เมื่อประมาณปลายปี 2548 ผมได้พบกับคุณวินทร์ เลียววารินทร์ นักเขียนชื่อดังในเวทีเสวนาแห่งหนึ่งที่ทั้งผมและคุณวินทร์ได้รับเชิญให้แสดงทรรศนะร่วมกันเกี่ยวกับจักรวาล โดยมี ดร. บัญชา ธนบุญสมบัติ เป็นผู้ดำเนินรายการ ทั้งสองท่านได้ชวนผมให้เขียนบทความเล่าเรื่องต่างๆ ที่เป็นแนวความคิดของผมเองหรือเรื่องราวต่างๆของตัวผมเอง ผมซึ่งแทบไม่เคยแม้แต่คิดเลยที่จะเป็นนักเขียนก็ย่อมไม่มั่นใจว่าตัวเองจะสามารถเขียนได้ ประกอบกับภาษาไทยของผมก็แย่มาก ก็เลยบอกทั้งสองท่านไปว่ามันคงเป็นเรื่องลำบากมากที่ผมจะเขียนบทความอะไรสักอย่างให้ออกมาดีได้ วันนั้นทั้งสองท่านได้พูดให้กำลังใจผมมากมาย ตอนนี้ผมกำลังเขียนบทความ แม้ผมจะไม่ได้เป็นนักอ่านตัวยงและไม่เคยมีความรู้เกี่ยวกับการเขียนจริงๆ จังๆ เลย ผมขอยอมรับครับว่าเขียนบทความไม่เป็น แต่ผมเขียน
ตอนผมเป็นเด็กชั้น ป.5 ผมได้รับของรางวัลจากการส่งฉลากยากันยุงยี่ห้อหนึ่งไปชิงโชคได้ของรางวัลเป็น “คาสิโอโทน” ตัวเล็กๆซึ่งผมชอบเล่นมันมาก เมื่อโตขึ้นมาเรียน ชั้น ม.ต้น ผมก็ได้รับของขวัญจากคุณพ่อเป็นอิเล็กโทนตัวใหญ่ขึ้นมาหน่อยที่สามารถจับคอร์ดต่างๆได้ผมเริ่มซื้อหนังสือคู่มือเล่นคอร์ดตัวเลขอย่างง่ายมาอ่าน ผมอ่านมันได้น้อยมากเพราะผมขี้เกียจ เลยไม่ได้ความรู้เกี่ยวกับดนตรีเท่าใดนัก ตอนนี้ผมคิดจะเรียนเปียโน ก็แทบไม่มีเวลาเหลือจากธุระอื่นๆ ที่จะปลีกไปเรียนได้ ผมมีเปียโนไฟฟ้าตัวใหญ่อยู่ในห้องทำงานที่ภาควิชา เมื่อมีคนถามผมว่าผมมีเปียโนแล้วเล่นเปียโนเป็นหรือ ผมตอบว่าเล่นเปียโนไม่เป็น แต่ผมเล่น
ผมเคยกลัวที่จะว่ายน้ำ จากความฝังใจในวัยเด็กที่เคยจมน้ำ ตอนผมอายุ 28 ผมมีปัญหาชีวิตบางอย่างที่ทำให้ผมเกิดอยากจะเอาชนะตัวเองขึ้นมา ผมเลยไปสระว่ายน้ำ ลงน้ำไปดำน้ำที่ไม่ลึกมากนัก สูดหายใจเต็มท้องเก็บไว้และพยายามกวักกว่ายมือเท้าไป ให้ดำไปข้างหน้าได้ จากนั้นอีกไม่ก็ปีผมก็เริ่มเลียนแบบท่าว่ายน้ำของคนอื่นๆบ้าง คิดท่าว่ายน้ำของตัวเองบ้างเช่น ท่าหมา หรือท่าหมุนตัว โดยอาศัยความรู้เล็กๆ น้อยของวิชาฟิสิกส์ ผมได้ลองเลียนแบบท่ากรรเชียง ท่าผีเสื้อ ท่ากบ และฟรีสไตล์ จนวันนี้ถ้ามีใครถามผมว่าผมว่ายน้ำเป็นไหม ผมตอบว่าว่ายน้ำไม่เป็น แต่ผมว่าย
ผมเรียนชั้นมัธยมโดยได้เรียนพิเศษบ้าง แต่ก็ถือว่าผมเรียนพิเศษวิชาฟิสิกส์น้อยมาก ผมเคยเข้าไปเรียนกวดวิชาฟิสิกส์ในกรุงเทพ เรียนได้ห้าวันก็หนีกลับบ้าน ไม่อดทน เพราะเรียนไม่รู้เรื่องและไม่ชอบความวุ่นวายในเมืองหลวง ผมคิดว่ากลับมานั่งอ่านเองเข้าใจมากกว่า และถ้าไม่เข้าใจก็เก็บไว้ถามครูที่โรงเรียน ผมไม่ชอบทำโจทย์ปัญหาต่างๆ ผมชอบอ่านและทำความเข้าใจไปเรื่อยๆ ผมอ่านทำความเข้าใจไปเรื่อยๆ จนจบตำราเรียนฟิสิกส์ทุกเล่มของชั้นมัธยมปลายตั้งแต่ผมยังไม่ขึ้น ม.6 โดยผมขี้เกียจที่จะทำโจทย์ปัญหาต่างๆ ผมทำโจทย์ฟิสิกส์แทบไม่เป็น แต่ผมคิดว่าผมเข้าใจฟิสิกส์
อย่างนี้แหละครับ ที่สมัยนี้เขาเรียกว่าเด็กแนว เป็นศิลปินสูง (เอาแต่ใจตัวเองเป็นที่ตั้ง) เป็นอาร์ตตัวพ่อ
แต่.......
