ในปี ค.ศ.1424 Jeanne d’ Arc (ชื่ออังกฤษคือ Joan of Arc) สาวฝรั่งเศสวัย 12 ปีผู้ถือกำเนิดที่หมู่บ้าน Domrémy ในแคว้นลอร์แรน (Lorraine) เที่ยวบอกชาวบ้านว่านักบุญ Michael, Catherine และ Margaret ได้มาปรากฏกายให้เธอเห็นบ่อย และกล่าวบอกกับเธอว่าฝรั่งเศสจะต้องขับไล่กองทัพอังกฤษที่ยึดครองฝรั่งเศสออกไปให้หมด และให้เธอเป็นแม่ทัพในการกอบกู้อิสรภาพครั้งนี้ นอกจากนี้ก็ให้เธอเดินทางไปเข้าเฝ้าเจ้าชายรัชทายาทที่เมืองชินง (Chinon) ด้วย เพื่อทูลเจ้าชายว่าพระองค์คือรัชทายาทที่ถูกต้องตามกฎมณเฑียรบาล ทั้งนี้เพราะเวลานั้นประชาชนฝรั่งเศสต่างรู้สึกคลางแคลงใจว่าพระองค์เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 6 จริงหรือไม่ เนื่องจากพระมารดาของพระองค์คือพระนาง Isabelle ทรงมีชู้รักหลายคน และพระนางยืนยันว่าเจ้าชายมิได้มีสายเลือดของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 6 และประชาชนส่วนใหญ่เชื่อพระนาง
ณ เวลานั้นแทบไม่มีใครเชื่อเด็กสาวไร้การศึกษาผู้อวดอ้างจะนำทัพฝรั่งเศสกู้ชาติ แม้แต่บิดาของเธอยังคิดอยากจะกดหัวเธอให้จมน้ำตายดีกว่าจะปล่อยให้เธอไปสู้รบกับทหารอังกฤษ เพราะในเวลานั้นกองทัพฝรั่งเศสอ่อนแอมาก ดังจะเห็นได้จากทุกครั้งที่ออกศึกเป็นต้องพ่ายแพ้กองทัพอังกฤษอย่างยับเยินจนทหารฝรั่งเศสต่างรู้สึกสิ้นหวัง ท้อแท้ เสียขวัญ และคิดไปว่า ตลอดชีวิตนี้คงไม่มีมนุษย์คนใดสามารถนำทัพกู้ชาติได้สำเร็จนอกจากเทวดา จนกระทั่งเมื่อนายพล Robert de Baudricourt ได้ยินคำพูดที่มั่นใจและเร้าใจของ Joan of Arc เขาจึงอยากลองมีแม่ทัพเป็นผู้หญิงดูบ้าง จึงได้มอบเสื้อเกราะให้เธอสวม และให้ทหาร 6 คนติดตามเธอไปทูลเจ้าชายที่เมืองชินงว่าเธอคือผู้ที่จะปลดแอกเมืองออร์เลอองส์ (Orléans) ซึ่งอยู่ห่างจากชินงประมาณ 150 กิโลเมตร ให้รอดพ้นจากการถูกทหารอังกฤษยึดครอง
ในเดือนมกราคม ค.ศ.1429 Joan of Arc เดินทางถึงชินงเพื่อเข้าเฝ้าเจ้าชายรัชทายาท เมื่อพระองค์ทรงเชื่อคำของเธอจึงโปรดให้เธอนำทหาร 4,000 คนเดินทางไปออร์เลอองส์ Joan of Arc ผู้สวมเกราะขาวและมีอักษรที่หน้าอกเขียนว่า “Jesus Maria” ได้นำทัพเข้าโจมตีทางด้านเหนือของเมืองซึ่งไม่มีป้อมปราการ บรรดาทหารอังกฤษซึ่งไม่เคยเห็นแม่ทัพเป็นผู้หญิงมาก่อนต่างพากันกลัว เพราะคิดว่าเธอคือปีศาจ ในที่สุดเมืองออร์เลอองส์ก็แตกเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม ค.ศ.1429
