xs
xsm
sm
md
lg

ฟังเลขาฯ “มูลนิธิสืบ” วิเคราะห์น้ำท่วมกรุง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศศิน เจริญลาภ วิเคราะห์โอกาสเกิดน้ำท่วมกรุงเทพฯ
หลายคนกำลังกังวลต่อสถานการณ์น้ำที่อาจจะท่วมกรุงเทพฯ ซึ่งเลขาฯ “มูลนิธิสืบ” ได้ออกมาวิเคราะห์สถานการณ์ผ่านยูทิวบ์ ระบุมีโอกาส 50-50 ที่น้ำจะท่วมเมืองหลวงหรือไม่ก็ได้ โดยต้องลุ้นไปถึงวันลอยกระทง จึงอยากให้เตรียมตัวเผื่อไว้ เก็บข้าวของและเอกสารสำคัญขึ้นที่สูง แต่ไม่ต้องตระหนก หากท่วมจริงเชื่อว่ากรุงเทพฯ มีศักยภาพที่จะแก้สถานการณ์ได้

คลิปวิเคราะห์โอกาสน้ำท่วมกรุงเทพฯ โดย ศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ที่เผยแพร่ผ่านยูทิวบ์ (YouTube) ได้อธิบายว่า โอกาสที่น้ำจะท่วมกรุงเทพฯ นั้นมีโอกาส 50-50 คือ น้ำอาจจะท่วมหรือไม่ท่วมกรุงเทพฯ ก็ได้ โดยขณะนี้มีน้ำท่วมพื้นที่ราบภาคกลางอยู่ 10,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งต้องใช้เวลาระบายน้ำทั้งหมด 3 เดือน แต่ไม่อยากให้ตื่นตระหนกและก็ไม่ประมาท โดยอยากให้เตรียมพร้อม เก็บทรัพย์สินและเอกสารสำคัญไว้ในที่สูง และเตรียมเสบียงอาหารเท่าที่จำเป็นแต่ไม่ต้องมากนัก

ศศิน ให้สัมภาษณ์แก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ว่า ทำคลิปดังกล่าวขึ้นมาเล่นๆ ทั้งนี้ โดยส่วนตัวแล้วมีบ้านอยู่อยุธยา จึงติดตามข่าวสารเรื่องน้ำมาโดยตลอด และประเมินสถานการณ์จากตัวเอง เนื่องจากมีข่าวลือ ทั้งเรื่องจะมีการปล่อยน้ำให้ท่วมกรุงเทพฯ ซึ่งไม่จริง รวมถึงบางคนที่เชื่อว่าน้ำไม่ท่วมกรุงเพทฯ ซึ่งไม่จริง เพราะมีโอกาสที่น้ำจะท่วมหรือไม่ท่วมก็ได้ จึงอยากให้คิดว่ามีโอกาสที่น้ำจะท่วมได้ทุกวินาที แต่หากน้ำท่วมก็คิดว่ากรุงเทพมหานครมีศักยภาพที่จะซ่อมคันกั้นน้ำและระบายน้ำออกไปได้ เหมือนที่นครสวรรค์ทำได้
ศศินชี้ตำแหน่ง จ.นครสวรรค์ ซึ่งกำลังรับน้ำกว่า 5,000 ล้านลูกบาศก์เมตร
สถานการณ์เกิดขึ้นนี้ เลขาฯ มูลนิธิสืบ กล่าวว่า เป็นฤดูกาลปกติ เพียงแต่คนเราห่างไกลธรรมชาติ จึงตกใจต่อสถานการณ์ดังกล่าว อย่างไรก็ดี ปริมาณน้ำที่มากขนาดนี้ทำให้กรุงเทพฯ ต้องลุ้นกันไปจนถึงวันลอยกระทงหรืออีกประมาณเดือนครึ่ง และหากพายุที่กำลังก่อตัวที่ฟิลิปปินส์เคลื่อนตัวขึ้นไปไต้หวันก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าเคลื่อนมาเติมน้ำที่นครสววรคค์ก็จะเกิดความยุ่งยาก ทั้งแก่นครสวรรค์ พระนครศรีอยุธยา รวมถึงกรุงเทพฯ ด้วย ซึ่งจะบอกได้ว่าพายุที่กำลังก่อตัวนั้นจะส่งผลกระทบหรือไม่ได้ในอีก 3 วันข้างหน้า (นับจากวันที่ 12 ต.ค.54) และเดือน พ.ย.พายุก็จะเริ่มลงใต้ตามฤดูกาลปกติ ซึ่งต้องไปดูเรื่องน้ำท่วมภาคใต้กันต่อ

