” สัตว์ที่ใช้ในการทดลองติดเชื้อได้

ข่าวเรื่องการศึกษาการกลายพันธุ์ของไวรัสไข้หวัดนกนี้ได้จุดประกายให้เกิดความกังวลว่า มนุษย์จะเชื้อไวรัสดังกล่าวผ่านทางอากาศได้ และไวรัสเหล่านั้นอาจเล็ดลอดออกจากห้องปฏิบัติการ หรืออาจตกไปอยู่ในมือของผู้ก่อการร้ายและถูกใช้เป็นอาวุธชีวภาพได้ บางส่วนก็ให้ความเห็นว่าไม่ควรทำงานวิจัยนี้มาตั้งแต่แรกแล้ว หากแต่นักไวรัสวิทยาผู้ศึกษาเรื่องนี้กล่าวว่างานวิจัยนี้มีความสำคัญต่อการป้องกันหรืออย่างน้อยเพื่อรับมือกับการระบาดครั้งใหญ่

“ความจริงอย่างที่สุดคือธรรมชาตินั่นแหละคือผู้ก่อการร้ายทางชีวภาพที่ร้ายแรงที่สุดที่เรารู้ มันอุบัติขึ้นตามกาลเวลาและมาพร้อมกับสารที่ทำให้เกิดการติดเชื้อซึ่งเราไม่อาจคาดฝันถึง ดังนั้นการวิจัยเรื่องไข้หวัดนกต้องเดินหน้าต่อไป” เอคการ์ด วิมเมอร์ (Eckard Wimmer) จากมหาวิทยาลัยสโตนี บรูค (Stony Brook University) ในนิวยอร์ก สหรัฐฯ ผู้เป็นหนึ่งในทีมสร้างไวรัสสังเคราะห์ชุดแรก

รอน ฟูเชอร์ (Ron Fouchier) จากศูนย์การแพทย์อีราสมุส (Erasmus Medical Center) ในเนเธอร์แลนด์ หัวหน้าห้องปฏิบัติการวิจัยไวรัสหวัดนกที่กำลังเป็นปัญหาอยู่นี้ แลกเปลี่ยนข้อมูลบางส่วนเกี่ยวกับงานวิจัยของเขาในงานประชุมวิชาการเมื่อเดือน ก.ย.ปีที่ผ่านมา

จากรายงานข่าวไลฟ์ไซน์ระบุว่า ฟูเชอร์เหนี่ยวนำการกลายพันธุ์เข้าไปในรหัสพันธุกรรมของไวรัส แล้วกระตุ้นการทำงานโดยย้ายไวรัสจากฟอร์เรตที่ป่วยไปใส่ในเฟอร์เรตที่แข็งแรง จนกระทั่งไวรัสสามารถแพร่กระจายระหว่างตัวเฟอร์เรตทางอากาศด้วยละอองฝอยจากการหายใจ ซึ่งเขารายงานว่ามีการกลายพันธุ์ 5 แบบที่แพร่กระจายเช่นนี้ได้ โดยในธรรมชาติก็พบการกลายพันธุ์ดังกล่าว แต่ไม่พบการกลายพันธุ์พร้อมๆ กันที่จุดเดียว

ในธรรมชาตินั้นวัตถุทางพันธุกรรมของไวรัสนั้นมีแนวโน้มที่จะเกิดความผิดพลาดเสมอ ดังนั้น เมื่ออาศัยอยู่ในร่างกายเจ้าบ้านไวรัสก็จะสะสมการกลายไว้ บางครั้งความผิดพลาดเหล่านี้ก็กลายเป็นประโยชน์ต่อไวรัส เช่นเดียวกับกรณีการทดลองของฟูเชอร์ที่ทำให้ไวรัสสามารถเดินทางไปในอากาศได้

ทางด้าน วินเซนต์ ราซาเนียลโล (Vincent Racaniello) ศาสตราจารย์ทางด้านจุลชีววิทยาและภูมิคุ้มกันวิทยาจากมหาวิทยาโคลัมเบีย (Columbia University) กล่าวว่าไวรัสที่ย้ายไปมาระหว่างคนนั้นสามารถสะสมการเปลี่ยนแปลงจนทำให้มันพร่กระจายผ่านทางอากาศได้ ซึ่งสิ่งที่ฟูเชอร์ทำนั้นเป็นสิ่งที่เราคาดเดาได้ว่าอาจจะเกิดขึ้นในคนและทำให้เกิดไวรัสที่เหมือนกันนี้

