xs
xsm
sm
md
lg

ครูราชภัฏหอบเงินช่วยเหลือ ม.41 คืน สปสช.ร้องเอาผิด รพ.เอกชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ พร้อมด้วยผู้เสียหายจำนวน 10 คนเดินทางเรียกร้องขอความเป็นธรรมรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้ผลักดันร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ..สู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะปิดสมัยประชุมในช่วงเดือนพฤษภาคมนี้ ที่กระทรวงสาธารณสุข วานนี้ (28 ก.พ.)
ครูราชภัฏนครปฐม หอบเงินช่วยเหลือตาม ม.41 ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ พร้อมเรียกร้องให้ รพ.เอกชนรับผิดชอบ หลังสั่งจ่ายยาห้ามใช้แก่มารดาจนทำให้สทองบวมและเสียชีวิต ส่วนผลประชาพิจารณ์ในกลุ่มบุคลากรสาธารณสุข สังกัด รพ.เอกชน-กรมแพทย์ ไม่เห็นด้วย กม.คุ้มครองผู้ป่วย สผพท.เปิดรับสมัครทีมงานเพิ่ม เตรียมเดินหน้า แก้ กม.3 ฉบับ

วันนี้ (28 ก.พ.) นายไพรัช ดำรงกิจถาวร อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม หนึ่งในญาติผู้เสียหายทางการแพทย์ ได้เดินทางเข้าเรียกร้องขอความเป็นธรรมกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้มีการตรวจสอบกระบวนการช่วยเหลือเบื้องต้นตามมาตรา 41 ของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ต่อกรณีการเสียชีวิตของ นางไข ดำรงกิจถาวร อายุ 58 ปี มารดา ซึ่งเสียชีวิตจากโรคเส้นเลือดสมองตีบหลังจากถูกส่งตัวจากโรงพยาบาลเอกชนมายังโรงพยาบาลรัฐ ซึ่งกรณีนี้เชื่อว่าไม่สมควรเข้าเกณฑ์เบื้องต้นตามมาตรา 41 แต่ควรให้โรงพยาบาลเอกชนเป็นผู้รับผิดชอบมากกว่า พร้อมทั้งนำเงินช่วยเหลือเบื้องต้นจำนวน 100,000 บาท มาแสดงให้สื่อมวลชนก่อนคืนแก่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

โดย นายไพรัช กล่าวว่า มารดาของตนเป็นอีกผู้หนึ่งที่ได้รับความเสียหายทางการแพทย์ ซึ่งเดิมไม่เคยป่วยด้วยอาการใดๆ แต่เกิดอุบัติเหตุหกล้ม สะโพกหักจนต้องเข้าผ่าตัดที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งที่ จ.นครปฐม เข้ารับการรักษา แต่อาการกลับแย่ลงเรื่อยๆ โดยพบว่ามีภาวะสมองขาดเลือด จนสมองบวม และเป็นอัมพาตครึ่งซีก จึงได้ส่งตัวไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลศูนย์จังหวัดนครปฐมตั้งแต่วันที่ 19 สิงหาคม และเสียชีวิตในวันที่ 30 กันยายน 2551 จากกรณีดังกล่าวจึงได้ทำหนังสือร้องเรียนต่อกระทรวง เพื่อให้ตรวจสอบการรักษาของแพทย์ที่ รพ.เอกชน ซึ่งต่อมาสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) นครปฐม ได้ดำเนินการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นตามมาตรา 41 ใน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แก่ทายาทผู้เสียชีวิตเป็นจำนวน 1 แสนบาท โดยแจ้งว่าเป็นกรณีเข้าหลักเกณฑ์ที่สมควรได้รับการช่วยเหลือ แต่ไม่ได้รับการตรวจสอบผลการรักษาของโรงพยาบาลเอกชนแต่อย่างใด ทั้งๆ ที่เรื่องนี้ควรเป็นความรับผิดชอบของโรงพยาบาลเอกชนมากกว่า

นายไพรัช กล่าวต่อว่า หลังจากนั้น ทางครอบครัวได้ดำเนินการฟ้องร้องโรงพยาบาลเอกชนเป็นคดีผู้บริโภค ซึ่งระหว่างสืบพยานโจทย์ พบว่าภาวะสมองเสียหาย เพราะแพทย์สั่งยา ที่เรียกว่า ไนฟีดิปีน (Nifedipine) ซึ่งเป็นยาอมใต้ลิ้นเพื่อลดความดันโลหิต จนความดันโลหิตตกลงมากอย่างรวดเร็ว ทำให้ขาดเลือดไปเลี้ยงสมอง ซึ่งยาตัวนี้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) และคณะกรรมการบัญชียาหลักแห่งชาติได้ถอนยาตัวนี้ออกจากบัญชียาหลักแห่งชาติตั้งแต่ปี 2547 แต่มารดาของตนกลับได้รับยานี้ในปี 2551 น่าสงสัยว่า กรณีที่เกิดขึ้นโรงพยาบาลเอกชนแห่งนี้ไม่ได้เป็นหน่วยบริการของ สปสช.จึงไม่แน่ใจว่าจะเข้าข่ายมาตรา 41 ด้วยหรือไม่

