xs
xsm
sm
md
lg

“สมเด็จพระเทพฯ” ทรงเป็นประธานพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯออกแทนพระองค์ พระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2554


วันนี้ (25 ม.ค.) เวลา 17.30 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จออกแทนพระองค์ ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง พระราชทานพระราชวโรกาสให้ ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์อุดม คชินทร รองประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ นำผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลประจำปี 2554 และผู้แทน เฝ้าทูลละอองพระบาทรับพระราชทานรางวัลฯ ดังนี้

-ศาสตราจารย์เดวิด ที.วอง (Professor Doctor.David T.Wong) ศาสตราจารย์สมทบภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยอินดีแอนา รัฐอินดีแอนา สหรัฐอเมริกา เฝ้าทูลละอองพระบาท รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สาขาการแพทย์จากผลงานการศึกษาค้นคว้าและวิจัยยา ฟลูอ๊อกซีทีน ซึ่งเป็นยาตัวแรกในกลุ่ม เอส เอส อาร์ ไอ (SSRI:selective serotonin reuptake inhibitor) ได้รับการยอมรับว่าเป็นยารักษาโรคซึมเศร้าที่มีประสิทธิภาพสูง มีความปลอดภัยมาก ผลข้างเคียงน้อย ช่วยเหลือผู้ป่วยโรคซึมเศร้า นอกจากนี้ฟลูอ๊อกซีทีน ยังเป็นต้นแบบของการพัฒนายารักษาโรคซึมเศร้าอีกหลายชนิดต่อมา แต่เมื่อใช้ความคิดและพฤติกรรมบำบัด และยาฟูลอ๊อกซีทีนร่วมกัน พบว่าทำให้ผลการรักษาดียิ่งขึ้น

-ผู้ช่วยศาสตราจารย์พอล เอ็ม.แกรนท์ (Assistant Professor Doctor Paul M.Grant) เฝ้าทูลละอองพระบาท รับพระราชทานรางวัลเจ้าฟ้ามหิดล สาขาการแพทย์ แทน ศาสตราจารย์นายแพทย์แอรอน ที.เบ็ค ปัจจุบัน ศาสตราจารย์ นายแพทย์แอรอน ที.เบ็ค (Professor Doctor Aaron T. Beck) ดำรงตำแหน่ง ศาตราจารย์เกียรติคุณ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย และประธานกิตติมศักดิ์ศูนย์วิจัยจิตพยาธิวิทยา แอรอน ที.เบ็ค รัฐเพนซิลเวเจีย สหรัฐอเมริกา เป็นบุคคลแรกที่นำความคิดและพฤติกรรมบำบัดมารักษาผู้ป่วยซึมเศร้า จากผลงานทำการวิจัย พัฒนาและทดสอบประสิทธิภาพการรักษาผู้ป่วยโรคซึมเศร้า โดยใช้กระบวนการและเทคนิคของการเรียนรู้มาใช้บำบัดเปลี่ยนความคิด เปลี่ยนความเชื่อของบุคคลที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม ซึ่งเป็นเหตุทำให้มีปัญหาสุขภาพจิตและจิตเวช ช่วยให้บุคคลปรับเปลี่ยนความคิด ความเชื่อของตนให้เกิดความคิดที่ถูกต้องเหมาะสม และสามารถปรับตัวต่อสถานการณ์ต่างๆ ได้ดีขึ้น ความคิดและพฤติกรรมบำบัด เป็นวิธีรักษาที่ดีที่สุดในโรคซึมเศร้า นับเป็นผลงานที่อำนวยประโยชน์ในการช่วยเหลือผู้ป่วยโรคซึมเศร้าให้พ้นจากความทุกทรมาน

-ศาสตราจารย์รูธ เอฟ.บิชอป (Professor Doctr. Ruth F.Bishop) ศาสตราจารย์เกียรติยศ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเมลเบิร์น และนักวิจัยอาวุโส สถาบันวิจัยเด็กเมอด็อค รัฐวิกตอเรีย เครือรัฐออสเตรเลีย เฝ้าทูลละอองพระบาท รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สาขาการสาธารณสุข เป็นบุคคลแรกที่พบว่า โรคท้องร่วงรุนแรงที่เกิดในเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี ทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศที่มีรายได้ต่ำ และรายได้ต่ำปานกลางในแถบทวีปแอฟริกา และเอเชีย ซึ่งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตราว 5 แสนคนต่อปี เกิดจากเชื้อไวรัสโรต้า และได้พิสูจน์โดยนำเซลล์ลำไส้เล็กของเด็กที่ป่วยมาตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์อีเล็กตรอนพบเชื้อไวรัสมีลักษณะคล้ายวงล้อรอบๆให้ชื่อว่า "ไวรัสโรต้า" นอกจากนี้ ยังค้นพบว่าทารกแรกเกิดมีภูมิคุ้มกันสามารถต่อต้านเชื้อไวรัสโรต้าได้ เป็นพื้นฐาน นำไปสู่การพัฒนาวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโรต้า เป็นที่ยอมรับและใช้กันแพร่หลายทั่วโลก

ในโอกาสนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชดำรัสความว่า โลกเราทุกวันนี้แม้จะเจริญก้าวหน้าขึ้นกว่าก่อนมาก แต่มนุษย์ก็ยังคงต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพอนามัย ทั้งโรคที่เกิดขึ้นใหม่ โรคที่ยังไม่พบหนทางรักษา และโรคที่เกี่ยวกับสุขภาพจิต ซึ่งดูจะเป็นปัญหาที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ผู้ที่ได้เสียสละอุทิศแรงกายแรงใจเพื่อศึกษาค้นคว้า แสวงหาวิธีการที่จะบำบัดบรรเทาโรคภัยไข้เจ็บทั้งทางกายและทางจิตใจให้แก่มวลมนุษย์ จึงสมควรได้รับความนิยมยกย่องอย่างสูง ผลงานการรักษาผู้ป่วยโรคซึมเศร้าด้วยความคิดและพฤติกรรมบำบัด ของศาสตราจารย์นายแพทย์แอรอน ที.เบ็ค และการค้นพบยารักษาโรคซึมเศร้า ของศาสตราจารย์เดวิด ที.วอง นั้น นับเป็นผลงานที่อำนวยประโยชน์ยิ่งใหญ่แก่การช่วยเหลือผู้ป่วยทั่วโลกให้พ้นจากความทุกข์ทรมาน ส่วนการค้นพบเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคท้องร่วงรุนแรงในเด็ก อันนำไปสู่การพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคดังกล่าวของศาสตราจารย์ รูธ เอฟ.บิชอป ก็เป็นผลงานที่ช่วยพัฒนาสุขภาพอนามัยของเด็ก ซึ่งเป็นทรัพยากรบุคคลที่สำคัญของประเทศชาติและของโลก จึงขอแสดงความชื่นชมยินดีเป็นพิเศษ กับผู้ที่ได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลประจำปีนี้ ทั้งหวังว่าจะเป็นแบบอย่างอันประเสริฐในการเสริมสร้างความเจริญก้าวหน้าของการแพทย์และการสาธารณสุข เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของมวลมุษยชาติสืบไป




กำลังโหลดความคิดเห็น