xs
xsm
sm
md
lg

“ตามรอยพระบรมราชชนก” แรงบันดาลใจผู้คว้ารางวัลเจ้าฟ้ามหิดลฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศ.นพ.แอรอน ที. เบ็ค
โดย..จารยา บุญมาก

มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการมอบรางวัลรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ ซึ่งเป็นรางวัลระดับโลก ครั้งที่ 20 แล้ว ที่เฟ้นหาผู้ที่เหมาะสมจากนานาประเทศ เพื่อเข้ารับพระราชทานรางวัลในสาขาการแพทย์และสาธารณสุข

และสำหรับผู้ที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรติในปี 2554 ได้แก่ ศ.นพ.แอรอน ที.เบ็ค (Professor Aaron T. Beck) ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย และประธานกิตติมศักดิ์ ศูนย์วิจัยจิตพยาธิวิทยาแอรอน ที.เบ็ค (Aaron T. Beck Psychopathology Research Center) รัฐเพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา บุคคลแรกที่นำความคิดและพฤติกรรมบำบัด (Cognitive Behavioural Therapy, CBT) มารักษาผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ดร.เดวิด ที. วอง (Dr.David T. Wong) ศาสตราจารย์สมทบ (Adjunctive Professor) ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยอินเดียนา รัฐอินเดียนา สหรัฐอเมริกา ผู้ค้นพบยาฟลูออกซีทีน ซึ่งเป็นรักษาผู้ป่วยโรคซึมเศร้า โดยทั้งสองท่านได้รับรางวัลในสาขาการแพทย์ และสำหรับรางวัลในสาขาสาธารณสุข ได้แก่ ดร.รูธ เอฟ. บิชอป (Dr.Ruth F. Bishop) ศาสตราจารย์เกียรติยศ (Professorial Fellow) ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเมลเบิร์น และนักวิจัยอาวุโส สถาบันวิจัยเด็กเมอด็อค รัฐวิกตอเรีย ออสเตรเลีย
ดร.เดวิด ที. วอง
ดร.วอง กล่าวด้วยความภูมิใจว่า จากการที่ได้รับรางวัลนี้รู้สึกซาบซึ้งและเป็นเกียรติอย่างมาก เนื่องจากทราบจากคนไทยในสหรัฐฯ ว่า เป็นรางวัลอันทรงเกียรติอย่างมาก และดีใจที่ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนายา ซึ่งเป็นประโยชน์แก่คนทั่วโลก อย่างไรก็ตาม เนื่องจากในอนาคตคาดว่า ทั่วโลกจะมีผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามากขึ้น แม้ยาจะมีส่วนช่วยในการรักษาทางกายภาพ แต่โดยส่วนตัวยังเชื่อว่า การรักษาโรคซึมเศร้าที่ดี ต้องเริ่มจาการมองโลกแง่บวก และต้องลดภาวะเครียดให้ได้ ซึ่งย่อมดีกว่าการใช้ยาอย่างแน่นอน

สำหรับแรงบัลดาลใจที่ทำให้คิดค้นเรื่องยารักษาโรคซึมเศร้านั้น ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าการสนุกกับวิทยาศาสตร์การแพทย์ และความเห็นใจคนทั่วไปที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งก็มาจากภาวะติดแอลกอฮอล์ และการเกิดความเครียดจากปัญหาหลายด้าน ดังนั้น จึงมีความปรารถนาอยากช่วยให้ทุกคนมีสุขภาพที่ดี จึงได้คิดค้นยาดังกล่าวขึ้นมา และวันนี้ก็กลายเป็นสิ่งที่มีประโยชน์แก่ผู้ป่วยซึมเศร้า เท่านี้ก็มีแรงใจจะพัฒนายาแล้ว และเชื่อว่า ในอนาคตอาจมีการพัฒนายาในกลุ่มเดียวกันอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพที่ดีกว่า เพราะทั่วโลกมีแนวโน้มที่จะเกิดโรคซึมเศร้าเพิ่มขึ้น” ดร.วอง ย้ำ
ดร.รูธ เอฟ. บิชอป
ขณะที่ ดร.พอล เอ็ม แกรนท์ ตัวแทนจากทีมวิจัยของ ศ.นพ.เบ็ค กล่าวว่า ศ.นพ.เบ็ค ผู้ที่คิดค้นพฤติกรรมบำบัดโรคซึมเศร้า เชื่อมั่นในการสร้างประโยชน์แก่ประชาชนและจากการได้รับพระราชทานรางวัลนี้ ตนและทีมงานมีความภูมิใจอย่างมากที่ได้ดำเนินรอยตามพระบาทสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ที่ทรงงานหนักและมุ่งมั่นพัฒนาการแพทย์ การสาธารณสุข เพื่อประโยชน์แก่ประชาชนของพระองค์ ซึ่ง ดร.เบ็ค ยอมรับว่า เป็นสิ่งที่น่ายกย่องเชิดชู และการได้รับรางวัลครั้งนี้ถือว่าเป็นเกียรติอย่างมาก แม้จะไม่ได้รับรางวัลด้วยตนเอง แต่ก็มีความภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง

ด้าน ดร.บิชอป กล่าวว่า รู้สึกแปลกใจเล็กน้อยที่ได้รับรางวัลพระราชทาน แต่เชื่อว่า การเริ่มต้นค้นพบไวรัสโรต้า เป็นแค่จุดเล็กที่ทำให้ค้นพบ ปัญหาโรคระบบทางเดินอาหารในเด็ก ดังนั้นหากในอนาคตมีการค้นพบเชื้อตัวใหม่ที่เป็นปัญหาต่อสุขภาพอนามัยของเด็ก ก็อยากให้นักวิทยาศาสตร์ หรือนักวิจัยเร่งมือและดำเนินการอย่างเต็มที่เพื่อพัฒนาระบบสาธารณสุข ที่เป็นประโยชน์แก่ทุกคน เพื่อจะได้หาทางป้องกันสุขภาพที่ดียิ่งขึ้น และนอกจากนี้ต้องมีการผลักดันให้เกิดกระแสยอมรับในสังคมด้วย โดยเฉพาะภาคการเมือง เพื่อที่จะได้พัฒนาระบบสุขภาพอย่างดีต่อไป

“โรคท้องร่วงรุนแรง เป็นสาเหตุการตายของเด็กในประเทศที่ด้อยพัฒนา แม้การค้นพบไวรัสโรต้า จะผ่านมานานแล้ว แต่ก็ยังรู้สึกดีใจที่ได้มีส่วนร่วมในการคิดค้นวัคซีนเพื่อป้องกันเชื้อไวรัสดังกล่าว และเชื่อว่า หากนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่มีความพยายามและไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคใดๆ” ดร.บิชอป เล่า

ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ พระราชทานรางวัล ในวันที่ 25 ม.ค.2555 เวลา 16.30 น.ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง ซึ่งถือว่าเป็นตัวอย่างบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ของโลกที่น่ายกย่องอย่างมาก
กำลังโหลดความคิดเห็น