ด้าน นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช.กล่าวว่า สำหรับกรณีนี้ยังไม่ได้รับเรื่องร้องเรียน แต่โดยเจตนารมณ์ของมาตรา 41 นั้น ไม่ได้ต้องการช่วยเหลือหน่วยบริการ แต่ต้องการช่วยเหลือคนไข้ที่อยู่ภายใต้ระบบทุกคน ซึ่งไม่ว่าจะรักษาที่โรงพยาบาลเอกชน หรือโรงพยาบาลรัฐ หรือโรงพยาบาลที่เป็นหน่วยบริการของ สปสช.หรือไม่ ก็ล้วนได้รับสิทธิทั้งสิ้น เพราะเป็นเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่คนไข้ ไม่ได้ให้หน่วยบริการ

วันเดียวกัน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ พร้อมด้วยกลุ่มผู้เสียหายจำนวน 10 คนเดินทางเรียกร้องขอความเป็นธรรมรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้ผลักดันร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ..สู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะปิดสมัยประชุมในช่วงเดือนพฤษภาคมนี้

ขณะที่ สหพันธ์ผู้ประกอบวิชาชีพด้านการแพทย์และสาธารณสุข (สผพท.) และตัวแทนบุคลากรต่างๆจำนวนกว่า 200 คน ทั้งจากกรมการแพทย์ โรงพยาบาลในสังกัด กทม.โรงพยาบาลเอกชน และคลินิกใน กทม.เข้าร่วมประชุมโครงการให้ข้อมูลและประชาพิจารณ์ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ....ที่ห้างประชุมไพจิตรปวะบุตร

โดย พญ.เชดชู อริยศรีวัฒนา ประธาน สผพท.กล่าวว่า ในวันนี้ ได้ชี้แจงถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองฯ ที่เสนอโดย คณะรัฐมนตรีนั้นมีข้อด้อยอย่างเด่นชัดตั้งแต่คำนิยาม คำว่า “ความเสียหาย”ในมาตรา 6(1) ซึ่งเป็นคำที่มีความสำคัญแต่ผู้เสนอและผู้สนับสนุนร่าง พ.ร.บ.กลับปล่อยให้คณะกรรมการสร้างเสริมความสัมพันธ์ที่ดีในระบบบริการสาธารณสุข ไปใช้ดุลพินิจเอาเองว่า คำนิยามคืออะไร โดยกำหนดไว้ว่า เป็นความเสียหายที่ดำเนินไปตามปกติของโรค เนื่องจาก คกก.ส่วนใหญ่ในชุดนี้ ไม่ใช่ผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจอย่างถ่องจึงอาจประเมินความเสียหายผิดพลาดได้ ดังนั้นหากจะมีการออกกฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนจริงๆ ต้องแก้ไขตั้งแต่คำนิยาม และแก้ไขสัดส่วนกรรมการให้เหมาะสมกว่านี้

ด้าน พ.ญ.อรพรรณ์ เมดาดิลกกุล รองประธาน สผพท.กล่าวว่า สำหรับผลการประชาพิจารณ์ครั้งนี้นั้น พบว่าทุกคนไม่สนับสนุน พ.ร.บ.คุ้มครองฯ โดยส่วนใหญ่มองว่า ยังไม่มีความเป็นธรรมในเรื่องของสัดส่วน คกก.เสริมสร้างฯ ที่เปิดช่องทางให้เอ็นจีโอเข้าไปมีส่วนมากเกินไปด้วย อย่างไรก็ตามเพื่อการสร้างความเข้มแข็งในการเดินหน้าคัดค้าน พ.ร.บ.ฉบับนี้ ทางสผพท.ได้เปิดรับสมาชิกเพื่อทำงานร่วมกัน ในชื่อของ คณะทำงานเข้าชื่อเสนอกฎหมายเพื่อปฏิรูปสาธารณสุข (ก.สธ.) เพื่อระดมทีมในการแก้ไขกฎหมาย จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่ 1.พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการและบุคลากรสาธารณสุข (แยกจาก ก.พ.และแยกบัญชีเงินเดือน สธ.) 2.พ.ร.บ.ยกเลิกกฎหมายที่เป็นอุปสรรคในการบริการราชการสาธารณสุข รวมทั้งการ ยุบ สปสช.เข้าเป็นกรมใน สธ.และ 3.พ.ร.บ.จัดบริการสาธารณะด้านสาธารณสุข (ฉบับใหม่) โดยการรับสมัครทีมงานครั้งนี้ จะทำให้ทาง สผพท.มีการเดินหน้าแก้ไขกฎหมายอันเป็นประโยชน์แก่วงการสาธารณสุขให้เร็วยิ่งขึ้น

พ.ญ.อรพรรณ์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ผลการทำประชาพิจารณ์ในวันนี้จะนำเสนอต่ออธิบดีกรมการแพทย์ เพื่อเสนอต่อ รมว.สธ.ต่อไป ก่อนจะเดินหน้า เพื่อทำประชาพิจารณ์ในเรื่องเดียวกันแก่บุคลากรใน รพ.สังกัด กทม.ในวงกว้างอีกครั้ง ในเร็วๆ นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น