ไม่ใช่แค่มนุษย์เราเท่านั้นที่หลงใหลในกลิ่นและรสของกาแฟ "มอด" ก็ชื่นชอบกาแฟด้วยเหมือนกัน แต่จะกัดกินกาแฟตั้งแต่ยังเป็นผลอยู่บนต้นกาแฟ และถือว่าเป็นศัตรูตัวฉกาจที่สร้างความเสียหายให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟในประเทศไทยคิดเป็นมูลค่ามหาศาล
แม้กาแฟจะเป็นพืชต่างถิ่น แต่ด้วยเสน่ห์ของกาแฟทั้งรสและกลิ่น จึงทำให้กาแฟเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก และมีการปลูกกาแฟเป็นพืชเศรษฐกิจในหลายประเทศ รวมทั้งในประเทศไทย โดยเฉพาะในเขตพื้นที่สูงทางภาคเหนือของไทย แต่ในช่วงระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมา เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟกลับต้องเผชิญกับ "มอดเจาะผลกาแฟ" ที่เข้ามาทำลายผลผลิตในไร่กาแฟเสียหายเป็นจำนวนมาก
"ปลูกกาแฟมา 30 กว่าปีแล้ว เมื่อก่อนก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ช่วง 4-5 ปีมานี้ มันมีมอดเข้ามาในแปลง ก็ไม่รู้ว่ามาจากที่ไหน และเราก็ไม่เคยรู้จักมาก่อนด้วย" คำบอกเล่าของพ่อหลวงอภินันท์ จะมู ผู้ใหญ่บ้านปางกึ๊ด ต.อินทขิล อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ผู้ยึดอาชีพปลูกกาแฟพันธุ์อราบิกามานานหลายสิบปี
พ่อหลวงบอกว่า เมื่อเก็บเกี่ยวผลกาแฟมาแล้ว จะต้องนำไปแช่น้ำก่อนเพื่อคัดผลกาแฟที่ลอยน้ำซึ่งด้อยคุณภาพออกไป โดยพบว่าหลังจากที่มีมอดกาแฟเข้ามาระบาดในแปลง ผลผลิตกาแฟในแต่ละปีเสียหายมากถึง 1 ใน 3 ของผลผลิตทั้งหมด แต่หลังจากที่อาจารย์ชวลิต กอสัมพันธ์ และทีมนักวิจัยจากศูนย์วิจัยและฝึกอบรมที่สูง คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เข้ามาให้ความรู้เกี่ยวกับมอดเจาะผลกาแฟ และถ่ายทอดเทคโนโลยีการกำจัดมอด ก็พบว่าผลผลิตเสียหายลดลงถึงครึ่งหนึ่ง
อ.ชวลิต อธิบายลักษณะของมอดเจาะผลกาแฟว่าเป็นแมลงชนิดหนึ่งที่อยู่กลุ่มเดียวกับด้วง ลักษณะคล้ายมอดข้าวสาร แต่ตัวเล็กกว่า โดยจะเจาะเข้าไปกัดกินและอาศัยอยู่ในผลกาแฟตั้งแต่ผลเขียว ผลสุก รวมไปถึงผลที่เก็บเกี่ยวแล้วก็ยังถูกมอดเจาะเข้าไปกิน โดยปริมาณความเสียหายที่พบมีมากถึง 30% ของผลผลิต
"งานวิจัยที่ทำแล้วเห็นผลก็คือ การใช้สารล่อเพื่อให้มอดเข้าไปติดกับดัก โดยนำสารในกลุ่มแอลกอฮอล์มาผสมกันเพื่อให้กลิ่นหอมที่มีลักษณะคล้ายกลิ่นของผลกาแฟมาเป็นตัวล่อให้แมลงเข้าไปติดกับดัก ซึ่งทำจากขวดน้ำพลาสติกขนาด 1 ลิตรขึ้นไป เจาะรูที่ข้างขวด 2 ข้าง เพื่อให้แมลงบินเข้าออกได้ ที่ก้นขวดเติมน้ำเปล่าที่ผสมสารลดแรงตึงผิวลงไป เพื่อให้แมลงที่ตกลงไปไม่สามารถบินหนีไปไหนได้" อ.ชวลิต อธิบายหลักการทำกับดักและสารล่อมอดที่ไม่ยุ่งยากและเกษตรกรสามารถทำได้เอง
"หลังจากติดตั้งสารล่อไว้ในกับดักเรียบร้อยแล้ว ก็นำไปวางไว้ในแปลงกาแฟให้สูงจากพื้น 1-1.5 เมตร ซึ่งเป็นระยะที่แมลงบิน ซึ่งเราเคยดักได้สูงสุดประมาณ 8,000 ตัว ต่อ 1 กับดัก ใน 1 เดือน และจากการทำงานวิจัย 2-3 ปีที่ผ่านมา ความเสียหายลดลงไปเยอะ จากเดิมเดิมก่อนทำการทดลอง พบความเสียหายอยู่ที่ประมาณ 30% แต่หลังจากวางกับดักไปแล้ว 1 ปี ข้อมูลเฉลี่ยของหมู่บ้านห้วยตาด (ต.อินทขิล อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่) เมื่อปีที่แล้วความเสียหายเหลือประมาณ 10% และในปีนี้ก็คาดว่าจะลดลงอีกจากปีที่แล้ว" อ.ชวลิต เผย
นักวิจัยได้ถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีในการทำกับดักและสารล่อมอดให้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการแล้วหลายพื้นที่ ทั้งในจังหวัดเชียงใหม่, เชียงราย และตาก โดยได้รับการสนับสนุนจากโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (ไอแทป) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เครือข่ายภาคเหนือ และยังมีโครงการขยายผลไปยังอีกหลายอำเภอในจังหวัดภาคเหนือที่ปลูกกาแฟทั้งพันธุ์อราบิกาและโรบัสตา
"การใช้กับดักและสารล่อสามารถช่วยลดจำนวนมอดที่เจาะเข้าทำลายผลกาแฟได้ผลก็จริง แต่นอกฤดูที่กาแฟยังไม่ให้ผล มอดส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ในดิน จนเมื่อกาแฟเริ่มออกผลอีกครั้ง มอดก็จะออกจากดินขึ้นมากินผลกาแฟ ดังนั้นการป้องกันและกำจัดมอดเจาะผลกาแฟให้ได้ผลมากที่สุดจึงควรให้วิธีผสมผสาน เช่น การใช้ราแมลง หรือสารสกัดจากพืช ฉีดพ่นในแปลง หรือใช้พริกโรยบริเวณใต้ต้นกาแฟ ก็จะช่วยไล่มอดเจาะกาแฟที่อยู่ในดินให้บินขึ้นมาและติดกับดักได้เช่นกัน" อ.ชวลิต แนะนำวิธีการกำจัดมอดเจาะผลกาแฟที่ได้ผลมากยิ่งขึ้น