เมื่อหนังสือชุด Science and Civilization in China ที่มี 16 เล่มของ Joseph Needman ปรากฏในปี ค.ศ.1954 ผู้อ่านทั่วโลกก็ประจักษ์ว่า ผลงานที่จัดพิมพ์โดย Cambridge University Press ชุดนี้จะแสดงความยิ่งใหญ่แห่งสติปัญญาของ Needham ตลอดไปเป็นเวลานาน แม้แต่หนังสือพิมพ์ The Times แห่งลอนดอนก็ได้กล่าวชมเชยว่า หนังสือนี้เพียงเล่มเดียวก็ได้ทำให้ Needham เป็นที่รู้จักในฐานะนักประวัติวิทยาศาสตร์ของจีนผู้ยิ่งใหญ่แล้ว ด้านหนังสือพิมพ์ Independent ก็เทิดทูน Needham ว่าเป็นคนสำคัญระดับ Aristotle เลยทีเดียว
Noel Joseph Terrence Montgomery Needham เกิดเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม ค.ศ.1900 ที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ บิดาชื่อ Joseph Needham เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านวิสัญญีวิทยาที่มีคลินิกส่วนตัวอยู่ที่ Harley Street ส่วนมารดาชื่อ Alicia Adelaide Montgomery ครอบครัวนี้มีลูกคนเดียว เพราะพ่อและแม่ไม่ลงรอยกันนัก ดังนั้นเด็กชาย Needham จึงวิ่งโผจากผู้ปกครองคนหนึ่งไปหาความอบอุ่นจากอีกคนหนึ่งบ่อย ทำให้ได้รับความรักวิชาวิทยาศาสตร์ และความเลื่อมใสในศาสนาอย่างมากจากพ่อ ส่วนบุคลิกที่ได้จากแม่ผู้เป็นนักดนตรี คือ การมีจิตใจเปิดกว้างและรับรู้ความรู้สึกของคนอื่นได้ดี
หลังจากสำเร็จชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียน Oundle แล้ว Needham ได้ไปศึกษาต่อที่วิทยาลัย Gonville and Caius แห่งมหาวิทยาลัย Cambridge โดยตั้งใจจะเป็นแพทย์เหมือนบิดา เพราะรู้สึกว่าเรียนได้ และเคยมีประสบการณ์ช่วยบิดาผ่าตัดแผล แต่อาจารย์ที่สอน Needham บอกเขาว่า ถ้าไม่เข้าใจอะตอมและโมเลกุล อนาคตทางแพทย์จะไม่รุ่ง Needham จึงเปลี่ยนไปศึกษาวิชาชีวเคมีแทน
ขณะเรียนที่มหาวิทยาลัย Cambridge Needham ได้อ่านนวนิยายของ H.G.Wells และ George Bernard Shaw ทำให้ตระหนักว่าความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ และความเป็นอยู่ของสังคมมีความเกี่ยวพันกันอย่างแยกจากกันไม่ได้ และประวัติความคิดเชิงเทคโนโลยีก็มีบทบาทมากในการพัฒนาวิศวกรรมศาสตร์
หลังจากที่ทำให้บิดารู้สึกผิดหวังที่ไม่เรียนแพทย์แล้ว Needham ยังทำให้บิดาผู้เป็นนักอนุรักษ์นิยม ไม่พอใจอีก เมื่อเขาบอกพ่อว่า การปฏิวัติในรัสเซียในปี 1917 นั้นเป็นเรื่องดี เพราะทำให้คนรัสเซียทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกันในการปกครองประเทศ
Needham สำเร็จการศึกษาระดับดุษฎีบัณฑิตเมื่ออายุ 24 ปี โดยได้ทำวิทยานิพนธ์กับ Sir Frederick Gowland Hopkins (ผู้พิชิตรางวัลโนเบลสาขาแพทยศาสตร์และสรีรวิทยาประจำปี 1929 ร่วมกับ Christian Eijkman จากผลงานการพบวิตามิน) แล้วเข้ารับตำแหน่ง Fellow แห่งวิทยาลัย Gonville and Caius