มันจะดีกว่านี้ไหม
ถ้าผม “เป็นนักอ่านตัวยงและได้เรียนรู้วิธีการเขียนบทความอย่างจริงจัง” สักหน่อย
มันจะดีกว่านี้ไหม
ถ้าตั้งแต่ยังเป็นเด็กผม “ตั้งใจอ่านหนังสือวิธีการเล่นเปียโนและเรียนรู้เขียนโน๊ตสากล” สักนิด
มันจะดีกว่านี้ไหม
ถ้าผม “สนใจที่จะเรียนว่ายน้ำหรืออ่านหนังสือว่ายน้ำเพิ่มขึ้น” สักหน่อย
มันจะดีกว่านี้ไหม
ถ้าตอน ม. ปลาย ผม “สนใจทำโจทย์ปัญหาและแบบฝึกหัดฟิสิกส์เพิ่มขึ้น” สักนิด
ผมไม่ค่อยชอบอ่านหยิบหนังสือขึ้นมาอ่านสักเท่าไรนัก หรือถ้าหยิบมาอ่านก็จะอ่านผ่านๆ ผมจึงเป็น“เป็ด”เกี่ยวกับความรู้รอบตัวและรู้ไม่จริงสักเรื่อง (ยกเว้นบางเรื่องที่ผมสนใจมันจริงๆ) ผมจึงไม่ค่อยได้อ่านหนังสือประเภทนวนิยาย จิตวิทยาการพัฒนาตนเอง ธรรมมะ การอ่านบุคลิกภาพคน ภาวะผู้นำ หรือหนังสือประเภทกระตุ้นให้เราอยากรวยอะไรทำนองนี้อย่างจริงจังเลย ผมต้องขอยอมรับอย่างจริงใจว่าผมไม่ใช่นักอ่าน ส่วนใหญ่ผมเรียนรู้จากข้อผิดพลาดต่างๆ ที่เกิดขึ้นตามประสบการณ์ของผมเองหรือจากหนังสือเฉพาะเรื่องที่ผมสนใจจริงๆ เท่านั้น ผมเรียนรู้อย่างเป็นธรรมชาติของผมเอง และเรื่องที่เพิ่งเล่าไปทั้งสี่เรื่องก็เช่นกัน
ผมมีความคิดว่า ผลงานที่เป็นเลิศย่อมเกิดจากเสรีภาพ เช่น จิตรกรเอกของโลก คงไม่อาจวาดภาพที่มีคุณค่าทางศิลป์ชั้นเลิศได้ ถ้าวันนั้น สีที่ใช้วาดหมด หรือไม่ก็กำลังมีทะเลาะกับภรรยาอยู่ หรือไม่ก็มีนายทุนผู้ว่าจ้างมานั่งสั่งอยู่ข้างๆ ว่าจะเอาภาพอย่างโน้นอย่างนี้ และแน่นอนว่า ถ้าภาพๆ หนึ่งถูกวาดโดยมีศิลปินเอกของโลกตั้งแต่สองคนขึ้นไปร่วมกันวาดในผ้าผืนเดียวกัน ผลงานที่ออกมาอาจดูไม่จืดเลยที่เดียว การสรรสร้างงานศิลป์ต้องใช้ศิลปินคนเดียว เช่นการวาดภาพ แต่งเนื้อและทำนองเพลง แต่งบทกวี เพราะงานศิลป์ต้องมีจิตวิญญาณของชิ้นงานที่เป็นเอกภาพ แต่การสะท้อนงานศิลป์ย่อมต้องใช้หลายสิ่งร่วมกันเช่นใช้ภาพวาดที่ใช้หลายสีและเทคนิค เพลงที่ต้องใช้นักดนตรีหลายคนและเครื่องดนตรีหลายชิ้นในการบรรเลง เป็นต้น
