สปสช.เดินหน้าพัฒนาระบบกองทุนจิตเวช ช่วยผู้ป่วยจิตเข้าถึงระบบรักษาพยาบาลฟรี รพ.ศรีสะเกษ นำร่อง เร่งคัดกรองภาวะซึมเศร้า ในปชช.กว่า 2 หมื่นราย พบพยายามฆ่าตัวตาย 68
นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกัน (สปสช.) กล่าวถึงความคืบหน้าของการดำเนินงานด้านกองทุนจิตเวช โดยกำหนดให้มีการบริการผู้ป่วยจิตเวชแบบกองทุนแยกต่างหากจากงบเหมาจ่ายรายหัว ซึ่งมติคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) มีการกำหนดให้ผู้ป่วยสามารถใช้บริการรักษาพยาบาลได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง จากเดิมรักษาได้แค่ไม่เกิน 15 วัน ว่า หลงัจากได้มีการดำเนินการในส่วนดังกล่าวนั้น ส่งผลให้ผู้ป่วยมีโอกสในการเข้าถึงบริการรักษาพยาบาลมากขึ้น โดยจากรายงานสถานการณ์ของผู้ป่วยด้านจิตเวช ของกรมสุขภาพจิต ที่พบว่ามีผู้ป่วยนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลเกิน 15 วัน มีอยู่ราวร้อยละ 52 ในจำนี้หากมีการแบ่งสัดส่วนของการใช้บริการในโรงพยาบาล พบว่า เป็นโรงพยาบาลศูนย์(รพศ.) มีอยู่ร้อยละ 20.7 โรงพยาบาลทั่วไป (รพท.) ร้อยละ 66.1 และโรงพยาบาลจิตเวช สังกัดกรมสุขภาพจิตมีร้อยละ 58.7 ซึ่งผู้ป่วยเหล่านี้ได้รับการดูแลรักษาพยาบาลแบบไม่จำกัดวันมาตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2553 แล้ว
“นอกจากนี้ ทาง สปสช.ยังได้ขยายสิทธิประโยชน์แก่ผู้ป่วยจิตเวชในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ รักษาฟรี ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบประมาณในส่วนของการจัดหายาสำหรับผู้ป่วยฯกว่า 203 ล้านบาท เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงสิทธิการเบิกจ่ายยาระบบดังกล่าวมากขึ้น โดย สปสช.ได้ร่วมมือในกับองค์กรเภสัชกรรม (อภ.) ในการผลิตยาและร่วมมือกับกรมสุขภาพจิต เพื่อจัดการระบบยาให้ดีขึ้นด้วย ซึ่งก่อนหน้านี้ คณะอนุกรรมการคัดเลือกยาและเวชภัณฑ์ที่จำเป็นและมีปัญหาในการเข้าถึงยาของประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าฯได้เสนอยา 2 รายการ คือ ยาริสเพอริโดน รักษาโรคจิตเภท และเซอร์ทราไลน์ รักษาโรคซึมเศร้า อย่างไรก็ตาม ในส่วนของยาเซอร์ทราไลน์นั้น อภ.สามารถผลิตได้แล้วเหลือแค่ในส่วนของการรอขึ้นทะเบียนจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และคาดว่า จะนำยาดังกล่าวบรรจุเข้าไปในบัญชียาหลักแหงชาติเพื่อใช้รักษาผู้ป่วยทั่วประเทศ” นพ.วินัย กล่าว
