ฝ่ายประชาสัมพันธ์ วิทยาลัยเพื่อการค้นคว้าระดับรากฐาน มหาวิทยาลัยนเรศวร-จากความฝันของนักศึกษาที่ขบถต่อรุ่นพี่และรวมกลุ่มกันต่อต้านการรับน้องแบบกดขี่ โดยจัดตั้งกิจกรรมที่สร้างสรรค์ตามความสนใจที่หลากหลาย หนึ่งในความสนใจนั้นคือการทำกิจกรรมทางด้านฟิสิกส์ ซึ่งผ่านมา 17 ปี สมาชิกของกลุ่มได้ทำให้เกิด “คณะฟิสิกส์” แห่งแรกของประเทศไทย
การตัดสินใจของมหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) ในประกาศสถาปนาวิทยาลัยเพื่อการค้นคว้าระดับรากฐาน (The Institute for Fundamental Study) ขึ้นเมื่อต้นปี 2554 ที่ผ่านมานับเป็นการแสดงเจตจำนงของ มน. ที่จริงจังในการสนับสนุนการวิจัยระดับสูงทางวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ของประเทศ ทั้งนี้ สภามหาวิทยาลัยนเรศวรได้ประกาศสถาปนาวิทยาลัยขึ้นเป็นคณะวิชาที่ 21 ของมหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ 14 มี.ค.54 ซึ่งตรงกับวันคล้ายกับวันเกิดของ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์โดยบังเอิญ
วิทยาลัยเพื่อการค้นคว้าระดับรากฐาน หรือ “อี๊ฟ” (IF) นี้ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างทันทีทันใด หากแต่ในทางปฏิบัติแล้วการสถาปนานี้เป็นการมอบสถานภาพที่เป็นทางการให้แก่ชุมชนทางวิชาการที่เรียกตัวเองว่า สถาบันสำนักเรียนท่าโพธิ์สำหรับฟิสิกส์ทฤษฎีและจักรวาลวิทยา หรือ TPTP อันเป็น “สถาบันวิชาการเถื่อน” ที่ดำเนินการใน มน. อย่างเป็นการเป็นงานต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือน พ.ย.46
ส่วนสถาบันสำนักเรียนท่าโพธิ์นี้เองก็มีจุดกำเนิดมานานก่อนหน้านี้เสียอีก คือมีจุดเริ่มต้นในคืนวันที่ 1 ม.ค.37 จากการพูดคุยกันใน “วงมาม่า” มื้อดึกที่โรงอาหารใต้หอพักของนักศึกษาปริญญาตรีชั้นปีที่สามกลุ่มหนึ่งที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นักศึกษากลุ่มนี้มาจากหลายสาขาฟิสิกส์ ศึกษาศาสตร์ วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ รัฐศาสตร์ และ ธรณีวิทยา ในคืนนั้นนักศึกษากลุ่มนี้ได้รวมตัวกันเป็นกลุ่มต่อต้านการรับน้องแบบกดขี่และเป็นกลุ่มทำกิจกรรมแบบสหวิทยาการ
Free Energy Group ก็คือชื่อของกลุ่มซึ่งได้แบ่งเป็นกลุ่มย่อยๆตามความสนใจ เช่น ปรัชญา นวนิยายจีนกำลังภายใน ประไตรปิฎก หมากรุก การเขียนโปรแกรม การเมือง และฟิสิกส์ และไม่นานนักกลุ่มย่อยฟิสิกส์ซึ่งมีสี่คนได้เรียกตัวเองว่า “ฟอรัมฟิสิกส์ทฤษฎีระดับนักศึกษา” (The Students’ Forum for Theoretical Physics: SFTP) โดยเลียนแบบฟอรัมวิทยาศาสตร์ทฤษฎีแห่งคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังจากที่ได้เดินทางไปเยี่ยมชมและเข้าพบ ศ.ดร.วิรุฬห์ สายคณิต หัวหน้าของฟอรัมที่จุฬาฯ ซึ่งเป็นนักฟิสิกส์ทฤษฎีที่โด่งดังและเป็นแรงบันดาลใจของนักศึกษากลุ่มนี้