หลายปีตั้งแต่เข้าเรียนมหาวิทยาลัยจนกระทั่งปัจจุบันนี้ เป็นประจำที่จะมีคำถามจากหลายๆ คน เช่น ครูของผม ญาติพี่น้อง เพื่อน เพื่อนบ้าน (หลายคนมักชอบอวดกันว่าลูกฉันเรียนที่คณะนั้้นนี้ ที่มอ นู้น โน้น นี้ นั้น นะ) ที่ผ่านไปมาในชีวิตผมถามผมว่า
“ทำไมนายมาเรียนฟิสิกส์ ทำไมนายไม่เรียนคณะโน้น ทำไมนายไม่เรียนคณะนี้ละ แล้วทำไมไม่ไปเรียนที่นั่น ที่นี่ ละ”
คำตอบของผมประเภทว่า “เพราะชอบครับ” เป็นคำตอบแรกๆในวัยเยาว์ของผม แต่เมื่อเวลาผ่านไป เรียนมากขึ้นเรื่อยๆ คำตอบของผมก็เริ่มจะดูดีขึ้นเรื่อยๆ แสดง (อวด) ภูมิรู้มากขึ้นเรื่อยๆ เช่นว่า
“เพราะฟิสิกส์เป็นรากฐานของเทคโนโลยีที่สำคัญครับ”
“เพราะฟิสิกส์มีโครงสร้างในตัวเองที่เป็นเอกภาพ ฟิสิกส์จึงมีความงามครับ”
“เพราะฟิสิกส์มันมีสมมาตร ฟิสิกส์จึงเป็นสากลครับ”
…....
แต่เอาเข้าจริงๆแล้ว ไม่มีคำตอบใดเลยที่ผมพอใจอย่างแท้จริง และยิ่งโตขึ้นก็ยิ่งรู้ว่า วิชาอื่นๆ ที่ผมเคยมองข้ามไป เช่น คณิตศาสตร์ สถาปัตย์ เศรษฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และดนตรี ก็ล้วนมีเสน่ห์ดึงดูดผมเป็นอย่างมาก
ตอนนี้ผมก็เลยลังเลที่จะมีคำตอบให้ใครใครว่าเหตุใดผมจึงมาเรียนฟิสิกส์และมีอาชีพเป็นนักฟิสิกส์ (อาชีพที่ต้องใช้ความรู้ฟิสิกส์หาเลี้ยงปากท้อง) ผมคิดว่าคำตอบที่แท้จริงของผมน่าจะเกิดจากการที่ผมได้เสรีภาพในบ่ายวันหนึ่่งในสมัยที่ผมเพิ่งเริ่มเรียน ม.4 บ่ายวันนั้นทำให้ผมมีความรู้สึกที่ดีขึ้นอย่างมากกับวิชาฟิสิกส์
เรื่องที่จะเล่านั้นเพิ่งจะเริ่มครับ ที่อ่านไปก่อนหน้านี้เป็นเพียงเกริ่นนำ
ผมเรียนชั้น ม.4 สายวิทยาศาสตร์ที่โรงเรียนประจำอำเภอหล่มสัก บ้านเกิดของผม ผู้ใหญ่ทุกคนเห็นว่าเด็กหัวดีต้องเรียนสายวิทย์ ผมจึงต้องเรียนสายวิทย์ทั้งๆ ที่ในขณะนั้นผมชอบไวยากรณ์ภาษาอังกฤษมากที่สุด ผมเริ่มเรียนฟิสิกส์ ม.4 เรื่องเลขนัยสำคัญ เวกเตอร์และการแปลงหน่วยโดยต้องใช้การท่องจำสูตรโดยที่ไม่รู้ว่าทำไมจึงต้องจำ ความรู้สึกนี้ทรมานสาหัสในฐานะนักเรียน