xs
xsm
sm
md
lg

แปลก! พบสัตว์เลื้อยคลานยุคไดโนเสาร์ไม่วางไข่แต่ออกลูกเป็นตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ฟอสซิลโครงกระดูกของพลิซิโอซอร์ ซึ่งมีลูกน้อย (กระดูกสีส้ม) อยู่ในท้องแม่ (บีบีซีนิวส์)
ฟอสซิลสัตว์เลื้อยคลานในทะเลท้องแก่ไม่เพียงให้ข้อมูลใหม่แก่นักวิทยาศาสตร์ว่า “พลีซิโอซอร์” เป็นสัตว์เลื้อยคลานในยุคไดโนเสาร์คลอดลูกเป็นตัวเท่านั้น แต่ลักษณะตัวอ่อนที่พบยังบ่งชี้ว่าสัตว์เลื้อยคลานในน้ำสายพันธุ์นี้ยังมีวิธีเลี้ยงดูลูกอย่างทะนุถนอมแบบเดียวกับวาฬและโลมาด้วย

นักวิทยาศาสตร์ทราบดีว่าสัตว์เลื้อยคลานในทะเลที่สูญพันธุ์ไปแล้วอย่าง อิชธิโอซอร์ (ichthyosaur) โมซาซอร์ (mosasaur) และชอริสโตเดอรัน (choristoderan) ออกลูกเป็นตัว แต่เป็นครั้งแรกที่มีหลักฐานบ่งชี้ว่า พลีซิโอซอร์ (plesiosaur) สัตว์เลื้อยคลานทะเลในยุคไดโนเสาร์สายพันธุ์ พอลิคอไทลัส ลาทิพพินัส (Polycotylus latippinus) ออกลูกเป็นตัวเช่นกัน

เนเจอร์นิวส์รายงานว่า ฟอสซิลของพลีซิโอซอร์วางนิ่งอยู่ในชั้นใต้ดินของพิพิธภัณฑ์โดยไม่ได้รับการตรวจสอบมากเกือบ 25 ปี แต่เมื่อตรวจสอบพบว่า ฟอสซิลของสัตว์ยุคไดโนสาร์ชนิดนี้มีตัวอ่อนขนาดใหญ่ที่มีความยาว 150 เซนติเมตรอยู่ในร่างของแม่ที่มีความยาว 470 เซนติเมตร โดยตัวอ่อนมีกระดูกสันหลัง 20 ข้อ มีไหล่ สะโพกและกระดูกครีบให้เห็น ซึ่งเชื่อว่าตัวอ่อนเจริญเติบโตมาได้ 2 ใน 3 ของระยะก่อนออกมาดูโลกภายนอกแล้ว และการค้นพบครั้งนี้ยังได้เผยแพร่ลงวารสารวิชาการไซน์ (Science)

“เรารู้จักพลีซิโอซอร์มาเกือบ 200 ปี แต่ถึงอย่างนั้นเราก็ไม่เคยพบฟอสซิลของพลีซิโอซอร์ท้องมาก่อน” ความเห็นจาก โรบิน โอ'คีฟ (Robin O'Keefe) นักบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยมาร์แชล (Marshall University) ในฮันทิงตัน รัฐเวสต์เวอร์จิเนีย สหรัฐฯ ผู้ร่วมวิเคราะห์ฟอสซิลอายุ 78 ล้านปีกับ หลุยส์ ไชอาปเป (Luis Chiappe) จากพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา (Natural History Museum) ในเคาน์ตีลอสแองเจลิส ลอสแองเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย

การออกลูกเป็นตัวและมีตัวอ่อนขนาดใหญ่นี้ทำให้นักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่า พลีซิโอซอร์ต้องมีพฤติกรรมเลี้ยงดูลูกอย่างทนุถนอม โดย โอ'คีฟได้อธิบายให้เห็นภาพว่า แม่ของสัตว์ในยุคปัจจุบันอย่างช้าง วาฬ โลมา และรวมถึงมนุษย์ด้วยนั้นมีทายาทตัวโตเพียงไม่กี่ตัว และเมื่อเราโยนความเสี่ยงทั้งหมดลงในตะกร้าใบเดียวด้วยการมีลูกแค่หนึ่งเดียว จึงเป็นเรื่องเข้าใจได้ไม่ยากหากเราจะทุ่มเทความรักทั้งหมดให้ลูกน้อย

โอ'คีฟชี้เฉพาะลงไปอีกว่า พลีซิโอซอร์อาจมีพฤติกรรมเหมือนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลยุคปัจจุบัน ที่อาศัยอยู่รวมกลุ่มและมีชีวิตสังคมเพื่อปกป้องตัวอ่อน ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่แตกต่างจากสัตว์เลื้อยคลานในทะเลอื่นๆ ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว ทั้งนี้ ฟังดูไม่สมเหตุสมผลนักว่า ลูกสัตว์เลื้อยคลานพันธุ์นี้พร้อมที่จะดูแลตัวเองทันทีหลังเกิดมาแล้ว เพราะกระดูกของตัวอ่อนบ่งชี้ว่า ลูกพลิซิโอซอร์นั้นไม่มีลักษณะทางกายภาพที่พึ่งพาตัวเองหลังเกิด

อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันมีสัตว์เลื้อยคลาน 2-3 ชนิด อย่างเช่นจิ้งเหลนบางสายพันธุ์ก็ออกลูกที่มีขนาดตัวใหญ่ออกมาไม่กี่ตัว และยังแสดงพฤติรรมทางสังคมคล้ายสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอีกด้วย

ในส่วนของ ไมเคิล เอเวอร์ฮาร์ท (Michael Everhart) ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์เลื้อยคลานทางทะเลก่อนยุคประวัติศาสตร์ จากพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาสเติร์นเบิร์ก (Sternberg Museum of Natural History) ในเฮย์ส คันซัส สหรัฐฯ ให้ความเห็นว่า ตัวอย่างฟอสซิลพลีซิโอซอร์นั้นเป็นสิ่งที่น่าตื่นเต้น และได้ช่วยตอบคำถามที่ค้างคามาหลายปี แต่ก็ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่าสัตว์เลื้อยคลานพันธุ์นี้มีพฤติกรรมทางสังคมและการสืบสายพันธุ์ที่แตกต่างจากสัตว์เลื้อยคลายทะเลชนิดอื่นๆ ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว โดยเขาอยากเห็นตัวอย่างมากกว่านี้อีกสัก 10 กว่าตัวอย่าง

สำหรับตัวอย่างฟอสซิลพลิซิโอซอร์ตัวอย่างนี้ถูกค้นพบในคันซัสเมื่อปี ค.ศ.1987 โดยนักล่าฟอสซิลอิสระ และได้ถูกบริจาคให้แก่พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาในเคาน์ตีลอสแองเจลิส ซึ่งเป็นสถานที่ตัวอย่างฟอสซิลถูกวางกองไว้ และเมื่อปีที่ผ่านมามีการตัดสินใจว่า ถึงเวลาที่ฟอสซิลนี้จะถูกนำไปจัดแสดงเสียที จากนั้นก็มีการส่งมอบเงินทุนเพื่อการเตรียมตัวอย่างและจัดแสดง และตอนนี้ฟอสซิลพลิซิโอซอร์ก็ถูกย้ายไปแสดงในโถงแสดงไดโนเสาร์ใหม่ของพิพิธภัณฑ์
ภาพวาดจำลองการเลี้ยงดูลูกของพลิซิโอซอร์ (เนเจอร์)
กำลังโหลดความคิดเห็น