กลุ่มนักศึกษาฟอรัมฟิสิกส์ได้ใช้ห้องว่างชั้นล่างของห้องปฏิบัติการวิจัยเซรามิคส์ซูเปอร์คอนดัคเตอร์ของภาควิชาฟิสิกส์ที่เชียงใหม่เป็นสถานที่นัดพบรวมตัวของของสมาชิกฟอรัม สมาชิกในขณะนั้นซึ่งเป็นเพียงนักศึกษามีความฝันที่จะเรียนต่อฟิสิกส์ระดับสูงและตกลงกันว่าสิบปีหลังจากนั้นจะกลับมารวมตัวกันเพื่อสมัครเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยใหม่ๆ ในภูมิภาคเพื่อจะได้ตั้งกลุ่มวิจัยทางฟิสิกส์ร่วมกัน
ในปี 2539 สมาชิกคนหนึ่งคือ บุรินทร์ กำจัดภัย ได้สำเร็จปริญญาตรีฟิสิกส์และเป็นอาจารย์ที่ภาควิชาฟิสิกส์ มน. แล้วได้ชักชวน ชนัญ ศรีชีวิน อาจารย์ฟิสิกส์ที่ ม.นเรศวร ร่วมกันประกาศตั้ง กลุ่มฟิสิกส์ทฤษฎีท่าโพธิ์ ขึ้นเมื่อวันที่ 8 ส.ค.39 และได้เริ่มวางกรอบแนวคิดและรูปแบบกิจกรรมของ TPTP โดยเปิดรับนิสิตฟิสิกส์ มน. เข้าสู่ระบบ นักเรียนเตรียมทฤษฎี (Theory Cadet) เพื่ออ่านหนังสือและถกประเด็นฟิสิกส์ร่วมกัน
กิจกรรมที่จัดในขณะนั้นคือการให้โครงงานระดับปริญญาตรีและจัดสัมมนาขึ้นเป็นครั้งคราวโดยมีการมาเยือนของสมาชิกกลุ่ม SFTP จากเชียงใหม่เป็นครั้งคราว นักเรียนเตรียมทฤษฎีรุ่นแรกๆ มีอาทิ เสกสรร สุขะเสนา , ราชัญ แรงดี , และ แท้ นามแก้ว จากนั้นไม่นานนักกลุ่ม SFTP ที่เชียงใหม่ก็ได้สลายตัวไปเนื่องจากไม่มีสมาชิกเหลือที่เชียงใหม่อีก
ในช่วงปี 2541 ถึง 2546 ของกลุ่มเกือบทั้งหมดได้ไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทและเอกที่ประเทศอังกฤษ การติดต่อสื่อสารของสมาชิกกลุ่มในช่วงนี้ได้ทำโดยทางอินเทอร์เน็ตและทางเว็บไซท์ กิจกรรมของกลุ่มมีเป็นครั้งคราว เช่น ในปี 2543 กลุ่มได้สร้างโฮมเพจรวมลิงค์ภาควิชาฟิสิกส์และกลุ่มดาราศาสตร์ทั่วไทย, ในปี 2544 จัดบรรยายพิเศษ 2 วันในหัวข้อทางจักรวาลวิทยาที่ มน., ในปี 2545 จัดการฝึกอบรม 10 วันทางด้านจักรวาลวิทยาที่เรียกว่า The First Tah Poe School on Cosmology ที่ มน. และได้ตั้ง สำนักเรียนท่าโพธิ์ (The Tah Poe Academia) เพื่อเป็นสภาการศึกษาอิสระสำหรับนักฟิสิกส์รุ่นเยาว์ของประเทศ, ในปี 2546 ได้จัดการอบรมจักรวาลวิทยาอีกครั้ง และมีการจัดประชุมสัมมนาทางด้านฟิสิกส์และเอกภพ (Thai Physics and the Universe) ที่ ม.นเรศวร เป็นต้น