หลักการคิดคำนวณเลขนัยสำคัญมักได้มาจากคู่มือของสำนักกวดวิชาทั้งหลาย “จัดมา” วางขายตามร้านหนังสือโดยไม่ค่อยจะแสดงการพิสูจน์และไม่ค่อยมีคำอธิบายที่ผมจะยอมรับได้ด้วยเหตุผล ผมจึงมีเจตคติอันเลวร้ายต่อวิชาฟิสิกส์ เคมี และคณิตศาสตร์เป็นอย่างมากในขณะนั้น และผมรู้สึกว่าชีววิทยา ม.4 กับภาษาอังกฤษน่าเรียนกว่ามาก เมื่อเรียนผ่านไปเดือนหนึ่ง ก็มีการสอบเก็บคะแนนวิชาฟิสิกส์ ผมเครียดมากและมีมายาหลอนในทางลบๆ ว่าเพื่อนๆ ส่วนใหญ่ดูจะเรียนฟิสิกส์รู้เรื่องดี มีแต่ผมเท่านั้นที่โชคร้ายพยายามทำความเข้าใจเท่าไรก็ไม่ get (คำว่า get นี้เพิ่งจะเริ่มมีใช้ในหมู่วัยรุ่นสมัยนั้น) ผมบอกคุณแม่ว่าผมไม่อยากเรียนสายวิทย์แล้วและอยากย้ายไปเรียนสายศิลป์-ภาษาฝรั่งเศส หลังจากอ้อนและให้เหตุผลต่างๆ คุณพ่อและคุณแม่จึงจะให้ผมย้ายโรงเรียนไปเรียนสายศิลป์-ฝรั่งเศสที่โรงเรียนประจำอำเภอหล่มเก่าซึ่งห่างจากบ้านเราไปประมาณ 10 กิโลเมตร ผมจึงเบาใจและไม่กังวลกับการสอบวิชาฟิสิกส์ที่กำลังจะมาถึงในวันจันทร์ถัดไป อย่างไรก็ดี การย้ายที่เรียนต้องใช่้เวลาตามกระบวนการ ดังนั้นคุณแม่จึงยังให้ผมต้องไปโรงเรียนตามปกติจนกว่าจะถึงวันย้ายที่เรียน และแน่นอนว่าผมต้องเข้าสอบวิชาฟิสิกส์ ดังนั้นคุณแม่จึงให้ผมอ่านหนังสือเตรียมสอบด้วยแต่ให้เป็นเพียงการเตรียมสอบเล่นๆ เพราะถึงอย่างไรก็กำลังจะย้ายโรงเรียนอยู่ดี เช้าวันเสาร์ผมไปหลบอ่านหนังสืออยู่บ้านอาก๋งและอาม้าของผมซึ่งเป็นตึกแถวที่มีสวนต้นไม้หลังบ้านที่มีต้นมะม่วง อาม้าทำมะม่วงจิ้มน้ำปลาหวานและมีขนมให้ผมกิน ผมเอาแต่เล่นจนบ่ายจึงเริ่มนอนอ่านบนเก้าอี้หวายที่เอนตัวนอนได้ ผมจัดการกับไมโลเย็นที่อาม้าทำไว้ให้และเริ่มอ่านประชดวิชาฟิสิกส์แบบสุดสุด คือ เริ่มอ่านตั้งแต่หน้าปกแบบเรียนของ สสวท. และไล่ทีละบรรทัดทุกคำ
“แบบเรียน วิชา ฟิสิกส์ ว 021.......พิมพ์ที่โรงพิมพ์คุรุสภา ลาดพร้าว.......นายเอกวิทย์ ณ ถลาง อธิบดีกรมวิชาการ.......สารบัญ.......”
