ในภาวะน้ำท่วมที่อาหารการกินหาได้ยากและยังมีความลำบากในการประกอบอาหาร “อาหารกระป๋อง” จึงกลายเป็นสิ่งจำเป็นใน “ถุงยังชีพ” แต่งานวิจัยล่าสุดพบว่า การกินอาหารกระป๋องทุกวันนั้นอาจเพิ่มระดับสาร “บีพีเอ” ในปัสสาวะของผู้บริโภคสูงกว่าปกติ
จากรายงานของไลฟ์ไซน์ระบุว่า การศึกษาล่าสุดพบผู้บริโภคอาหารกระป๋องมีระดับสารไบฟีนอลเอ (bisphenol A ) หรือบีพีเอ (BPA) สูงกว่าปกติ โดยผู้ที่บริโภคอาหารกระป๋องทุกวันติดต่อกัน 5 วัน มีระดับ 20.8 ไมโครกรัมต่อปัสสาวะ 1 ลิตร ขณะที่ผู้บริโภคซุปร้อนๆ มีระดับสารดังกล่าว 1.1 ไมโครกรัมต่อปัสสาวะ 1 ลิตร โดยสารบีพีเอนั้นเป็นผลพลอยได้จากสารเคมีที่ใช้ป้องกันการกัดกร่อนของกระป๋อง
นักวิจัยพบว่าระดับสารบีพีเอในปัสสาวะของอาสาสมัครที่บริโภคซุปกระป๋องสูงกว่าอาสาสมัครที่บริโภคซุปร้อนๆ ถึง 1,221% ซึ่ง คาริน มิเชลส์ (Karin Michels) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านระบาดวิทยาจากวิทยาลัยสาธารณสุขฮาวาร์ด (Harvard School of Public Health) สหรัฐฯ กล่าวว่า พวกเขาค่อนข้างประหลาดใจที่ได้เห็นระดับสารบีพีเอในผู้บริโภคอาหารกระป๋องพุ่งสูงเช่นนี้ ซึ่งปกติในคนทั่วไปจะพบระดับสารนี้อยู่ราว 1-2 ไมโครกรัมต่อปัสสาวะ 1 ลิตร
อย่างไรก็ดี รายงานการศึกษาครั้งนี้ระบุว่า พบระดับสารบีพีเอมากกว่า 13 ไมโครกรัมต่อลิตรเพียง 5% ของอาสามัครทั้งหมดที่เข้าร่วมทดลองในการศึกษาที่นำโดยศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ (Centers for Disease Control and Prevention) ซึ่งมีการตีพิมพ์ผลงานลงในวารสารวิชาการของสมาคมการแพทย์อเมริกัน (American Medical Association) โดย มิเชลส์ระบุว่า ทีมวิจัยเป็นกังวลต่ออิทธิพลของสารเคมีที่มีผลต่อสุขภาพของคนทั่วไป ซึ่งสารบีพีเอเป็นหนึ่งในนั้น
ในการศึกษาครั้งนี้มีอาสาสมัครเข้าร่วมการทดลองทั้งหมด 75 คน โดยมีอายุเฉลี่ย 27 ปี หนึ่งในกลุ่มผู้เข้าร่วมการศึกษาจะบริโภคซุปร้อน 340 กรัม ขณะที่อีกกลุ่มจะบริโภคซุปกระป๋องในปริมาณเดียวกันและเวลาเดียวกัน และทีมวิจัยจะเก็บตัวอย่างปัสสาวะของอาสาสมัครในวันที่ 4 และ 5 ของการทดลอง และพบสารบีพีเอในผู้ร่วมการทดลองทั้งที่บริโภคซุปร้อนและซุปกระป๋องรวม 77%
มิเชลส์กล่าวว่า ก่อนหน้านี้มีการศึกษาระดับสารบีพีเอจากการบริโภคอาหารกระป๋องเพียงไม่กี่งาน โดยการศึกษาเหล่านั้นจะเป็นการสัมภาษณ์อาสาสมัครถึงปริมาณการบริโภคอาหารกระป๋องตมปกติ แต่การศึกษาล่าสุดของพวกเขาเป็นครั้งแรกที่คละผู้เข้าร่วมทดลองให้บริโภคอาหารกระป๋องหรืออาหารสดในปริมาณเล็กน้อย และวัดผลระดับสารบีพีเอในปัสสาวะที่แตกต่างกัน
“เราทราบมาระยะหนึ่งแล้วว่าการดื่มเครื่องดื่มที่บรรจุในภาชนะพลาสติกนั้นเพิ่มปริมาณสารบีพีเอในร่างกายคุณได้ และการศึกษานี้ชี้ว่าเราอาจต้องเป็นห่วงเรื่องอาหารกระป๋องมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารเหล่านี้เป็นที่แพร่หลาย” เจนนี คาร์ไวล์ (Jenny Carwile) นักศึกษาปริญญาเอกของฮาวาร์ด ผู้ร่วมวิจัยในครั้งนี้ให้ความเห็น
ไลฟ์ไซน์รายงานอีกว่า เมื่อปี 2008 มีการศึกษาในอาสาสมัคร 1,455 คน พบว่ายิ่งระดับสารบีพีเอในปัสสาวะสูง ยิ่งเสี่ยงเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ เบาหวาน และความเข้มข้นของเอนไซม์ในตับผิดปกติ แต่ปัจจัยเรื่องอายุ ดัชนีมวลร่างกายและการสูบบุหรี่ก็ถูกรวมในการศึกษาดังกล่าวด้วย และอีกงานวิจัยได้พบความเชื่อมโยงระดับสารบีพีเอในปัสสาวะระหว่างตั้งครรภ์ของผู้หญิงกับปัญหาสุขภาพของลูกด้วย
จากการศึกษาล่าสุดนี้ยังไม่อาจบอกได้ว่าระดับสารบีพีเอจะคงสูงไปอีกนานแค่ไหน นอกจากนี้งานวิจัยนี้ยังไม่อาจบอกได้ว่าระดับสารที่พุ่งสูงนั้นอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ แม้ว่าระดับดังกล่าวจะคงอยู่ไม่นานก็ตาม อย่างไรก็ดี งานวิจัยนี้มีข้อจำกัดตรงที่อาสาสมัครทั้งหมดเป็นนักศึกษาหรือเจ้าหน้าที่ของวิทยาลัยยแห่งหนึ่ง และซุปกระป๋องที่นำมาศึกษานั้นใช้เพียงยีห้อเดียว แต่นักวิจัยในงานนี้รายงานว่า งานวิจัยเรื่องอาหารกระป๋องนี้จะถูกนำไปใช้เช่นเดียวกับการศึกษาภาชนะบรรจุที่เป็นพลาสติกบีพีเอ
“การลดบริโภคอาหารกระป๋องน่าจะเป็นแนวคิดที่ดี โดยเฉพาะคนที่บริโภคอาหารกระป๋องอยู่เป็นนิจ บางทีผู้ประกอบการโรงงานอาจจะขจัดสารบีพีเอออกจากกระป๋องได้ และก็มีบางรายที่ทำได้แล้ว แต่ก็มีอยู่น้อยนิด” มิเชลส์กล่าว