xs
xsm
sm
md
lg

ตามหาสารออกฤทธิ์ใน “ต้นดอกครุย” พืชท้องถิ่นอีสาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพต้นบ๋าซาดหรือต้นดอกครุย  (ดร.ประไพรัตน์ สีพลไกร)
แม้แต่คนอีสานก็มีน้อยคนที่จะรู้จัก “ต้นดอกครุย” หรือ “ต้นบ๋าซาด” พืชประจำถิ่นที่พบได้ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่ในฐานะที่มีเลือดอีสานเต็มเปี่ยม “ดร.ประไพรัตน์ สีพลไกร” อาจารย์เคมีจากมหาสารคามจึงพยายามค้นหาสารออกฤทธิ์ของพืชชนิดนี้ ซึ่งผสมกับสมุนไพรอื่นในยาดองแล้วช่วยบรรเทาไมเกรน ลดไข้ และต้านมะเร็ง

ดร.ประไพรัตน์ สีพลไกร อาจารย์ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม บอกทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า งานของเธอคือการหาสารออกฤทธิ์ของพืชสมุนไพรไทย และตอนนี้มีสมุนไพรชนิดหนึ่งที่เธอสนใจคือ “ต้นดอกครุย” หรือ “ต้นบ๋าซาด” ซึ่งเป็นพืชท้องถิ่นในอีสาน แต่น้อยคนที่จะรู้จักพืชชนิดนี้

ตามตำราสมุนไพรเมื่อนำต้นดอกครุยนี้ไปใช้ร่วมกับสมุนไพรอื่นๆ ในรูปแบบของยาดองจะช่วยบรรเทาอาการไมเกรน ลดไข้ รวมถึงรักษามะเร็ง ซึ่งจากการศึกษาของเธอเมื่อปี 2542 ดร.ประไพรัตน์บอกเราว่าการทดลองในระดับห้องปฏิบัติการพบว่าเมื่อใช้พืชชนิดนี้ร่วมกับสมุนไพนอื่นๆ จะมีต้านเซลล์มะเร็งในระดับเซลล์เพาะเลี้ยงได้จริง และได้ตีพิมพ์การศึกษาดังกล่าววงวารสารเจอร์นัลออฟเนชันนัลโปรดัคส์ (Journal of National Product)

นอกจากเป็นพืชที่มีคนรู้จักน้อยยังมีงานวิจัยเกี่ยวกับต้นดอกครุยน้อยมาก หากไม่นับงานวิจัยของ ดร.ประไพรัตน์ ก่อนหน้าเธอมีผู้วิจัยพืชชนิดเพียง 1 ผลงานเท่านั้น

อย่างไรก็ดี อาจารย์เคมีซึ่งเป็นชาวมหาสารคามโดยกำเนิดได้หยุดงานวิจัยหาสารออกฤทธิ์จากต้นบ๋าซาดไปช่วงหนึ่งหลังจากตีพิมพ์ผลงานวิจัยดังกล่าว แต่ตอนนี้เธอได้กลับมาหาสารออกฤทธิ์ของพืชชนิดนี้อีกครั้ง พร้อมทั้งรับทุนวิจัยจากรัฐบาลออสเตรเลียไปทำวิจัยระยะสั้น 6 เดือน ที่มหาวิทยาลัยวอลลองกอง (Wollongong University) ออสเตรเลีย

ดร.ประไพรัตน์เคยมีความร่วมมือกับนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยวอลลองกองหลังจากเคยได้รับทุนแลกเปลี่ยนอาจารย์ก่อนหน้านี้ และตอนนี้เธอได้เตรียมสารสกัดหยาบเพื่อนำไปศึกษาหาสารออกฤทธิ์ต่อที่ออสเตรเลีย ซึ่งมีความพร้อมทางด้านเครื่องมือวิทยาศาสตร์ให้เธอได้ใช้ศึกษาสารออกฤทธิ์ พร้อมทั้งหาโครงสร้างทางเคมีโดยใช้เครื่องแมสสเปกโตรสโคปี (Mass Spectroscopy) เครื่องสั่นพ้องแม่เหล็กนิวเคลียร์ (Nuclear magnetic resonance) หรือเอ็นเอ็มอาร์ (NMR) และเครื่องมือวิทยาศาสตร์อื่นๆ

“ทำที่ไทยก็ทำได้ แต่ถ้าไปที่ออสเตรเลียก็จะได้เปรียบในเรื่องเครื่องไม้เครื่องมือ มีความพร้อมในการทำงานได้เร็วกว่า และไปที่ออสเตรเลียก็จะได้ลุยทำวิจัยกับเรื่องๆ เดียวได้เต็มที่” ดร.ประไพรัตน์กล่าว และบอกด้วยว่าการหาสารออกฤทธิ์เป็นเรื่องยากและต้องใช้เวลานาน เมื่อได้สารออกฤทธิ์แล้วยังมีเส้นทางอีกยาวไกลกว่าจะถึงการพัฒนาสู่ยารักษาโรค
ดร.ประไพรัตน์ สีพลไกร
กำลังโหลดความคิดเห็น