เอช5เอ็น1 นั้นเป็นไวรัสไข้หวัดนกที่ก่อนหน้านี้ระบาดเฉพาะระหว่างนกและไม่ระบาดในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเหมือนคนเรา ส่วนไวรัสที่ใกล้เคียงกันคือไวรัสเอช1อ็น1 (H1N1) ซึ่งทำให้เกิดไข้หวัดหมูและเกิดการระบาดเมื่อปี 2009 ซึ่งภายหลังได้เรียกชื่อใหม่ว่าไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 โดย เอช (H) และเอ็น (N) นั้นคือสัญลักษณ์ของโปรตีนในไวรัส

ทั้งนี้ ในงานวิจัยของอีกห้องปฏิบัติการหนึ่งนั้น โยชิฮิโร คาวาโอกะ (Yoshihiro) จากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน (University of Wisconsin-Madison) สหรัฐฯ ได้ใช้โปรตีนเอช5 และใส่แทนที่โปรตีนเอช1 ของไวรัสเอช1เอ็น1 ซึ่งไวรัสลูกผสมนี้สามารถส่งผ่านระหว่างเฟอร์เรตได้ทางละอองฝอยจากการหายใจ (ซึ่งทั้งการจามและการไอทำให้เกิดละอองฝอยที่มีไวรัสติดมาด้วยได้) อย่างไรก็ดี ไวรัสกลายพันธุ์ดังกล่าวไม่ทำให้เฟอร์เรตตัวใดตาย

ในธรรมชาตินั้นเมื่อไวรัสหลายชนิดเข้าไปทำให้สัตว์ติดเชื้อ พวกมันสามารถสับเปลี่ยนยีนเพื่อสร้างไวรัสชนิดใหม่ได้ ซึ่งมีโอกาสสร้างลูกผสมที่ทำให้เกิดการระบาดอย่างร้ายแรง ซึ่งกระบวนการสับเปลี่ยนยีนดังกล่าวเรียกว่า การแลกเปลี่ยนสารพันธุกรรม (re-assortment) ขณะที่การทดลองทั้งสองเป็นข่าวไม่ดีสำหรับเฟอร์เรตแต่ยังไม่ชัดเจนว่ามีผลอย่างไรสำหรับคน

“เฟอร์เรตเป็นแบบจำลองที่ดีในการศึกษาไข้หวัดใหญ่ แต่เหมือนมนุษย์มากแค่ไหนนั้นยังเป็นคำถาม” อีลันคุมารัน ซับเบียห์ (Elankumaran Subbiah) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ทางด้านไวรัสวิทยาจากวิทยาลัยสัตวแพทย์เวอร์จิเนียเทค (Virginia Tech) กล่าว

ทั้งนี้ นักไวรัสวิทยากล่าวว่า การทดลองในเฟอร์เรตให้ความคล้ายคลึงกับการทดลองในคนมากกว่าการทดลองในนกซึ่งแหล่งักตัวดั้งเดิมชองไวรัวเอช5เอ็น1 แต่ไม่ได้หมายความว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในเฟอร์เรตนั้นจะเกิดขึ้นในคนเช่นกัน

ซับเบียห์กล่าวว่า งานวิจัยเหมือนที่ฟูเชอร์และคาวาโอกะทำนั้นเป็นเรื่องสำคัญ เพราะงานวิจัยแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงอันจำเพาะที่ช่วยให้ไวรัสแพร่ระบาดในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมได้อย่างง่ายขึ้น และด้วยข้อมูลจากงานวิจัยนี้ ทำให้เราเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงเช่นที่เกิดขึ้นนี้ได้ และเพื่อเตรียมพร้อมในกรณีที่เกิดการระบาดทางอากาศและก่อโรคในมนุษย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่อาจเกิดขึ้นในธรรมชาติตอนนี้หรืออีก 50 ปีจากนี้ หรืออาจจะไม่เกิดขึ้นเลยก็ได้
ชาวเวียดนามขายไก่เป็นๆ ในตลาด (เอพี)
ตัวเฟอร์เรต สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ใช้ในการศึกษาไข้หวัดนก (ไลฟ์ไซน์)
กำลังโหลดความคิดเห็น