เมื่ออายุ 31 ปี Needham ได้เรียบเรียงหนังสือเรื่อง Chemical Embryology 3 เล่ม ซึ่งกล่าวถึงประวัติความเป็นมาของวิชาคัพภะวิทยาตั้งแต่สมัยฟาโรห์ Akhenaton แห่งอียิปต์เมื่อก่อนคริสตกาล 1,400 ปี จนกระทั่งถึงปัจจุบัน ผลงานนี้ทำให้ Gary Werskey ผู้เขียนเรื่อง The Visible College กล่าวถึง นักวิทยาศาสตร์อังกฤษที่กำลังพยายามพัฒนาสังคมให้ดีขึ้นว่ามี Needham เป็นบุคคลหนึ่ง การยกย่องเช่นนี้ทำให้ Needham ต้องระมัดระวังไม่ให้ตนสนใจด้านสังคมศาสตร์มากจนทำลายการยอมรับความสามารถทางวิทยาศาสตร์ โดยเพื่อนและผู้ทรงคุณวุฒิในวงการวิทยาศาสตร์ด้วยกัน
ปี ค.ศ.1937 ถือได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำหรับชีวิตของ Needham เพราะในปีนั้นมีนักศึกษาจีน 3 คนเดินทางมาศึกษาชีวเคมีที่ Cambridge และ Needham รู้สึกประหลาดใจที่พบว่า นักศึกษาเหล่านั้น นอกจากจะเก่งแล้ว ยังบอก Needham อีกด้วยว่า อุปกรณ์วิทยาศาสตร์หลายชิ้นที่นักวิทยาศาสตร์ตะวันตกสร้างนั้น คนจีนคิดได้และใช้เป็นก่อนนั้นนานแล้ว Needham จึงสนใจจะเรียนรู้ประวัติวิทยาศาสตร์ของจีน และสมัครเรียนจีนจนรู้ภาษาจีนดี ดังนั้นเมื่อสมาคม Royal Society ต้องการจะเปิดสัมพันธ์ไมตรีกับจีน ในช่วงปี 1942-46 Needham จึงได้รับการคัดเลือกให้เป็นกรรมการคนหนึ่งที่เดินทางไปเมือง Chongking ในจีน
ขณะทำงานในจีน Needham ได้ไปเที่ยวที่วัดแห่งหนึ่งในเมือง Chongking และพบหนังสือที่เขียนเกี่ยวกับประวัติวิชาเคมีของจีนในคริสตศตวรษที่ 4 ซึ่งกล่าวถึงองค์ความรู้ต่างๆ ที่ปราชญ์ตะวันตกไม่เคยรู้มาก่อน Needham จึงรวบรวมหนังสือเหล่านั้นเพื่อส่งกลับอังกฤษ สำหรับใช้เป็นเอกสารอ้างอิง
เมื่อกลับถึงอังกฤษ Needham ได้ทุ่มเทเวลาเรียนภาษาจีนให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น แม้จะอ่านและพูดได้ถึง 8 ภาษาแล้ว คือ กรีก ละติน ฝรั่งเศส อิตาเลียน เยอรมัน โปแลนด์ สเปน และอังกฤษ เขาก็ได้พบว่า จีนเป็นภาษาที่แปลกและไม่เหมือนภาษาใดๆ ในยุโรปเลย
ในช่วงเวลานั้นมีบุคคลหนึ่งที่มีบทบาทมากในการทำให้ Needham เรียนจีนได้ดี เธอคือ Lu Gwei-Djen คนทั้งสองจึงตัดสินใจลงมือเขียนประวัติวิทยาศาสตร์ของจีนอย่างละเอียด ลุถึงปี 1989 Gwei-Djen ก็ได้แต่งงานกับ Needham วัย 89 เป็นภรรยาคนที่ 2 ของเขา Needham ยกย่องภรรยาคนนี้ว่า มีความรู้ด้านประวัติศาสตร์ของจีนดีมาก เพราะบิดาของเธอเป็นเภสัชกรที่ได้ถ่ายทอดความรู้อย่างมหาศาลให้ลูกสาว หลังการสมรสได้ 2 ปี Lu Gwei-Djen ก็เสียชีวิต
นอกจาก Li Gwei-Djen แล้ว Needham ยังมีผู้ร่วมงานอีกคนหนึ่งชื่อ Wang Ling ซึ่งได้มาร่วมกันเขียนตำราชุด Science and Civilization in China กับ Needham ด้วย
ทั้งๆ ที่กำลังเขียนตำราประวัติวิทยาศาสตร์ของจีน แต่ Needham ก็ยังมีเวลาไปสนใจศาสนาด้วย ในปี 1939 เขาได้เขียนเรื่อง Levellers ซึ่งเป็นศาสนานิกายหนึ่งที่ถือกำเนิดราว ค.ศ.1600 ศาสนานี้สอนว่า คนทุกคนมีความเท่าเทียมกันทั้งในด้านการเมืองและการศาสนา แต่เวลาเขียนหนังสือนี้ Needham ไม่ใช้นามจริง กลับใช้นามแฝงว่า Henry Holorenshaw เพราะกลัวจะถูกสังคมโจมตี และถูกบุคคลในวงการวิทยาศาสตร์ตำหนิว่า ทุ่มเทให้ความสนใจด้านสังคมศาสตร์มากจนเกินไป ซึ่งจะมีผลทำให้ไม่ได้เป็น F.R.S. (Fellow of the Royal Society) และเพื่อไม่ให้ใครรู้ Needham จึงเขียนคำนิยมให้หนังสือเล่มนั้นว่า เพื่อนคนนี้ของข้าพเจ้าเขียนหนังสือได้อย่างดีเลิศ