แล้วก็ไปเดินเล่นปั้นจักรยานไปคุยกับเพื่อน.......กลับมานอนอ่านต่อทุกคำ ทุกบรรทัด จนจบบทที่หนึ่่ง.......แล้วประชด อ่านอีกรอบ.......เพื่อความสะใจ ส่งท้าย
ไร้ซึ่งแรงกดดันเพราะถึงสอบตกก็ไม่มีผลใดๆ อีกแล้ว เสรีภาพเต็มที่
ผลปรากฎว่า ผมเริ่มเห็นว่าคำอธิบายในหนังสือปกขี้เหร่ของ สสวท. มันเข้าใจได้ง่ายกว่าสิ่งที่อ่านได้จากคู่มือเล่มสวยราคาแพงของสำนักกวดวิชาต่างๆ ผมเริ่มเห็นความ “เข้าท่า” ของมันมากขึ้นเรื่อยๆ จากการอ่านในบ่ายวันนั้นและวันถัดมาคือวันอาทิตย์ผมก็เลยอ่านบทที่ 2 แบบประชดเช่นเคย ด้วยความที่ยังไม่คิดอะไร วันจันทร์ผมก็ไปสอบ ข้อสอบเป็นแบบปรนัยคือกากบาท ผมทำผิดไปหลายข้อและผมก็ไม่ได้ตั้งใจทำข้อสอบด้วยซ๊ำเพราะกำลังจะเลิกเรียนสายวิทย์แล้ว ผมแทบไม่เชื่อว่าผลสอบประกาศในวันอังคารออกมาว่าผมได้คะแนนสูงสุดในห้องทั้งๆ ที่ทำผิดไปหลายข้อ ผมมารู้ภายหลังว่าเพื่อนๆ ก็เรียนไม่ค่อยรู้เรื่องเช่นกันกับผม แม้ครูท่านจะตั้งใจสอนพวกเราอย่างมาก นั่นก็เป็นเพราะทุกคนมักพูดว่าฟิสิกส์เป็นวิชายากและเป็นวิชาสำคัญมาก เราก็เลยตั้งใจกันเกินไป มีแรงกดดันในใจ และไร้ซึ่งเสรีภาพที่จะเรียนอย่างเบาสบาย จึงเรียนกันไม่เข้าใจ
บ่ายวันเสาร์นั้นได้เปลี่ยนเส้นทางชีวิตของผมจนทุกวันนี้ ผมรู้สึกสนุกกับการอ่านตำราเรียนฟิสิกส์ปกขี้เหร่ของ สสวท. ผมขอให้คุณแม่ยกเลิกการย้ายโรงเรียนและจากนั้นมาผมจะไม่พยายามที่จะ “ตั้งใจ” เรียนวิชาใดๆ เลย หากแต่ผมจะเริ่มจากการมองวิชานั้นในแง่ดีๆ หาประเด็นดีๆ ในวิชานั้นเท่าที่ผมพอจะมองเห็นได้และเริ่มอ่านมันตามแบบของผมเองแบบสบายๆ
ผมได้รับความเป็นเลิศในการเรียนฟิสิกส์ ม.ปลาย
เพราะผมมีอิสรภาพในการเรียนอย่างมีความสุขและเบาสบายไม่แข่งขัน
มันเริ่มจากการที่ผมเริ่่มมองมันในแง่บวก อยากเข้าใจมัน
เอ........แต่มันจะดีกว่านี้ไหม
ถ้าผม “สนใจทำโจทย์ปัญหาและแบบฝึกหัดฟิสิกส์เพิ่มขึ้น” สักนิด
ความเป็นศิลปินมีได้ครับ แต่เติมความเป็นมืออาชีพเข้าไปด้วยสักนิดก็จะดี
ผมเคยเขียนเรื่อง เหตุผลและความหมาย ในบทความก่อนหน้านี้
สองสิ่งนี้ทำให้คนสองประเภทคือ ศิลปิน และ มืออาชีพ แตกต่างกัน
คนที่มีทั้งสองสิ่งนี้อย่างสมดุลขอเรียกว่า เอกบุรุษ ครับ
**********************
เกี่ยวกับผู้เขียน
บุรินทร์ กำจัดภัย
สำเร็จการศึกษาด้านฟิสิกส์ทฤษฎีและจักรวาลวิทยาจากประเทศอังกฤษ
มีอาชีพเป็นนักฟิสิกส์ทฤษฎี ปัจจุบันทำงานวิจัยและสอนในฐานะอาจารย์ประจำที่สถาบันสำนักเรียนท่าโพธิ์ฯ วิทยาลัยเพื่อการค้นคว้าระดับรากฐานหรือ IF มหาวิทยาลัยนเรศวร
Perspective 7 เป็นบทความเกี่ยวกับทรรศนะของตัวผู้เขียนเองซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์ ต่อธรรมชาติ สังคม และปรัชญา ทรรศนะเหล่านี้นำเสนอในหลายประเด็นผ่านหลายเรื่องราวจากประสบการณ์ของผู้เขียนเองโดยผ่านเลนส์ตาของวิทยาศาสตร์
“สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าศีลธรรมและจารีต คือสติและการรู้จักตัวตนของตัวเอง"