ชัยชนะครั้งนั้นทำให้ทหารฝรั่งเศสที่อ่อนแอมาตลอดรู้สึกดีและมีกำลังใจมากขึ้นจนพากันเชื่อว่า Joan of Arc คือผู้ที่จะนำเอกราชมาสู่ประเทศชาติดังที่เธอพยากรณ์ หลังจากที่กองทัพอังกฤษพ่ายแพ้แล้ว Joan of Arc ได้นำทหารใต้บังคับบัญชาเดินทางสู่เมืองลียง (Lyon) ท่ามกลางการต้อนรับอย่างอบอุ่นโดยเจ้าชายรัชทายาท
วันที่ 17 กรกฎาคม ค.ศ.1429 Joan of Arc ประกาศสถาปนาองค์รัชทายาทเป็นกษัตริย์แห่งฝรั่งเศสที่มหาวิหาร St.Remy ในเมืองแรงส์ (Rheims) ด้วยการเจิมน้ำมันศักดิ์สิทธิ์ในมหาวิหารตามราชประเพณีที่ได้ปฏิบัติมานานร่วม 900 ปี พระองค์จึงขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 7 แห่งราชอาณาจักรฝรั่งเศสอย่างสมบูรณ์
จากนั้น Joan of Arc ได้นำทัพขับไล่ทหารอังกฤษที่ปารีส แต่ไม่สำเร็จเพราะพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 7 ทรงส่งทหารมาช่วยไม่เพียงพอ ในขณะที่ทหารฝรั่งเศสออกสู้ศึกอย่างไม่เต็มที่ เธอกลับสู้ด้วยใจเกินร้อย ถึงได้รับบาดเจ็บแต่เธอก็ไม่ย่อท้อ และได้นำเพื่อนทหารออกสู้ศึกอีกหลายครั้ง จนในที่สุดเธอถูกแม่ทัพ John of Luxembourg จับตัวเป็นเชลยเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม ค.ศ.1430 และถูกนำไปขังที่เมืองกงเปียญ (Compiègne) ใกล้กรุงปารีส แล้วถูกส่งตัวไปขังต่อในคุกเมืองรูออง (Rouen) ที่อังกฤษกำลังยึดครองอยู่
ขณะถูกคุมขัง Joan of Arc ถูกสอบสวนทั้งอย่างเปิดเผยในศาลและอย่างปิดบังในคุกหลายครั้ง ถูกทรมานและถูกถากถางด้วยวาจาตลอดเวลา เช่น ทนายอังกฤษกล่าวหาว่าเธอคงรู้สึกอับอายที่เป็นสตรีจึงต้องสวมเสื้อบุรุษแทน และคำพยากรณ์ทั้งหลายของเธอล้วนเป็นเรื่องหลอกลวง และที่เธออ้างว่าเห็นนักบุญนั้น แท้จริงแล้วเธอเห็นซาตาน ครั้นเมื่อทนายอังกฤษถามเธอว่านักบุญ Margaret พูดกับเธอเป็นภาษาอะไร เธอตอบว่าเป็นภาษาฝรั่งเศสด้วยสำเนียงที่ดีกว่าคนที่ถามมาก และการที่เธอสวมเสื้อบุรุษนั้น เพราะเธอกลัวทหารอังกฤษจะลวนลาม เธอมิใช่แม่มด และเป็นสาวพรหมจรย์ที่ได้เห็นนักบุญกับตา
ศาลทหารอังกฤษในขณะนั้นไม่ประสงค์จะพิพากษาลงโทษเธอ แต่ต้องการให้ศาลฝรั่งเศสพิพากษาโทษเธอแทน ด้วยข้อกล่าวหาว่าเธอลบหลู่ศาสนาคริสต์ เพื่อให้เธอยอมรับว่าผิดและไม่สมควรที่จะจูงใจใครอีกต่อไป Joan of Arc จึงถูกพิพากษาโดยบิชอปแห่งโบเวส์ (Beauvais) ให้ถูกจำคุกตลอดชีวิต คำตัดสินนี้ทำให้ Earl of Warwick แม่ทัพอังกฤษรู้สึกไม่พอใจ เพราะคิดว่าเป็นการลงโทษที่น้อยไป