กิจกรรมของกลุ่มเริ่มขึ้นอย่างเต็มตัวในปลายปี 2546 เมื่อ บุรินทร์ กำจัดภัย สำเร็จปริญญาเอกทางจักรวาลวิทยาและกลับมาร่วมกับ ชนัญ ศรีชีวิน และ อลงกรณ์ ขัดวิลาศ สองนักทฤษฎีสสารเนื้อแน่น (Condensed Matter Theory) จัดตั้งหน่วยวิจัยฟิสิกส์รากฐานและจักรวาลวิทยา (FPC) และหน่วยวิจัยทฤษฎีสสารเนื้อแน่น (CMT) ขึ้นที่ภาควิชาฟิสิกส์ มน. คณาจารย์ของท่าโพธิ์จะเรียกว่า “มาสเตอร์ทาพาเอียน” ในเดือน พ.ย.46 สัมมนาท่าโพธิ์ อนุกรมที่ 1 ได้เริ่มต้นขึ้น อนุกรมสัมมนาท่าโพธิ์นี้ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาจวบจนปัจจุบันซึ่งเป็นอนุกรมที่ 20 ปีที่ 9
สภาพของกลุ่มฟิสิกส์ทฤษฎีท่าโพธิ์ในขณะนั้นเป็นเครือข่ายระหว่างหลายสถาบันโดยกลุ่มฐาน (Base Group) ที่ มน. และมีสาขาพะเยาอยู่ที่ มน. วิทยาเขตพะเยา ซึ่งดูแลโดย ราชัญ แรงดี ซึ่งทางกลุ่มมีการแบ่งออกเป็นสี่ส่วนงานคือ สองหน่วยวิจัย สาขาพะเยาและสำนักเรียนท่าโพธิ์ สมาชิกคนอื่นๆ ในเครือข่ายมี อาทิ ชาญกิจ คันฉ่อง (มช.) เกียรติศักดิ์ เทพสุริยะ, ณฤทธิ์ ปิฎกรัชต์ และอิษฎา ทองกูล
ในปี 2547 เครือข่ายกลุ่มฟิสิกส์ทฤษฎีท่าโพธิ์ได้ร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยได้รับความช่วยเหลือจาก ดร. อรรุจี เหมือนวงศ์ จัดการอบรมระดับสูง 10 วัน คือ การประชุมทางด้านจักรวาลวิทยาเป็นครั้งที่ 3 (The Third Thai School on Cosmology) และจัดการประชุมสัมมนาทางด้านฟิสิกส์และเอกภพเป็นครั้งที่ 2 และได้จัดประชุมสัมมนาครั้งที่ 3 ในปี 2548 รวมถึงการฝึกอบรมทางด้านพลังงานมืด (Dark Energy) ที่ มน.
กิจกรรมการสัมมนาหรือฝึกอบรมที่เครือข่ายกลุ่มฟิสิกส์ทฤษฎีท่าโพธิ์จัดขึ้นนั้น หลายครั้งเป็นกิจกรรมระดับนานาชาติและได้รับเงินทุนสนับสนุนจากศูนย์ฟิสิกส์ทฤษฎีนานาชาติ (ICTP) ประเทศอิตาลีกับอีกหลายองค์กรระดับชาติ
อย่างไรก็ดีในปี 2549 ได้มีการยกเลิกเครือข่ายท่าโพธิ์ลง ความล้มเหลวของการทำงานแบบเครือข่ายนี้เกิดขึ้นเนื่องจากขาดแคลนงบประมาณ เวลา และความคล่องตัวอันเนื่องจากลักษณะของการทำงานเชิงอาสาสมัครของสมาชิกกลุ่มนั่นเอง ในปี 2549 นี้เองกลุ่มได้มีรูปแบบเป็น “สถาบันสำนักเรียน” ที่เป็นทั้งกลุ่มวิจัยและสภาการศึกษาเถื่อนที่เป็นกิจจะลักษณะ ดร.นัฏพงษ์ ยงรัมย์ ได้เข้าร่วมกับสถาบันสำนักเรียนท่าโพธิ์ในปี 2549 นี้เอง
ในปี 2552 หน่วยวิจัยทฤษฎีสสารเนื้อแน่นถูกยกเลิก ส่วนหน่วยวิจัยฟิสิกส์รากฐานและจักรวาลวิทยาได้ถือให้ขึ้นกับภาควิชาฟิสิกส์ มน. โดยสถาบันสำนักเรียนท่าโพธิ์ฯ ได้นิยามตัวเองว่าเป็นระบบการดำเนินการที่ทำการบนสถานที่ของหน่วยวิจัยฟิสิกส์รากฐานและจักรวาลวิทยาของ มน. เหตุการณ์สำคัญในปีนี้ก็คือการจัดประชุมวิชาการ the 4th Siam GR+HEP+Cosmo และฟอรัมเสวนาสาธาณะขึ้นอีกครั้งหนึ่งโดยเปลี่ยนจากชื่อเดิมของการประชุมสัมมนาทางด้านฟิสิกส์และเอกภพ
