xs
xsm
sm
md
lg

จิตเภท: สาเหตุและการรักษา

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน


จิตเภท (schizophrenia) เป็นอาการผิดปรกติทางจิตใจที่นักจิตวิทยาชาวเยอรมันชื่อ Emil Kraepelin (2399-2469) ได้ศึกษาเป็นคนแรก แต่ในสมัยนั้นเขาเรียกอาการผิดปรกติทางจิตชนิดนี้ว่า dementia praecox ซึ่งแปลว่า การเสื่อมสลายของสมองในวัยเยาว์ จิตเภทจึงตรงข้ามกับ senile dementia ซึ่งเป็นอาการสมองเสื่อมในวัยชรา
 
ในปี 2457 Eugen Bleuler นักจิตวิทยาชาวสวิสได้เรียกชื่อโรคจิตนี้ใหม่ว่า schizophrenia ซึ่งเป็นคำสนธิระหว่าง schizen ในภาษากรีกที่แปลว่า จิตใจ ทั้งนี้เพราะ Bleuler เห็นผู้ป่วยมีความนึกคิดและอารมณ์ที่แตกแยก ไม่สัมพันธ์กับพฤติกรรม เช่น อยู่ในโลกหลอน หลงผิดคิดว่าตนเป็นเทพเจ้า หรือเป็นบางคนที่กลับชาติมาเกิด บ้างก็อ้างว่าได้ยินเสียงแว่วสั่งให้ทำโน่นทำนี่ และมักมีความคิดแตกแยกกระจัดกระจายจนทำให้พูดจาวกวนไม่รู้เรื่อง บางคนเวลาอาการกำเริบ จะใช้คำพูดที่ไม่มีใครใช้กัน บางคนหัวเราะหรือร้องไห้โดยไม่มีเหตุผล แต่บางเวลาก็วางเฉย ไม่มีอารมณ์ยินดียินร้าย และไม่พูดจาเลย เอกลักษณ์ที่โดดเด่นอีกประการหนึ่งของจิตเภท คือ ชอบแยกตัวจากสังคม เก็บตัวและนั่งเหม่อลอยอย่างไม่อินังขังขอบเรื่องแต่งตัว และเวลาเห็นคนอื่นสนทนากัน คนที่เป็นจิตเภทก็มักคิดว่าพวกเขากำลังนินทาตน อาการระแวงเช่นนี้ทำให้หลงคิดว่าตนกำลังถูกปองร้ายอยู่ร่ำไป

เพราะอาการของจิตเภทมีหลากหลาย ดังนั้นจึงเป็นเรื่องไม่น่าแปลกใจที่พบว่า 1% ของประชากรโลกเป็นโรคจิตชนิดนี้ (ไม่มากก็น้อย) และถ้าสถิติขององค์การอนามัยโลกถูกต้อง นั่นหมายความว่า คนไทย 6 แสนคนกำลังป่วยเป็นจิตเภท ณ วันนี้ การศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับจิตเภททำให้รู้ว่า ผู้ชายมีโอกาสเป็นจิตเภทได้มากกว่าผู้หญิง และคนที่เป็นมักมีอายุน้อยกว่า 45 ปี
 
สถานภาพของคนป่วยในสหรัฐอเมริกาชี้ให้เห็นว่า 10% ของคนป่วยเคยพยายามฆ่าตัวตายอย่างน้อยหนึ่งครั้ง และแม้ว่าครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยจะแต่งงาน แต่ในที่สุดชีวิตสมรสก็ล้มเหลวด้วยการหย่า เพราะฝ่ายที่เป็นจิตเภทต้องการแยกตัว คือไม่อยากให้ใครมา “วุ่นวาย” ในชีวิตตน สถิติการสำรวจยังแสดงให้เห็นอีกว่า ผู้ป่วยจิตเภทมักติดยาเสพติด คือ 60% ติดเหล้า บุหรี่ กัญชา หรือโคเคน ดังนั้นเมื่อต้องการเสพยาก็จะคลุ้มคลั่งทำร้ายคนอื่น และผู้ที่เป็นโรคมีเพียง 15% เท่านั้นที่ยอมรับว่าตนป่วย และเข้ารับการบำบัดโดย 20% จะหายขาด 60% จะมีอาการดีขึ้น ส่วน 20% ที่เหลือจะป่วยด้วยโรคนี้ตลอดชีวิต ข้อสังเกตอีกประเด็นหนึ่งคือ 60% ของผู้ป่วยมีฐานะยากจน และ 20% ไม่มีบ้านของตนเอง แม้ข้อมูลนี้จะบ่งชี้ให้เห็นว่า ชีวิตของผู้ป่วยเป็นจิตเภทจะด้อยคุณภาพ แต่มีกรณียกเว้น เช่น John Forbes Nash นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลประจำปี 2537 ซึ่งล้มป่วยเป็นจิตเภท แต่ได้รับการรักษาจนหาย ส่วนกรณีที่ตรงข้ามกับ Nash คือ Andrea Yates ฆาตกรจิตเภทที่ฆ่าลูก 5 คนด้วยการกดศีรษะลูกในน้ำจนตาย และขณะนี้กำลังติดคุกชดใช้กรรมอยู่