แต่เมื่อศาลเห็นว่า เธอเข้าฟังคำตัดสินโดยการสวมเสื้อบุรุษทั้งๆ ที่เธอเคยสาบานว่าจะไม่แต่งตัวผิดเพศอีก ศาลจึงกลับตัดสิน และตั้งข้อหาว่าเธอมิได้รู้สึกสำนึกในบาปที่ได้กระทำเลย จึงสมควรรับโทษประหารชีวิตโดยการเผาทั้งเป็น ในฐานะที่เป็นแม่มดแห่งเมืองรูออง พิธีประหารชีวิตของเธอถูกจัดขึ้นที่จัตุรัส Old Market แห่งเมืองรูออง เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม ค.ศ.1431
เป็นที่น่าสังเกตว่าตลอดเวลาที่ Joan of Arc ถูกจับขังคุกและถูกพิพากษาประหารชีวิตนั้น พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 7 มิได้สนพระทัยหรือดำเนินการใดๆ เพื่อช่วยชีวิตเธอเลย
ในวันประหารชีวิต หลังจากที่นักบวชสวดมนตร์ครั้งสุดท้ายเสร็จสิ้น Joan of Arc ได้ขออนุญาตถือไม้กางเขนในช่วงเวลาที่เหลือของชีวิต เพชฌฆาตจึงยื่นกิ่งไม้ 2 กิ่งให้เธอมัดด้วยเชือกไขว้กันต่างไม้กางเขน ขณะที่นักบวชนำไม้กางเขนขนาดใหญ่จากโบสถ์มาวางตรงหน้าให้เธอเห็นขณะเปลวไฟกำลังลุกท่วมตัว Joan of Arc จูบไม้กางเขนที่ถือในมือ แล้วตะโกนคำสุดท้ายออกมาว่า “Jesus”
เถ้ากระดูกของ Joan of Arc ถูกนำไปโปรยในแม่น้ำแซน (Seine) ในเมืองรูออง ทั้งนี้ก็เพื่อมิให้ใครเก็บเถ้ากระดูกไปบูชา จะอย่างไรก็ตาม การสังหารประหารชีวิต Joan of Arc ในครั้งนั้นได้ผนึกใจชาวฝรั่งเศสเป็นหนึ่งเดียวเพื่อสู้กับกองทัพอังกฤษจนเมืองบอร์โดซ์ (Bordeaux) และปารีสได้รับอิสรภาพ และฝรั่งเศสได้เอกราชกลับคืน
ในปี 1920 สันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 5 ทรงประกาศสถาปนา Joan of Arc เป็นนักบุญ ณ วันนี้ชาวฝรั่งเศสถือว่า Joan of Arc คือวีรสตรีผู้รักชาติที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของฝรั่งเศส และเป็นนักบุญผู้กอบกู้เอกราชของชาติ แต่ทว่าชาติไม่ได้ปกป้องเธอให้รอดพ้นจากการถูกเผาทั้งเป็น
ในปี 1867 ซึ่งเป็นเวลา 436 ปีหลังจากที่เธอเสียชีวิต มีคนพบขวดโหลในร้านขายยาแห่งหนึ่งในกรุงปารีส ซึ่งมีป้ายเขียนติดที่ขวดว่าภายในมีซากกระดูกของ Joan of Arc
การพบกระดูกหลงเหลืออยู่หลังการเผา 3 ครั้ง (ศพเธอต้องเผาหลายครั้งเพราะทหารอังกฤษคิดว่าเธอเป็นแม่มด) ทำให้คนหลายคนเชื่ออย่างสนิทใจว่า Joan of Arc เป็นนักบุญตัวจริง ดังนั้นจึงมีการนำขวดโหลบรรจุอัฐิดังกล่าวไปเก็บที่พิพิธภัณฑ์ในเมืองชินง
