ประกาศผลรางวัลเจ้าฟ้าฯ ปี 54 มอบรางวัล “แพทย์-นักเคมี-นักจุลชีววิทยา” 3 นักพัฒนาวิจัยการแพทย์และสาธารณสุข ด้านระบบรักษาโรคซึมเศร้า-ไวรัสโรต้า แก่คนทั่วโลก พร้อมรับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนฯ 25 ม.ค.นี้
วันนี้ (14 ธ.ค.) ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ในฐานะรองประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวในงานแถลงข่าวผลการตัดสินรางวัลเจ้าฟ้ามหิดล ครั้งที่ 20 ประจำปี 2554 ณ ห้องสมเด็จพระบรมราชชนก ตึกสยามินทร์ ชั้น 2 โรงพยาบาล (รพ.) ศิริราช ว่า ปีนี้มีผู้ที่ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล 2 สาขา สาขาการแพทย์ ได้แก่ ศ.นพ.แอรอน ที.เบ็ค (Professor Aaron T.Beck) และ ดร.เดวิด ที. วอง (Dr.David T.Wong) สาขาการสาธารณสุข ได้แก่ ดร.รูธ เอฟ. บิชอป (Dr.Ruth F. Bishop) ซึ่งรางวัลเจ้าฟ้าฯ เป็นรางวัลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งขึ้น เพื่อถวายเป็นพระราชานุสรณ์แด่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ในโอกาสจัดงานเฉลิมฉลอง 100 ปี แห่งการพระราชสมภพ 1 ม.ค.2535 โดยจะมอบรางวัลให้แก่บุคคลหรือองค์กรทั่วโลกที่มีผลงานดีเด่นเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ ทางด้านการแพทย์ 1 รางวัล และด้านการสาธารณสุข 1 รางวัล เป็นประจำทุกปี
นายธานี ทองภักดี อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าว่า ปี 2554 มีผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2554 ทั้งสิ้น 76 ราย จาก 45 ประเทศ โดย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ แทนพระองค์ พระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าฯ ในวันที่ 25 ม.ค. พ.ศ.2555 ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
ศ. นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานคณะกรรมการรางวัลนานาชาติ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าฯ
กล่าวว่า สำหรับประวัติย่อของผู้ทีได้รับรางวัล สาขาการแพทย์ ได้แก่ ศ.นพ.แอรอน ที.เบ็ค (Professor Aaron T.Beck) เป็น ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย และประธานกิตติมศักดิ์ ศูนย์วิจัยจิตพยาธิวิทยาแอรอน ที. เบ็ค (Aaron T. Beck Psychopathology Research Center) รัฐเพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นบุคคลแรกที่นำความคิดและพฤติกรรมบำบัด (Cognitive Behavioural Therapy, CBT) มารักษาผู้ป่วยโรคซึมเศร้า โดยใช้กระบวนการและเทคนิคของการเรียนรู้มาใช้บำบัดเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมให้ดีขึ้น และได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาด้านความคิดและพฤติกรรมบำบัด ช่วยเหลือผู้ป่วยโรคซึมเศร้าได้มากกว่า 120 ล้านคนต่อปี โดยเฉพาะลดการฆ่าตัวตาย ซึ่งมีมากกว่า 1 ล้านคนต่อปี
2. ดร.เดวิด ที.วอง ศาสตราจารย์สมทบ (Adjunctive Professor) เป็นนักเคมีในภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยอินเดียนา รัฐอินเดียนา ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นผู้ค้นพบยา ฟลูออกซีทีน (fluoxetine) และยาโปรแซค (Prozac) 2 ปี ต่อมา ได้รับการยอมรับว่าเป็นยารักษาโรคซึมเศร้าที่มีประสิทธิภาพสูง สามารถใช้รักษาผู้ป่วยโรคซึมเศร้านับร้อยล้านคนทั่วโลก นอกจากนี้ ฟลูออกซีทีน (fluoxetine) ยังเป็นต้นแบบของการพัฒนายารักษาโรคซึมเศร้าอีกหลายชนิดต่อมา และ 3 ผู้ที่ได้รับรางวัล สาขาสาธารณสุข ดร.รูธ เอฟ. บิชอป ศาสตราจารย์เกียรติยศ (Professorial Fellow) นักจุลชีววิทยา ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเมลเบิร์น และนักวิจัยอาวุโส สถาบันวิจัยเด็กเมอด็อค รัฐวิกตอเรีย ประเทศออสเตรเลีย ค้นพบว่าโรคท้องร่วงรุนแรง เกิดจากเชื้อไวรัสโรต้า และยังค้นพบว่าทารกแรกเกิดมีภูมิคุ้มกันสามารถต่อต้านเชื้อไวรัสโรต้าได้ เป็นพื้นฐานนำไปสู่การพัฒนาวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโรต้า หลังจากนั้นก็พัฒนาระบบให้วัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโรต้า เป็นที่ยอมรับและใช้กันแพร่หลาย ทั่วโลกกว่า 60 ประเทศทั่วโลก
ด้าน รศ.นพ.เธียรชัย งามทิพย์วัฒนา จิตแพทย์ประจำ รพ.ศิริราช กล่าวว่า ต้องถือว่าปีนี้คณะกรรมการพิจารณารางวัลเจ้าฟ้าฯ มีการมองการณ์ไกลอย่างมาก คือ มองเห็นปัญหาสุขภาพจิตเกี่ยวกับภาวะซึมเศร้า ซึ่งปัจจุบันพบว่า ปัญหาดังกล่าวเป็นภัยสุขภาพอันดับ 4 ของโลก และคาดว่า อีก 20 ปี อาจขึ้นอยู่อันดับ 1 ดังนั้น การพัฒนาและคิค้นวิธีการรักษาระบบสุขภาพจิต จึงเป็นเรื่องสำคัญ