ไบโอเทค - ไบโอเทคพัฒนาสารใหม่ตระกูล “แอสโคคลอริน” สารเคมีสำคัญสำหรับห้องแล็บ โดยได้จากราแมลงที่สำรวจพบที่เขาใหญ่ พร้อมตีพิมพ์ลงวารสารวิชาการ จนเตะตาบริษัทเคมีสัญชาติอเมริกันและซื้อสิทธิไปต่อยอดเชิงพาณิชย์
จากความเชี่ยวชาญในการรวบรวมสายพันธุ์และศึกษาการใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์โดยนักวิจัยไบโอเทค พัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์ “สารแอสโคคลอริน (Ascochlorin)” ซึ่งเป็นสารเคมีที่มีความสำคัญต่องานวิจัยในห้องปฏิบัติการ ปัจจุบันได้รับการต่อยอดเชิงพานิชย์ ผลิตและจัดจำหน่ายโดยบริษัทผู้ผลิตวัสดุสารเคมีสำหรับงานทดลองวิทยาศาตร์ชั้นนำ “บริษัทซิกมา-อัลดริช”
จุดเริ่มต้นของการพัฒนาผลิตภัณฑ์สารเคมีนี้คือทีมนักวิจัยไบโอเทค ร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ค้นพบสารใหม่ในตระกูลสาร แอสโคคลอรินจากเชื้อราแมลง Verticillium hemipterigenum BCC 2370 ที่คัดแยกจากบริเวณน้ำตกเหวนรก อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จากการตรวจสอบคุณสมบัติการออกฤทธิ์พบว่าสารมีฤทธิ์ต้านไวรัส นักวิจัยจึงได้ตีพิมพ์การค้นพบนี้ในวารสารแอนตีไบโอติกส์ (Journal of Antibiotics) ในปี 2547 (ชื่อเรื่อง A Novel Ascochlorin Glycoside from the Insect Pathogenic Fungus Verticillium hemipterigenum BCC 2370)
จากผลงานวิจัยชิ้นนี้เอง ทำให้บริษัทซิกมา-อัลดริช ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำผู้ผลิตวัสดุสารเคมีสำหรับงานทดลองวิทยาศาสตร์ได้ติดต่อขอประเมินเชื้อราแมลง Verticillium hemipterigenum BCC 2370 เพื่อการผลิตสารแอสโคคลอรินในเชิงพานิชย์ ซึ่งผลการประเมินเป็นไปด้วยดี บริษัทจึงขอรับการอนุญาตให้ใช้สิทธิ (License) จาก ไบโอเทค สวทช. ในการใช้เชื้อราแมลง Verticillium hemipterigenum BCC 2370 ผลิตสารแอสโคคลอรินเพื่อการพานิชย์ ปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์ “สารแอสโคคลอรินจากเชื้อราแมลง Verticillium hemipterigenum” มีจำหน่ายแล้ว ดังปรากฎบนเว็บไซต์ของบริษัทซิกมา-อัลดริช
ด้านดร. กัญญวิมว์ กีรติกร ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. เปิดเผยว่า ไบโอเทคได้เริ่มจากการสำรวจ รวบรวมและศึกษาจุลินทรีย์จากแหล่งธรรมชาติต่างๆ ในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2536 ซึ่งการศึกษานั้นเรามุ่งเน้นทั้งการอนุรักษ์ และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ปัจจุบันธนาคารจุลินทรีย์ของไบโอเทค มีจุลินทรีย์กว่า 40,000 ตัวอย่าง จุลินทรีย์เป็นแหล่งผลิตสารออกฤทธิ์ เอนไซม์ที่สำคัญ ซึ่งสารออกฤทธิ์นั้นสามารถนำไปพัฒนาเป็นยารักษาโรค ยาปราบศัตรูพืช เป็นต้น สำหรับเอนไซม์ก็ใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมต่างๆ
“ไบโอเทคมีหน่วยวิจัยเทคโนโลยีทรัพยากรชีวภาพที่ประกอบด้วยห้องวิจัยสาขาต่างๆ ที่มุ่งเน้นการศึกษา อนุรักษ์ และใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์ ผลิตภัณฑ์ที่ออกมานี้ จึงเป็นความสำเร็จร่วมกันของทีมนักวิจัยหลายๆ ฝ่าย ตั้งแต่ทีมนักสำรวจที่เข้าไปเก็บจุลินทรีย์ในแหล่งธรรมชาติและศึกษาด้านอนุกรมวิธานของเชื้อจุลินทรีย์ ทีมนักวิจัยที่ศึกษาการเพาะและขยายจำนวนเชื้อจุลินทรีย์ ทีมนักวิจัยที่ตรวจหาสารออกฤทธิ์ที่เชื้อจุลินทรีย์ผลิตออกมา ตลอดจนทีมนักเคมีที่แยกสารบริสุทธิ์ออกมาศึกษาและรายงานผลงานวิจัยนี้ในวารสารวิชาการนานาชาติ ทำให้มีบริษัทสนใจไปต่อยอดเชิงพานิชย์” ดร.กัญญวิมว์ กล่าวทิ้งท้าย