ในปี 1941 Needham ได้รับเลือกเป็น F.R.S. และอีก 7 ปีต่อมา ภรรยาคนแรกที่ชื่อ Dorothy Moyle Needham ก็ได้รับเลือกเป็น F.R.S. ด้วย ทั้งสองจึงเป็นสามี-ภรรยาคู่แรกที่เป็น F.R.S. ของสมาคม (ถ้าไม่นับสมเด็จพระราชินี Victoria และเจ้าชาย Albert ผู้ได้รับตำแหน่งสมาชิก เพราะฐานันดรศักดิ์ มิใช่เพราะผลงานวิชาการ)
ในปี 1946 Needham ได้เดินทางไปปารีสเพื่อเข้าตำแหน่งผู้อำนวยการด้านวิทยาศาสตร์แห่งองค์กร UNECO (United Nation Educational and Cultural Organization) ซึ่งมี Julian Huxley เป็นผู้อำนวยการใหญ่ และ Needham ได้เสนอแนะให้องค์กรนี้มุ่งพัฒนาวิทยาศาสตร์ของโลกด้วย และเมื่อกรรมการบริหารขององค์กรเห็นพ้อง การเติมอักษร S (Science) ลงในคำ UNECO เป็น UNESCO (United Nations Educational Scientific and Cultural Organization) จึงเกิดขึ้นให้โลกรู้จักจนทุกวันนี้
เมื่อครบวาระการดำรงตำแหน่งบริหารที่ปารีส Needham ได้เดินทางกลับอังกฤษเพื่อสอนชีวเคมีที่ Cambridge และใช้เวลาส่วนหนึ่งเรียบเรียงตำราชุด Science and Civilization in China สมองของ Needham จึงทำงาน 2 ด้านไปพร้อมๆ กัน คือด้านชีวเคมีกับด้านประวัติศาสตร์ เหมือนคนที่มีอาการจิตเภท คือมีจิตใจ 2 ด้าน
ในช่วงเวลานี้ Needham ได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมมากว่าเป็นพวกเอียงซ้ายที่เห็นใจพวกคอมมิวนิสต์ เพราะในปี 1952 รับใช้เป็นเอกสารอ้างอิง
ดังนั้นเมื่อ ป็นก่อนนั้นนานแล้ว วนประวัติศาสตร์ของความคิดเชิงเ ที่เมาเซตุงได้เชิญ Needham ไปปักกิ่งเพื่อลงนามในแถลงการณ์ที่กล่าวหาว่า สหรัฐฯ ใช้อาวุธชีวภาพในสงครามเกาหลี ซึ่ง Needham ก็ไป และยืนยันว่า เขามีหลักฐานที่แสดงว่า กองทัพสหรัฐฯ ใช้ แมลงนำเชื้อกาฬโรค และเชื้อ anthrax ไปแพร่ในสงคราม การประกาศตัวชัดเช่นนี้ได้ทำให้สังคมตะวันตกต่อต้าน Needham มาก ว่าถูกต่างชาติหลอกใช้
ผลที่ตามมาคือ Needham ถูกสื่ออังกฤษคว่ำบาตร และถูกดูแคลน แต่ Needham ก็บอกว่า เขาไม่เสียใจ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างที่เขาแถลงไป คือเรื่องจริง
เมื่ออายุ 53 ปี Needham ได้เข้าดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์แทน J.B.S. Haldane และสอนวิชาชีวเคมี ในเวลาต่อมาก็เข้ารับตำแหน่ง Master แห่ง Gonville and Caius College ตั้งแต่ปี 1966-1976
เมื่อหนังสือ Science and Civilization in China (SCC) เล่มแรกออกวางตลาด ในปี 1954 ความสนใจเกี่ยวกับประวัติวิทยาศาสตร์ยังเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่มีใครศึกษามาก่อน นอกจากนี้ชาวตะวันตกแทบทุกคนก็ยังมีความเห็นว่า จีนเป็นประเทศที่ล้าหลัง แต่ในหนังสือ SCC Needham ได้แสดงให้เห็นว่า คนจีนมีอุปกรณ์วัดความรุนแรงของแผ่นดินไหว เข็มทิศ เหล็กหล่อใช้ก่อนโลกตะวันตกมานานแล้ว Needham ยังแสดงให้เห็นอีกว่า เทคโนโลยีเหล่านี้ได้เดินทางสู่โลกตะวันตกอย่างไร
