xs
xsm
sm
md
lg

สธ.เล็งดึงผู้ป่วยโรคจิตขั้นรุนแรงมาฟื้นฟูก่อนส่งกลับสังคม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรมจิตฯ เร่งค้นหาผู้ป่วยโรคจิตทั่วประเทศ เล็งดึงผู้ป่วยขั้นรุนแรง คนถูกกักขัง-ล่ามโซ่ นำมาฟื้นฟูบำบัด ก่อนส่งกลับสู่สังคม

วันนี้ (15 ก.พ.) นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานในการแถลงข่าวโครงการ “ปลดโซ่ตรวนผู้ป่วยจิตเวชที่ถูกล่ามขัง : สู่ชีวิตใหม่โดยชุมชน” เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษาจนสามารถปลดโซ่ตรวนได้ตลอดจนได้รับการติดตามดูแลต่อเนื่อง รวมทั้งได้รับการส่งเสริมฝึกทักษะอาชีพให้สามารถดำรงชีวิตในชุมชน
นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์
โดย นพ.สุรวิทย์ กล่าวว่า ผู้ป่วยจิตเวช โดยเฉพาะผู้ที่ป่วยด้วยโรคจิต (Psychotic disorders) จะมีอาการเรื้อรังต้องได้รับการดูแลรักษาเป็นเวลานาน และต้องรับประทานยาอย่างต่อเนื่องซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือของญาติผู้ดูแลเป็นสำคัญ ทั้งนี้ จากการสำรวจของกรมสุขภาพจิตเมื่อปี 2551 พบว่า คนไทยที่มีอายุ 15-59 ปี โดยส่วนมาเป็นวัยรุ่นโดยภาพรวมมีความชุกของโรคจิต 0.8% ประมาณการว่า มีประมาณ 4 แสนราย ทั่วประเทศโรคจิตที่สำคัญและพบมาก คือ โรคจิตเภท (Schizophrenia) พบประมาณ 70% ของโรคจิตทั้งหมด ซึ่งเป็นโรคที่มีความสำคัญและรุนแรงส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของบุคคลและครอบครัวเป็นอย่างมาก พบว่า 35.7% ของโรคจิตเภท จะมีอาการตลอดไม่ทุเลาและส่วนใหญ่ผู้ป่วยต้องรับประทานยานานต่อเนื่องอย่างน้อย 2 ปี เพื่อป้องกันอาการกำเริบหรือกลับซ้ำ หากมีอาการกลับเป็นซ้ำครั้งที่ 2 ต้องรับประทานยาต่อเนื่องอีก 5 ปี และหากเป็นซ้ำครั้งที่ 3อาจต้องรับประทานยานานตลอดชีวิต เนื่องจาก ผู้ป่วยไม่คิดว่าตนเองป่วย (Poor insight) จึงรับประทานยาไม่สม่ำเสมอทำให้มีอาการกำเริบได้บ่อย

รมช.สธ.กล่าวต่อว่า ปัจจุบันยังพบว่ามีผู้ป่วยจิตเวชที่ถูกล่ามโซ่ตรวน/กักขัง อยู่ทั่วประเทศแต่ยังไม่มีการสำรวจ ว่า มีจำนวนแท้จริงเท่าไร ซึ่งสาเหตุของการล่ามขังเกิดขึ้นหลายกรณี เช่น อาจเป็นเพราะผู้ป่วยมีอาการที่เป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของตนเองและผู้อื่น การดูแลรักษาที่ผ่านมาไม่สามารถลดอาการของผู้ป่วยได้อย่างต่อเนื่องและไม่สามารถสร้างความมั่นใจแก่ญาติและชุมชนได้ ซึ่งคาดว่าน่าจะมีประมาณ 1,000 ราย ทั่วประเทศโดยทาง สธ.ตั้งเป้าดำเนินการสำเร็จ 100% ภายในปี 2555 โดยจะเริ่มต้นโครงการในวันที่ 1 มี.ค.2555

นพ.สุรวิทย์ กล่าวด้วยว่า การที่ผู้ป่วยจิตเภทรุนแรงไม่ได้รับการดูอย่างทั่วถึงทำให้ผู้ป่วยมีพฤติกรรมถดถอยจนกระทั่งไม่สามารถช่วยเหลือตนเองในการดำเนินชีวิตได้ตามปกติ และยิ่งทำให้สภาพจิตย่ำแย่ลงไป ไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาแต่เป็นการสร้างภาระทั้งต่อครอบครัวและชุมชนมากขึ้น ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเร่งค้นหาและรักษาบำบัดซึ่ง ค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วยจิตเวชเฉลี่ยต่อรายอยู่ที่ประมาณ 2 หมื่นบาท ถ้าหากค้นเจอราว 700 คน จะใช้งบประมาณราว 15 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันการรักษาผู้ป่วยจิตเวชจัดอยู่ในสิทธิประโยชน์ของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือโครงการ 30 บาท แต่หากติดขัดในเรื่องของค่าใช่จ่ายอย่างไรตนเองจะประสานไปยังสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อให้เกิดประโยชน์กับผู้ป่วยมากที่สุด

ด้านนพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า กรมฯจะดำเนินโครงการแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ 1.ค้นหา สำรวจผู้ป่วยจิตเวชที่ถูกล่ามโซ่ตรวนทั่วประเทศ โดยอาสาสมัครสาธารณสุข(อสม.) เริ่มดำเนินการเดือนมีนาคม 2555 2.นำผู้ป่วยที่ถูกล่ามขังมาบำบัดรักษา ดำเนินการระหว่างเดือนเมษายน-มิถุนายน 2555 และ 3.การฟื้นฟูและสร้างโอกาสให้ผู้ป่วยจิตเวชที่ถูกล่ามขัง กลับสู่ชุมชน โดยการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องและมีส่วนร่วมของชุมชนในการดูแลผู้ป่วยจิตเวชเพื่อป้องกันการกลับมาล่ามขังซ้ำและติดตามประเมินผล
กำลังโหลดความคิดเห็น