ในการค้นหาสเหตุที่ทำให้คนเป็นจิตเภท นักวิทยาศาสตร์ได้พบว่า พันธุกรรม สิ่งแวดล้อม และวิธีการเลี้ยงดู มีบทบาทสำคัญในการทำให้คนเป็นจิตเภท เพราะได้พบว่า ในกรณีการเลี้ยงดู ถ้ามารดาเลี้ยงลูกแบบประคบประหงมยิ่งกว่าไข่ในหิน คือรับเป็นธุระดูแลให้ทุกเรื่อง ตั้งแต่ช่วยอาบน้ำจนถึงช่วยทำการบ้าน จนเด็กรู้สึกว่าตนไม่จำเป็นต้องมีใครอีกแล้วในโลกนี้ แม่ประเภทนี้สามารถทำให้ลูกเป็นจิตเภทได้ แต่ในทางตรงกันข้าม พ่อแม่ที่เลี้ยงลูกแบบปากกับมือไม่สัมพันธ์กัน เช่น ปากบอกว่ารัก แต่มือก็ฟาดเอาๆ การสื่อความรักลักษณะนี้ทำให้เด็กรู้สึกสับสน เพราะไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ซึ่งมีผลทำให้เด็กรู้สึกทั้งรักและเกลียดพ่อแม่ปนกัน หรือในกรณีที่พ่อแม่ทะเลาะกันให้ลูกเห็นตลอดเวลา แล้วต่างฝ่ายก็จะเอาลูกเข้าข้างตน การกระทำเช่นนี้จะทำให้ลูกรู้สึกสับสนเพราะไม่รู้ว่าจะวางตัวอย่างไร วิธีการเลี้ยงลูกแบบสุดขั้วจึงมีส่วนทำให้ลูกป่วยทางใจโดยพ่อแม่ไม่รู้ตัวหรือไม่ตั้งใจ

พันธุกรรมก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่มีบทบาทในการทำให้คนป่วยเป็นจิตเภท เพราะได้พบว่า คนที่มีญาติสายตรง (ปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ แม่) ซึ่งป่วยเป็นจิตเภท จะมีโอกาสเป็นจิตเภทสูงกว่าคนที่ไม่มีญาติป่วยเป็นจิตเภทถึง 10 เท่า ลูกชายของ Nash ก็ป่วยเป็นจิตเภท ฝาแฝดที่เกิดจากไข่ใบเดียวกันก็พบว่า ถ้าฝาแฝดคนหนึ่งป่วย โอกาสที่แฝดอีกคนจะป่วยมีสูงตั้งแต่ 30-40% ด้วยเหตุนี้คนที่กำลังจะแต่งงาน จึงควรตรวจสอบประวัติการป่วยทางใจของคู่สมรส เพื่อป้องกันมิให้ทายาทมีปัญหาทางจิตใจในภายหลัง เพราะผู้ป่วยจิตเภทจะไม่สามารถทำหน้าที่บิดามารดาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และนั่นก็หมายความว่า ความเชื่อที่ว่า “บ้าแบบนี้ แต่งงานแล้วจะหาย” เป็นความเชื่อที่ไม่สมควรปฏิบัติตามเป็นอย่างยิ่ง

ในส่วนที่เกี่ยวกับความผิดปรกติของร่างกาย ในปี 2535 P.C. Fletcher แห่ง Institute of Neurology ในลอนดอนได้ใช้อุปกรณ์ Positron Emission Tomography (PET) ตรวจสมองส่วนที่เรียกว่า dorsolateral prefrontal cortex ของคนป่วยจิตเภทขณะครุ่นคิดปัญหาและได้พบว่า สมองส่วนนี้มีเลือดไหลวนไม่มากเท่าสมองของคนปรกติ นอกจากนี้สมองส่วน amygdala, hippocampus และ parahippocampal gyrus ของผู้ป่วยก็มีขนาดเล็กกว่าของคนปรกติด้วย เขาจึงคิดว่าความผิดปรกติของโครงสร้างสมองเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนป่วยเป็นจิตเภท