ทั้งนี้ ศศิน ศึกษามาทางด้านธรณีสัณฐานวิทยาจึงวิเคราะห์เรื่องนี้ได้โดยตรง เขาอธิบายอีกว่าตอนนี้มีน้ำท่วมที่ราบภาคกลางอยู่ 10,000 ล้านลูกบาศก์เมตร และไหลลงกรุงเทพฯ วินาทีละประมาณ 3,000 ลูกบาศก์เมตร (แก้ไขข้อมูลที่ระบุในคลิปยูทิวบ์) คิดเป็นราววันละ 300 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่กรุงเทพฯ มีศักยภาพระบายน้ำได้วันละ 200 ล้านลูกบาศก์เมตร จึงมีปริมาณน้ำสะสมอยู่วันละ 100 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยคันกั้นน้ำของกรุงเทพฯ สามารถรับปริมาณสูงได้อีกแค่ 50 เซนติเมตร ซึ่งต้องคำนวณต่อว่าความสูงดังกล่าวคิดเป็นปริมาณน้ำเท่าใด

“อยากให้กรุงเทพฯ เฝ้าระวัง หากฝนตกทางเหนืออีก และเขื่อนภูมิพลปล่อยน้ำเพิ่ม เชื่อว่า น้ำล้นคันกั้นน้ำแน่ ซึ่งมีกรณีที่เป็นไปได้ คือ คันกั้นน้ำพังเป็นจุด ซึ่งเชื่อว่ากรุงเทพฯ มีศักยภาพซ่อมได้ และน้ำจะท่วมไม่มาก แต่ถ้าเขื่อนแตกแบบพังวินาศตั้งแต่ปากเกร็ด นนทบุรี คนกรุงเทพฯ จะแช่น้ำเป็นความสูง 1-2 เมตร แต่ถ้าพังทั้งหมดก็มีข้อดีคือน้ำจะไหลลงทะเลเร็ว และเป็นผลดีต่อพระนครศรีอยุธยา และนครสวรรค์ ธรรมชาติก็มีเหรียญสองด้านเสมอ” ศศิน กล่าว

ส่วนการจะใช้ชีวิตอยู่กับน้ำต่อไปอย่างไรนั้น ศศิน กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ต้องคุยกันอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ตั้งแต่เรื่องการวางผังเมือง การออกแบบบ้าน ไปจนถึงระบบระบายน้ำ ดูว่ามีคลองระบายน้ำได้แค่ไหนบ้าง โดยหลังจากน้ำลดแล้วเขาจะไปสำรวจคลองใหญ่ๆ ในกรุงเทพฯ 5-6 คลอง ซึ่งตอนนี้ตื้นเขินมาก และเขาให้ความเห็นอีกว่าปีหน้าเราอาจไม่เจอสถานการณ์เช่นปีนี้ เพราะเชื่อว่าน้ำไม่มามากทุกปี

พร้อมกันนี้ ทีมข่าววิทยาศาสตร์ฯ ได้สอบถามถึงสถานการณ์น้ำจาก ดร.รอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สสนก.บอกว่าเรายังต้องอยู่กับสถานการ์ณน้ำท่วมไปอีก 2 เดือน กว่าที่เราจะระบายน้ำได้หมด และต้องดูปริมาณน้ำใหม่ที่กำลังจะมาอีก ซึ่งปีนี้น้ำเยอะกว่าทุกปีจริงๆ ส่วนเทคโนโลยีที่ใช้บริหารจัดการน้ำนั้นยังขาดอยู่เล็กน้อย โดยเทคโนโลยีสำคัญๆ ที่ยังต้องการเพิ่มคือ ระบบโทรมาตรที่ต้องเสริมตามลำน้ำต่างๆ และแผนที่ภาพความสูงของภูมิประเทศ เฉพาะบริเวณน้ำท่วม ซึ่งตอนนี้ยังไม่มี รวมถึงกำลังคนที่ยังต้องการเพิ่ม




ชมคลิปวิเคราะห์น้ำท่วมกรุงเทพฯ โดย เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธสืบนาคะเสถียร



กำลังโหลดความคิดเห็น