แม้จะไม่มีใครโต้แย้ง หรือสงสัยในความถูกต้องของผลงาน แต่ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์บ้างว่า Needham อ้างถึงผลงานของจีนในด้านบวกเท่านั้น และเชียร์จีนมากเกินไป หลายคนจึงมีความเห็นว่า Needham เป็นคนซื่อ ที่เชื่อคนง่าย
หนังสือชุดวิทยาศาสตร์และอารยธรรมของจีนได้กล่าวถึงความสำเร็จเชิงวิทยาศาสตร์ของจีนในด้านต่างๆ ที่โลกตะวันตกไม่เคยรู้มาก่อน และแม้แต่ชาวจีนในปัจจุบันก็ไม่เคยสนใจว่า นักวิชาการจีนในอดีต ได้เคยผลิตผลงานอะไรให้แก่มนุษย์ชาติ และปราชญ์เหล่านี้ไม่เคยได้รับการยอมรับและยกย่องโดยบุคคลในชาติ และนี่ก็คือปณิธานส่วนตัวของ Needham ที่ต้องการแก้ไขประวัติศาสตร์ให้ถูกต้องเสียที
ชุดหนังสือ SCC นี้มีการกล่าวถึง เครื่องจักรไอน้ำที่คนจีนสร้างใช้ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 14 ในหนังสือมีการแสดงแผนภาพการทำงานของลูกสูบ เตาไฟ ล้อ กังหัน น้ำ ฯลฯ และนี่ก็คือเทคโนโลยีที่นักเทคโนโลยียุโรปชื่อ James Packard ในอีก 4 ศตวรรษต่อมาได้นำมาจดลิขสิทธิ์ คนตะวันตกนั้นตั้งแต่ไหนแต่ไรมามักคิดว่า ความคิดเรื่องเครื่องจักรไอน้ำเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในยุโรป จนกระทั่งถึงปี 1965 Needham จึงบอกว่า ไม่ใช่
หนังสือชุด SCC เป็นเพียงหนึ่งในร้อยของความสำเร็จของ Needham แห่งสถาบัน Needham Research Institute ในมหาวิทยาลัย Cambridge เพราะในห้องสมุดที่นั่นมีหนังสือและตำราที่ Needham แต่งทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องชีวเคมี ศาสนา การเมือง ประวัติศาสตร์ การเต้นระบำพื้นเมืองของอังกฤษ (ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ Needham โปรดปรานในยามพักผ่อน) ฯลฯ
ผลงานเหล่านี้ของ Needham แสดงให้เราเห็นว่า เขาสนใจทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องตะวันออก ตะวันตก เหนือ หรือใต้ ไม่ว่าจะเป็นวิทยาศาสตร์ ศาสนา หรือ สังคมศาสตร์ ฯลฯ ด้วยความสามารถในการวิเคราะห์ และสังเคราะห์ทำให้เรารู้ว่า เหตุการณ์ต่างๆ ที่ดูเผินๆ ไม่เกี่ยวข้องกันเลย กลับมีความสัมพันธ์กันอย่างที่ไม่มีใครเคยคิดมาก่อน
ในมุมมองของ Needham นั้น ประสบการณ์ของมนุษย์มี 5 รูปแบบ คือ ศาสนา วิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ปรัชญา และสุนทรียศาสตร์ คนที่ขาดประสบการณ์ด้านหนึ่งด้านใดจะเป็นคนที่ไม่สมบูรณ์ แม้ในบางครั้งประสบการณ์บางเรื่องจะขัดแย้งกัน แต่คนๆ นั้นก็จำเป็นต้องปรับวิธีคิดให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