ในปี 2538 D. Silbergsweig แห่ง Cornell Medical Centre ที่นิวยอร์ก ได้ใช้เทคโนโลยี PET ศึกษาสมองของคนที่เป็นจิตเภทขณะเห็นภาพหลอน หรือได้ยินเสียงแว่ว และก็ได้พบว่าสมองส่วน prefrontal cortex ไม่สามารถบอกผู้ป่วยได้ว่า สิ่งที่เห็นหรือได้ยินเป็นของจริงหรือภาพลวงกันแน่ ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่า การที่สมองส่วนนี้ทำงานบกพร่องเป็นเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยสับสน เพราะสมองของผู้ป่วยได้สร้างภาพหรือเสียงขึ้นเอง ทั้งๆ ที่ภาพจริงหรือเสียงจริงไม่มี

ในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า คนป่วยเป็นจิตเภทเพราะสมองมี dopamine ที่เซลล์ประสาทใช้ในการติดต่อกันมากผิดปรกติ แต่การวิจัยที่กระทำในระยะเวลาต่อมาแสดงให้เห็นว่า ความมากผิดปรกติของ dopamine เป็นเพียงสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนบางคนป่วย เพราะในวารสาร Scientific American ฉบับเดือนมกราคม 2547 D.C. Javitt และ J.T. Coyle แห่ง New York University School of Medicine ได้รายงานว่า ในสมองของผู้ป่วยหลายคนมีโมเลกุล glutamate ที่เซลล์ประสาทใช้ในการส่งสัญญาณน้อยกว่าปรกติ ข้อมูลนี้จึงทำให้นักวิทยาศาสตร์ตระหนักว่า จิตเภททำร้ายสมองหลายส่วน ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่า ในการรักษา แพทย์จะต้องให้ผู้ป่วยกินยาที่ช่วยเพิ่มปริมาณ glutamate และลด dopamine ในสมอง

ในวารสาร Science ฉบับวันที่ 12 ธันวาคม 2546 J. McGrath แห่ง Queensland Centre for Schizophrenic Research ที่เมืองบริสเบนในออสเตรเลีย ได้รายงานว่า การขาดวิตามิน D คือสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนเป็นจิตเภท เพราะได้ทดลองให้หนูตัวเมียที่ตั้งท้องกินอาหารที่มีวิตามิน D น้อย แล้วพบว่า ลูกหนูที่เกิดจากแม่หนูเหล่านั้นมีอาการจิตเภท โดยเวลาลูกหนูได้ยินเสียงเบาๆ แล้วต่อมาให้ได้ยินเสียงดัง ซึ่งหนูปรกติจะไม่ตกใจ แต่ถ้าเป็นหนูที่มีอาการจิตเภทจะให้มันได้ยินเสียงอะไรก่อนหรือหลังมันตกใจหมด การตรวจสมองหนูที่ขาดวิตามิน D ได้พบว่า มีโพรงสมองค่อนข้างใหญ่กว่าปรกติถึง 30% ดังนั้น McGrath จึงคิดว่า การที่ร่างกายขาดวิตามิน D น่าจะทำให้คนเป็นจิตเภทได้ McGrath เชื่อในสมมุติฐานนี้มาก เมื่อสถิติการสำรวจแสดงว่า คนเมืองเป็นจิตเภทสูงกว่าคนชนบท และลูกของแม่ที่มีผิวคล้ำ ดำ หรือน้ำตาล เป็นจิตเภทมากกว่าลูกของแม่ที่มีผิวขาว เขาก็ยิ่งมั่นใจว่า การขาดวิตามิน D เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้คนเป็นจิตเภท เพราะร่างกายมนุษย์ตามปรกติได้วิตามิน D จากแสงแดดเพราะเวลาอยู่กลางแดด รังสีอัลตราไวโอเลต B จากดวงอาทิตย์จะทำปฏิกิริยากับโมเลกุล 7-dehydrocholesterol ที่มีในผิวหนัง สร้างวิตามิน D ให้แก่ร่างกาย แต่คนเมืองมักไม่ถูกแสงแดด ดังนั้นร่างกายจึงขาดวิตามิน D ส่วนหญิงมีครรภ์ที่มีผิวคล้ำ ผิวหนังจะทำหน้าที่ดูดกลืนแสงอัลตราไวโอเลต B ได้ไม่ดี ดังนั้นลูกที่คลอดจึงขาดวิตามิน D และนี่ก็คือเหตุผลที่ McGrath ใช้อธิบายกรณีลูกของหญิงชาว Suriname และ Afro-Caribbean มีโอกาสเป็นจิตเภทค่อนข้างสูง
 