การที่สถาบันสำนักเรียนท่าโพธิ์ฯได้รับเลือกให้เป็นที่ตั้งของห้องปฏิบัติการวิจัยจักรวาลวิทยา ศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ของ สกอ. จึงเกิดโครงการสถานีฟิสิกส์ศึกษาซึ่งเป็นโครงการฝึกอบรมครูฟิสิกส์ในแนวคิด “โครงสร้างเชิงทฤษฎี” ซึ่งได้เริ่มต้นขึ้นที่โรงเรียนบางมูลนากภูมิวิทยาคม และต่อด้วย โรงเรียนพิจิตรพิทยาคม จังหวัดพิจิตร
กระทั่งในปี 2553 บุรินทร์ กำจัดภัย ซึ่งเป็นหัวหน้าครูของสถาบันฯ มีแนวคิดที่จะสร้างหลักสูตรปริญญาเอกทางฟิสิกส์ทฤษฎีและเพิ่มขนาดหน่วยวิจัยฟิสิกส์รากฐานและจักรวาลวิทยาของภาควิชาฟิสิกส์ให้เป็นศูนย์วิจัยฯ ได้เข้าพบคณะผู้บริหารของสถาบันวิทยาศาสตร์โลกที่สาม (Third World Academy of Science: TWAS) ที่เมือง Trieste อิตาลี เพื่อหารือเรื่องขอรับการสนับสนุน แต่ติดขัดที่ประเทศไทยไม่มีชื่อในรายชื่อประเทศที่ด้อยพัฒนาที่สุดทางวิทยาศาสตร์ (least developed country list) ขององค์กร TWAS ไทยจึงไม่มีสิทธ์ได้รับการสนับสนุนในการสร้างห้องปฏิบัติการประเภทศูนย์วิจัย
ต่อมาในเดือนตุลาคม 2553 บุรินทร์จึงได้เข้าหารือกับ ศ.ดร. สุจินต์ จินายน อธิการบดีของ มน. ในการขยายขนาดกำลังคนของกลุ่มวิจัยทางฟิสิกส์ทฤษฎีและจักรวาลวิทยาของภาควิชาฟิสิกส์เพื่อสร้างหลักสูตรปริญญาเอกเฉพาะทางฟิสิกส์ทฤษฎีขึ้น แต่ก็พบว่าอัตรากำลังอาจารย์ในภาควิชาฟิสิกส์ได้เกินจำนวนที่เหมาะสมแล้ว มหาวิทยาลัยได้สนับสนุนข้อเสนอในการขยายตัวนี้โดยการให้รับ ดร. ธีรภาพ ฉันทวัฒน์ ในต้นปี 2554 เข้าเป็นอาจารย์
บุรินทร์ได้เสนอต่อไปว่าการเปิดหลักสูตรฟิสิกส์ทฤษฎีได้นั้นจำเป็นต้องมีการเพิ่มกำลังคนอีกจำนวนหนึ่งซึ่งไม่อาจใช้กรอบอัตราที่จำกัดของภาควิชาฟิสิกส์ได้ แนวคิดการตั้งสถาบันใหม่ขึ้นเป็นหน่วยงานหนึ่งของมหาวิทยาลัยในลักษณะของวิทยาลัยจึงเกิดขึ้น ข้อเสนอโครงการจัดตั้ง “วิทยาลัยท่าโพธิ์เพื่อการค้นคว้าระดับรากฐาน” ได้เข้าสู่วาระการประชุมสภามหาวิทยาลัยนเรศวร เมื่อวันที่ 30 ม.ค.54
2 เดือนต่อมาสภามหาวิทยาลัยนเรศวรได้ประกาศจัดตั้งให้เป็นหน่วยงานระดับคณะเมื่อวันที่ 14 มี.ค.54 โดยให้ตัดคำว่าท่าโพธิ์ออกจากชื่อหน่วยงาน วันนี้สถาบันฟิสิกส์ทฤษฎีซึ่งเรียกตนเองว่า วิทยาลัยเพื่อการค้นคว้าระดับรากฐาน “สถาบันสำนักเรียนท่าโพธิ์ฯ” หรืออี๊ฟถือเป็นสาขาวิชาฟิสิกส์ที่เป็นหน่วยงานระดับ “คณะ” แห่งแรกและเป็นสถาบันฟิสิกส์ทฤษฎีแห่งแรกของประเทศเช่นกัน