นพ.วินัย กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ในการดำเนินการตามตามนโยบายของรัฐบาลในด้านกองทุนจิตเวช นั้น รพ.ศรีสะเกษ ถือเป็นอีกหน่วยงานในระบบที่สามารถให้ดำเนินการด้านการรักษาพยาบาลผู้ป่วยจิตเวชได้อย่างดี ทั้งในส่วนของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า โรคเครียดและแม้กระทั่งผู้ป่วยที่พยายามฆ่าตัวตาย ทั้งนี้ การดูแลผู้ป่วยที่พยามยามฆ่าตัวตายไม่ว่าจะฆ่าตัวตายด้วยเจตนา ความพยายามทำร้ายตัวเอง หรือสาเหตุอื่นใดก็ตาม ผู้ป่วยที่อยู่ในระบบรักษาฟรีสามารถมารถใช้บริการและรับยาได้โดยไม่จำกัด ซึ่งส่วนนี้แตกต่างจากสิทธิประกันสังคมชัดเจน เพราะประกันสังคมไม่ได้ช่วยผู้ป่วยที่พยายามฆ่าตัวตาย อย่างไรก็ตาม รพ.ศรสะเกษ ถือว่าเป็นตัวอย่างที่ดีแก่โรงพยาบาลอื่น แต่จะต้องเร่งคัดกรองหาผู้ป่วยด้านจิตเวชเพิ่มเติมด้วย
ด้าน นางสาวศรชนก สุทาวัน หัวหน้างานพยาบาลจิตเวช รพ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า หลังจากที่รับมอบนโยบายมา ทาง รพ.ได้ดำเนินการตรวจคัดกรองผู้มีภาวะซึมเศร้าในเขต อ.เมือง ช่วง ต.ค.2552-ก.ย.2553 โดยคัดกรองในสถานบริการสาธารณสุขในเครือข่ายทุกแห่ง มีผู้ได้รับการตรวจคัดกรองทั้งสิ้นจำนวน 20,700 ราย พบว่า มีผู้ป่วยที่ต้องรับการรักษาด้านจิตจำนวน 154 ราย แยกเป็นผู้พยายามฆ่าตัวตาย 68 ราย มีปัญหาด้านจิตจากสุราและสารเสพติด 24 ราย ป่วยเป็นโรคจิต 31 ราย โรคซึมเศร้า 27 ราย ในส่วนปัญหาที่น่าสนใจ คือ ผู้ที่พยายามฆ่าตัวตายนั้นส่วนมากเป็นวัยรุ่นอายุ 16-24 ปี ประสบปัญหาเรื่องการผิดหวังจากความรักและปัญหาภายในครอบครัว ขณะที่วัยทำงานอายุระหว่าง 24-40 ปี มักมีปัญหาครอบครัว และต้องเผชิญกับภาวะซึมเศร้า แต่ยังสามารถรักษาได้ง่ายกว่า เพราะส่วนมากแค่ซึมเศร้า ไม่ได้ถึงขั้นพยายามฆ่าตัวตาย ทั้งนี้ สำหรับผู้ป่วยโรคที่พยายามฆ่าตัวตายนั้นทางทีมจิตเวชได้คัดกรองซ้ำอีกครั้ง พบว่า มีผู้ป่วย 49 รายต้องให้การเยียวยาแบบองค์รวม คือ รักษาผู้ป่วยควบคู่กับการแนะนำวิธีการดูแลผู้ป่วยที่ถูกต้องแก่ครอบครัวและญาติ ขณะที่ผู้ป่วยโรคจิตและซึมเศร้าที่พบว่ามีแนวโน้มจะเป็นอันตรายต่อตนเองหรือผู้อื่น ทาง รพ.ศรีสะเกษ ได้ส่งต่อรักษาที่ รพ.พระศรีมหาโพธิ์ จ.อุบลราชธานี ซึ่งขณะนี้มีอยู่ 13 ราย สำหรับผู้ป่วยติสุราและสารเสพติดก็กำลังบำบัดรักษา และผู้ป่วยรายอื่นที่ไม่ได้กล่าวมา ได้มอบหมายให้ศูนย์สุขภาพชุมชนของ รพ.ศรีสะเกษดูแล โดยมีพยาบาลจิตเวช และอาสาสมัครสาธารณสุขชุมชนเป็นผู้ดูแล โดยคาดว่าในอนาคตจะเร่งดำเนินงานให้ครอบคลุมทั่วทั้งจังหวัด