เมื่อ Needham อายุ 81 ปี มหาวิทยาลัย Cambridge ได้จัดตั้งสถาบัน Needham Research Institute ขึ้น และสถาบันได้ให้เหตุผลสำหรับคำถามที่ว่า เหตุใดวิทยาศาสตร์สมัยใหม่จึงอุบัติในยุโรปในคริสต์ศตวรรษที่ 17 แทนที่จะเกิดในจีน ทั้งๆ ที่จีนเป็นชาติที่รู้และใช้วิทยาศาสตร์มาก่อนยุโรปเป็นเวลานาน และ Needham ก็ให้เหตุผลว่า จีนมีระบบการปกครองแบบเจ้าขุนมูลนาย ระบบเช่นนี้ยับยั้งการเติบโตของความคิด เช่น เวลาจักรพรรดิจีนทรงไม่เห็นด้วยกับความคิดที่แตกต่าง ความคิดนั้นก็จะตายทันที ดังในปี 1433 เมื่อจักรพรรดิจีน ทรงไม่เห็นด้วยกับการสร้างเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่ การสำรวจทางทะเลของนักผจญภัยรุ่นหลัง Zhang He ก็สิ้นสุดตาม
เมื่ออายุ 91 ปี Needham ได้ล้มป่วยด้วยโรคไขข้ออักเสบ และในปีต่อมาก็ได้รับสายสะพาย Companion of Honor จากสมเด็จพระนางเจ้า Elizabeth ที่ 2 แล้ว Needham ก็ล้มป่วยกระเสาะกระแสะ และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 1995 ที่เมือง Cambridge ในอังกฤษ สิริอายุ 94 ปี
ตลอดชีวิต Needham มีผลงานเขียนหนังสือประมาณ 20 เล่ม ทั้งที่เรียบเรียงคนเดียวและแต่งร่วมกับคนอื่น ความหลากหลายของเรื่องที่เขียนมีมาก ตั้งแต่วิทยาศาสตร์ ความซับซ้อนของวิชาชีวเคมีจนกระทั่งถึงศาสตร์ของการฝังเข็ม นาฬิกาโบราณของชาวเกาหลี การเดินทางในจีนช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง การปฏิวัติใหญ่ในรัสเซียปี 1917 และวิวัฒนาการของตัวอ่อน เวลาเขียนเรื่องอะไรก็ตาม Needham จะเขียนอย่างละเอียด แต่กระชับและเข้าใจง่าย เพราะเป็นคนที่มีพรสวรรค์ด้านภาษา
ยกตัวอย่างเช่น ในหนังสือชุด SCC เล่มที่ 1 บทที่ 7 ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับดินปืน Needham จะเกริ่นนำว่า นักเล่นแร่แปรธาตุจีนเป็นบุคคลแรกที่ใช้ดินปืน เพราะสนใจใคร่ค้นหายาอายุวัฒนะ จากนั้น ทหารจีนได้นำดินปืนไปใช้ในสงครามเพื่อทำจรวด และใช้ในยามสันติ เพื่อทำพลุและดอกไม้ไฟ โดยเอาดินปืนบรรจุในกระบอกไม้ไผ่ จากนั้นได้พัฒนาผลให้เป็นจรวดขนาดใหญ่ที่มีอำนาจในการทำลายสูง ทั้งนี้ทั้งนั้น ชาวจีนทำเรื่องนี้ตั้งแต่ ค.ศ.1288
ในปี 1326 เมื่อจีนทำการค้ากับต่างชาติโดยเฉพาะเปอร์เซีย โดยใช้เส้นทางสายไหม การแลกเปลี่ยนสินค้าและความรู้จึงเกิดขึ้น เทคโนโลยีต่างๆ ของจีนได้เริ่มแพร่สู่ยุโรป และได้รับการพัฒนาต่อไป
ตามปกติ เวลานำเสนอข้อมูลใดๆ Needham มักจะมีแผนภาพประกอบคำบรรยาย หนังสือ SCC แต่ละเล่มจึงอาจมีภาพมากถึง 200 ภาพ เพราะถ้าไม่มีภาพ คงไม่มีใครอ่านรู้เรื่องหมด
หนังสือชุด SCC ของ Needham นี้ยิ่งใหญ่ อ่านง่าย และใครใดที่อ่านแล้ว จะรู้สึกว่ารู้มากขึ้น และเข้าใจอะไรต่างๆ ดีขึ้น และนี่ก็คือความสำเร็จที่สำคัญที่ Needham ได้ทิ้งไว้ให้โลก
*********************
เกี่ยวกับผู้เขียน
สุทัศน์ ยกส้าน
ประวัติการทำงาน - ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์
ประวัติการศึกษา - ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย
อ่านบทความ สุทัศน์ ยกส้าน ได้ทุกวันศุกร์