การดำเนินกิจการของวิทยาลัยอี๊ฟยังคงต่อเนื่องจากสถาบันสำนักเรียนท่าโพธิ์ฯ ที่เคยเป็นสถาบันเถื่อน อาทิ การวิจัย การสอน การสอบและประสาทคุณวุฒิต่างๆของท่าโพธิ์ การสัมมนาและจัดประชุมวิชาการ โครงการสถานีฟิสิกส์ศึกษาซึ่งเป็นโครงการอบรมครูและให้ความรู้แก่ประชาชน เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้ผนวกรวม สถานวิจัยเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการด้านฟิสิกส์ (NEP) ของ มน. ไว้ในสังกัดอีกด้วย
เมื่อเร็วๆ นี้สถาบันอี๊ฟมีมาสเตอร์ทาพาเอียนที่เข้าร่วมใหม่ตามลำดับคือ ดร. คัมภีร์ ค้าแหวน, ดร. Antonio de Felice, ศ.ดร. Eduard B. Manoukian, ดร. เสกสรร สุขะเสนา และ ดร. พิทยุทธ์ วงศ์จันทร์ และนักวิจัยหลังปริญญาเอกจำนวนหนึ่ง
สถาบันเถืิ่อนที่มีอายุราว 17 ปีนี้มีศิษย์เก่าทั้งที่สามารถสำเร็จการศึกษาจากท่าโพธิ์และที่ไม่สามารถสอบผ่านขั้นตอนจนได้คุณวุฒิของท่าโพธิ์ได้อยู่ราวกว่าร้อยคน วันนี้วิทยาลัยอี๊ฟกำลังดำเนินกิจกรรมวิจัยในสาขาวิชาจักรวาลวิทยา ทฤษฎีสัมพัทธภาพ และฟิสิกส์พลังงานสูงเชิงทฤษฎี การฝึกอบรมนักวิจัยหลังปริญญาเอก (postdoctoral training) และกำลังเปิดรับนิสิตเข้าเรียนในปีการศึกษา 2555 ตามหลักสูตรของมหาวิทยาลัยนเรศวรคือ
1. ปริญญาเอก ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (ฟิสิกส์ทฤษฎี) ภาคภาษาอังกฤษและ
2. ประกาศนียบัตรบัณฑิตชั้นสูง (สนามควอนตัม ความโน้มถ่วงและจักรวาลวิทยา) ภาคภาษาอังกฤษ(หลักสูตรสูงกว่าปริญญาโท)
รวมทั้งมีโครงการเปิด หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต (ฟิสิกส์ทฤษฎี) ภาคภาษาไทย (หลักสูตรหลังปริญญาตรี)ในภาคเรียนฤดูร้อนในปี 2556 โดยใช้เวลาเรียนสองภาคเรียนฤดูร้อนซึ่งเหมาะสำหรับนักวิจัย ครู อาจารย์หรือนิสิตปริญญาโทสาขาอื่นๆที่ต้องการมีพื้นฐานทางฟิสิกส์ทฤษฎี ผู้สำเร็จการศึกษาจะได้รับคุณวุฒิที่ไม่เป็นทางการของสถาบันสำนักเรียนท่าโพธิ์ฯ อีกด้วย นอกจากนี้แล้วความร่วมมือตามโครงการสถานีฟิสิกส์ศึกษากำลังจะเริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการที่โรงเรียน อบจ. กำแพงเพชรและมหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร
วันนี้สถาบัน IF ไม่มากก็น้อยเป็นข้อพิสูจน์ความมุ่งมั่นของเยาวชนกลุ่มหนึ่งที่ประกาศไว้เมื่อนานมาแล้วว่า
“เราจะสร้างโรงเรียนฟิสิกส์ที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศขึ้นที่นี่” (เจตนารมย์ท่าโพธิ์ 8 สิงหาคม 2539 ในวันประกาศตั้งกลุ่มฟิสิกส์ทฤษฎีท่าโพธิ์)
*******************
รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถสอบถามได้ที่ if@nu.ac.th หรือ http://www.tptp.in.th/if
สถานที่ติดต่อ
วิทยาลัยเพื่อการค้นคว้าระดับรากฐาน “สถาบันสำนักเรียนท่าโพธิ์ฯ”
อาคารมหาธรรมราชา ชั้น 2
มหาวิทยาลัยนเรศวร อ.เมือง จ.พิษณุโลก 65000