ในปี 2007 Philippe Charlier นักนิติวิทยาศาสตร์แห่งโรงพยาบาล Raymond Poincaré ที่เมืองการ์ชส์ (Garches) ใกล้ปารีส ได้ขออนุญาตสถาบันศาสนาแห่งฝรั่งเศสนำอัฐิในขวดโหลไปพิสูจน์ความแท้จริงหรือแท้ปลอม
Charlier และผู้เชี่ยวชาญด้านกลิ่นน้ำหอมชื่อ Jean-Michel Duriez แห่งบริษัทฌอง ปาตู (Jean Patou) และ Sylvaine Delacourte แห่งบริษัทแกร์แล็ง (Guerlain) ได้ใช้เทคโนโลยีวิทยาศาสตร์ด้าน spectrometry ในรูปแบบ mass, infrared และ atomic-emission ร่วมกับเทคนิคการวิเคราะห์กลิ่น และได้สรุปพบว่ากระดูกดังกล่าวมิใช่ของ Joan of Arc แต่เป็นกระดูกของมัมมี่อียิปต์
ณ วันนี้ เทคนิควิเคราะห์กลิ่นมีบทบาทมากขึ้นๆ ในวงการนิติวิทยาศาสตร์เมื่อนักวิทยาศาสตร์ได้พบว่าถึงซากจะมีอายุมากเพียงใด แต่กลิ่นก็ยังคงอยู่ และเพื่อให้การวิเคราะห์นี้มีการตรวจสอบอย่างเสรี ผู้เชี่ยวชาญเรื่องกลิ่นทั้งสองคนมิได้รับแจ้งว่าให้ดมอะไรและไม่ให้ปรึกษากันด้วย
ในการวิเคราะห์เถ้ากระดูก Charlier ใช้กล้องจุลทรรศน์ศึกษาเขม่าดำ และพบว่าสีดำเกิดจากการทาไม้ด้วยยาง bitumen กับ malachite และมิได้เกิดจากการเผากระดูกจนไหม้ดำ เพราะไม่ปรากฏซากของกล้ามเนื้อผิวหนังหรือไขมันหลงเหลือเลย นอกจากนี้ก็ยังพบกระดูกต้นขาของแมวซึ่งคงเป็นแมวดำที่ถูกเผาพร้อมแม่มด และยังได้พบซากของเรณูต้นสนด้วย ซึ่งต้นสนตามปกติจะไม่ขึ้นในแคว้นนอร์มังดี แต่คนอียิปต์นิยมใช้ยางสนทำมัมมี่ และเมื่อนักวิทยาศาสตร์นำซากกระดูกไปวัดอายุก็พบว่ามีอายุราว 2,300 – 2,600 ปี กระดูกในขวดโหลจึงมิใช่ของ Joan of Arc อย่างแน่นอน
ในส่วนของกลิ่นนั้น คนทั้งสองยังพบอีกว่ากระดูกมีกลิ่นวานิลลาปะปนกับกลิ่นปูนปลาสเตอร์ โดยกลิ่นวานิลลาเกิดจากการเน่าของมัมมี่ผ่านผ้าลินินที่ใช้พันศพ ส่วนกลิ่นปูนปลาสเตอร์เกิดจากการเผาเสาที่ทำด้วยยิปซัม
ข้อมูลทุกชิ้นจึงระบุชัดว่า ซากกระดูกในขวดเป็นกระดูกมัมมี่อียิปต์ มิใช่กระดูกของหญิงสาวผู้ถูกเผาทั้งเป็น
และ ณ วันนี้ สถาบันศาสนาแห่งฝรั่งเศสได้ยอมรับคำตัดสินของ Charlier และคณะแล้ว
*********************
เกี่ยวกับผู้เขียน
สุทัศน์ ยกส้าน
ประวัติการทำงาน - ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์
ประวัติการศึกษา - ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย
อ่านบทความ สุทัศน์ ยกส้าน ได้ทุกวันศุกร์
***ทีมงานขออภัยในความผิดพลาดของเนื้อหาที่เกิดขึ้น และได้แก้ไขใหม่ให้ถูกต้องแล้ว ***