ศูนย์สื่อสารองค์กร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย - อาจารย์จุฬาฯ ทดสอบสารออกฤทธิ์ “มะรุม” เพื่อหาข้อมูลวิทยาศาสตร์หนุนสรรพคุณไพรไทย พบสารสกัดจากพืชชนิดนี้ช่วยยับยั้งการย่อยแป้งเป็นน้ำตาลในลำไส้เล็ก และยังขัดขวางการดูดซึมคอเลสเตอรอลเข้าสู่ร่างกาย แต่ข้อมูลยังไม่แน่ชัดพอที่จะยืนยัน พร้อมหากใช้ยาแผนปัจจุบันควบคุมน้ำตาลให้ระวังในการใช้มะรุมเพราะระดับน้ำตาลในเลือดอาจต่ำเฉียบพลัน
ผศ.ดร.สิริชัย อดิศักดิ์วัฒนา อาจารย์ภาควิชาโภชนาการและการกำหนดอาหาร คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ศึกษาและวิจัยเรื่องฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์อัลฟา-กลุโคซิเดสและกลไกการลดไขมันของสารสกัดใบมะรุม ด้วยเหตุผลว่าใบมะรุมเป้นสมุนไพรที่คนนิยมใช้มานาน และมีร้านค้านิยมนำใบมะรุมแห้งมาบรรจุเป็นแคปซูล และเชื่อกันว่ามีสรรพคุณลดน้ำตาลในเลือด ลดความดันโลหิต รักษามะเร็งและอีกหลายสรรพคุณ แต่ยังขาดข้อมูลวิทยาศาสตร์ยืนยัน จึงต้องศึกษาเพิ่มเติมเพื่อให้ประชาชนทราบถึงข้อดี ข้อเสีย และข้อควรระวังในการใช้
อาจารย์จากคณะสหเวชศาสตร์ จุฬาฯ ได้ศึกษากลไกการออกฤทธิ์ของมะรุมในการลดน้ำตาลและไขมันในเลือด โดยได้รับการสนับสนุนวิจัยจากมูลนิธิชัยพัฒนา ซึ่งในเบื้องต้นพบข้อมุลงานวิจัยของต่างชาติ โดยเฉพาะอินเดียที่เป็นแหล่งเพาะปลูกมะรุมมากที่สุด พบว่ามีงานวิจัยที่กล่าวถึงการออกฤทธิ์ของสารสกัดจากมะรุมในการลดระดับไขมันและน้ำตาลในเลือดในสัตว์ทดลองที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวาน ซึ่งหนูเบาหวานที่ได้รับสารสกัดจากใบมะรุม 1-2 เดือน มีระดับไขมันและน้ำตาลในเลือดลดลง แต่ยังไม่มีผู้ศึกษากลไกการออกฤทธิ์ของใบมะรุมมากนัก
ทาง ผศ.ดร.สิริชัยจึงได้ศึกษาในเรื่องกลไกการออกฤทธิ์ของสารสกัดจากใบมะรุมเพิ่ม ซึ่งการศึกษาในห้องปฏิบัติการพบว่าสารสกัดจากใบมะรุมมีฤทธิ์ในการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่ใช้ย่อยแป้งให้เป็นน้ำตาลในลำไลส้เล็ก ทำให้การย่อยแป้งเป็นน้ำตาลช้าลง จึงเป็นประโยชน์แก่ผู้ป่วยเบาหวานที่ต้องควบคุมระดับน้ำตาลภายหลังรับประทานอาหาร นอกจากนี้ยังพบด้วยว่าสารสกัดจากใบมะรุมมีฤทธิ์ในการขัดขวางการดูดซึมไขมันกลุ่มคอเลสเตอรอลเข้าสู่ร่างกาย ทำให้คอเลสเตอรอลเข้าสู่กระแสเลือดน้อยลง
“งานวิจัยนี้นับเป็นก้าวแรกที่จะตอบได้ว่ากลไกในการออกฤทธิ์ของใมะรุมเป็นอย่างไร แต่อย่างไรก็ตามข้อมูลที่มีนั้นยังไม่มากพอที่จะยืนยันได้แน่ชัดว่าสารสกัดจากใบมะรุมสามารถลดระดับน้ำตาลหรือไขมันในเลือดในคนได้ รวมทั้งต้องศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องพิษหรืออาการไม่พึงประสงค์ ซึ่งหากใช้ไปนานๆ บางคนอาจจะเกิดอาการแพ้หรือมีพิษเรื้อรังได้” ข้อมูลจากศูนย์สื่อสารองค์กร จุฬาฯ ระบุ
ขณะนี้งานวิจัยของ ผศ.ดร.สิริชัยอยู่ระหว่างการศึกษาในคนปกติ โดยใชสารสกัดจากใบมะรุมรูปแบบผงแห้งในรูปชาใบมะรุม และให้กลุ่มตัวอย่างดื่มประมาณ 1-2 แก้ว หลังรับประทานอาหาร เพื่อศึกษาว่าสามารถชะลอการย่อยแป้งและไขมันจากอาหารได้หรือไม่ และส่งผลต่อระดับน้ำตาลและไขมันในเลือดอย่างไร ซึ่งในอนาคตจะได้ปรับปรุงสารสกัดใบมะรุมให้เหมาะแก่การรับประทาน ทั้งในด้านรสชาติ และรูปแบบโดยอาจจะมีการพัฒนาให้เป็นผงในการประกอบอาหาร เช่น เครื่องแกง ผงปรุงรส เป็นต้น หรือประยุกต์เป็นอาห่ารควบคุมน้ำหนักและอาหารควบคุมแคลอรีสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน
สำหรับข้อควรระวังในการรับปรัทานใบมะรุมแห้งนั้น ผศ.ดร.สิริชัย กล่าวว่า ควรพิจารณาตัวเองว่าเป็นผู้มีสุขภาพดีอยู่แล้วหรือไม่ หากใช่ก็ไม่จำเป็นต้องรับประทานใบมะรุมแห้งในปริมาณสูงเพื่อป้องกันโรค เพราะการรับประทานอาหารจำพวกผักและผลไม้เป็นประจำก็ทำให้มีสุขภาพที่ดีเช่นกัน แต่หากต้องการใช้เป็นทางเลือกในการรักษาก็ต้องศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับใบมะรุมเพิ่มเติมหรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เช่น แพทย์ เภสัชกร บคุลากรทางการแพทย์ ก่อนตัดสินใจใช้
“หากรับประทานในรูปแคปซูลแล้วเกิดอาการคลื่นไส้อาเจียนหลังรับประทาน คันตามผิวหนัง ร่างกายอ่อนเพลีย หรือพบน้ำหนักตัวลดลงในกรณีที่ใช้ต่อเนื่องยาวนาน มีอาการต่อเหลืองซึ่งอาจมาจากภาวะตับอักเสบ ต้องหยุดรับประทานและปรึกษาแพทย์ สำหรับผู้ป่วยเบาหวานหรือผู้มีไขมันในเลือดสูงที่รับประทานยาแผนปัจจุบันอยู่แล้ว ควรระมัดระวังในการใช้ใบมะรุม และควรหลีกเลี่ยงการรับประทานใบมะรุมในปริมาณมากพร้อมกับยาแผนปัจจุบัน เพราะสารสกัดจากใบมะรุมอาจรบกวนการดูดซึมยาแผนปัจจุบัน หรืออาจเสริมฤทธิ์กับยาลดระดับน้ำตาลในเลือดจนระดับน้ำตาลในเลือดต่ำเฉียบพลัน” คำแนะนำจาก ผศ.ดร.สิริชัย