ดังนั้นถ้าความคิดของ McGrath ถูกต้องนั่นก็หมายความว่า แพทย์สามารถป้องกันเด็กมิให้เป็นจิตเภทได้ตั้งแต่เขายังอยู่ในท้อง โดยให้แม่กินวิตามิน D เสริม หรือให้แม่ที่ตั้งครรภ์อาบแดดสัปดาห์ละ 3 ครั้ง นานครั้งละ10-15 นาทีหรือกว่านั้นถ้าแม่เป็นคนผิวคล้ำ ส่วนแม่ที่ร่างกายขาดวิตามิน D หากจะให้ลูกดื่มนมจากเต้า แม่ก็ต้องกินวิตามิน D จนมั่นใจว่า ลูกได้วิตามิน D 200 IU (International Unit) ต่อวัน ลูกก็จะปลอดภัยจิตเภทและจากโรคกระดูกอ่อน แต่ข้อควรระวังคือ แม่ที่มีครรภ์ไม่ควรบริโภควิตามิน D มากจนเกินไป เพราะวิตามิน D ปริมาณมากจะทำให้ลูกที่คลอดมีร่างกายผิดปรกติ ดังนั้นจึงควรปรึกษาแพทย์เวลาจะกินวิตามิน D เสริม และควรรู้ด้วยว่าการตากแดดมากเกินไปอาจทำให้เป็นมะเร็งผิวหนัง (melanoma) ได้

สำหรับการตรวจว่าใครกำลังจะเป็นจิตเภทนั้น W. Brewer แห่งมหาวิทยาลัย Melbourne ในออสเตรเลียได้พบว่า นอกจากจะเห็นภาพหลอนหรือหูได้ยินเสียงแว่วแล้ว คนป่วยจิตเภทยังมีอาการผิดปรกติด้านการดมกลิ่นด้วย เช่นไม่สามารถบอกความแตกต่างระหว่างกลิ่นพิซซ่ากับกลิ่นส้ม หรือกลิ่นหมากฝรั่งกับกลิ่นควันได้ Brewer ได้รายงานในวารสาร The American Journal of Psychiatry ฉบับที่ 160 ปี 2546 ว่า ในการทดสอบกับคนที่มีโอกาสเป็นจิตเภท 81 คน เป็นเวลา 2 ปี เขาพบว่ามี 12 คนที่ประสบปัญหาเรื่องกลิ่นและเป็นจิตเภทในเวลาต่อมา การวิเคราะห์คนว่าเป็นจิตเภทหรือไม่ด้วยวิธีการทดสอบของ Brewer จึงเป็นวิธีที่รวดเร็วและมีราคาถูกกว่าวิธีตรวจสมองโดยใช้ PET

โดยสรุปเราจึงเห็นได้ว่า แม้โลกจะรู้จักจิตเภทมานานร่วม 100 ปี แต่แพทย์ก็ยังไม่รู้สาเหตุชัดเจน ดังนั้นเราจึงยังไม่มียาหรือวิธีรักษาที่มีประสิทธิภาพ 100% แต่เราก็รู้ว่า คนที่เป็นจิตเภทถ้าได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆ จะมีโอกาสหาย การปล่อยทิ้งจนเรื้อรังจะทำให้รักษายาก และตามปรกติคนที่เป็นมักปฏิเสธว่าตนไม่เป็น ดังนั้นคนใกล้ชิดจะต้องใช้กุศโลบายเกลี้ยกล่อมให้เขาเข้ารับการรักษา ซึ่งแพทย์อาจให้กินยาหรือฉีดยาแต่จะนานแค่ไหนก็ขึ้นกับความรุนแรงของโรค อายุที่เริ่มเป็น สาเหตุที่ป่วย ความเรื้อรัง การตอบสนอง และความร่วมมือระหว่างผู้ป่วยกับญาติ การรักษาด้วยวิธีจิตบำบัด อาจทำได้โดยการพูดคุยกับคนไข้ ให้คนไข้ทำกิจกรรมกลุ่ม และฟื้นฟูสภาพจิตใจให้เปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อให้ผู้ป่วยยอมรับอาการป่วยของตน ให้คิดทำงาน ให้ทำตัวไม่ให้เป็นภาระของคนรอบข้าง ส่วนคนที่เป็นญาติก็ต้องให้กำลังใจ ให้ความใส่ใจ ให้คนไข้กินยาสม่ำเสมอ และให้ความรู้ เขาก็อาจจะหาย

สุทัศน์ ยกส้าน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

"หนังสือ "สุดยอดนักเคมีโลก"
โดย ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน
มีจำหน่ายที่ศูนย์ประชุมสิริกิตติ์ ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 5 - 16 ตุลาคมนี้
ที่บูธสำนักพิมพ์สารคดี ในราคา 199 บาท จากราคาปก 240 บาท"
กำลังโหลดความคิดเห็น