รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต แนะคนกรุงเทพฯ ติดตามข่าวน้ำท่วมอย่างมีสติ ติงข้อมูลเหตุการณ์น้ำท่วม สร้างความตกใจกลัวมากกว่าแจ้งเตือนภัย
กรณีประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ ต่างแห่กันซื้ออาหารแห้งตุนไว้ และนำรถไปจอดในที่สูง เพราะเกรงว่าจะเกิดน้ำท่วมกรุงเทพฯนั้น นพ.ทวี ตั้งเสรี รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า เป็นสัญชาตญาณของมนุษย์ทุกคน ที่เมื่อมีเหตุอะไรแล้วจะตื่นตระหนก ดังนั้น ข้อมูลที่ออกมาจากหน่วยงานราชการที่ดูแลโดยตรง หรือตามสื่อต่างๆ จึงต้องมีความชัดเจน ว่า พื้นที่ใดเป็นพื้นที่เสี่ยงในระดับอันตราย โดยอาจจะใช้สัญลักษณ์เป็นสี เช่น พื้นที่สีแดงที่มีความอันตราย ก็ควรที่จะระบุไปเลยว่าเป็นพื้นที่ใด และแจ้งให้ประชาชนระวังตัว ประชาชนจะได้เตรียมพร้อม หรือพื้นที่ใดยังอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยก็อาจจะใช้เป็นพื้นที่สีเขียว เพื่อที่จะไม่ให้ประชาชนตื่นตระหนก ทั้งนี้ การระบุความอันตรายของแต่ละพื้นที่มีความสำคัญมาก เพราะจะทำให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง และจะได้เตรียมตัวถูกว่าจะต้องทำอย่างไรบ้าง นอกจากนี้ การรายงานข่าวของสื่อบางชนิด ยังมีการใส่อารมณ์เข้าไปมาก ทำให้เห็นภาพที่น่ากลัวมากกว่าความเป็นจริง ขนาดตนฟังยังตกใจ ทั้งที่ความจริงแล้วเหตุการณ์ในบางพื้นที่ยังไม่ได้วิกฤตมาก
นพ.ทวี กล่าวต่อไปว่า ข้อสำคัญที่สุด ประชาชนจะต้องมีสติ ต้องคอยติดตามข้อมูลที่ชัดเจน เพราะขณะนี้บางคนแม้ไม่ได้อยู่ในพื้นที่เสี่ยงที่จะถูกน้ำท่วมในกรุงเทพฯ แต่กลับนำรถไปจอดที่ดอนเมืองแล้ว หรือบางคนยอมที่จะเสียเงินเป็นพันบาท เพื่อไปเช่าที่จอดรถที่อยู่บนอาคาร ทำให้เสียเงินโดยใช้เหตุ หรือบางคนยังมีการตุนอาหารไว้เต็มบ้าน ทั้งที่บ้านที่อยู่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม อีกประเด็นที่สำคัญ คือ การติดตามข่าว ซึ่งการติดตามข่าวสารข้อมูลเป็นเรื่องที่ดี แต่ไม่ควรที่จะติดตามข่าวตลอดทั้งวัน ในแต่ละวันควรติดตามข่าวครั้งละประมาณ 30-40 นาที แล้วหยุดพัก เพราะหากติดตามข่าวโดยตลอดไม่หยุดพัก อาจจะส่งผลให้เกิดความเครียดได้ โดยสัญญาณที่บ่งบอกถึงความเครียด คือ เริ่มปวดหัว ใจสั่น ทั้งนี้ เมื่อเกิดอาการดังกล่าวแล้วให้พักการติดตามข่าว และหาเพื่อนคุยเพื่อไม่ให้เกิดอาการเครียด
“ข่าวเกี่ยวกับน้ำท่วมที่ออกมาตามสื่อต่างๆ ในขณะนี้ ทำให้เกิดความตกใจกลัวมากกว่าการแจ้งเตือนภัย ซึ่งเรื่องข่าวสาร ข้อมูล ถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก สำหรับข้อแนะนำในการติดตามข่าวสารเกี่ยวกับน้ำท่วมนั้น 1.ต้องติดตามข่าวสารอย่างมีสติ 2.ไม่ควรติดตามข่าวสารติดต่อกันเป็นเวลานานเกินไป แต่ควรเป็นลักษณธการติดตามข่าวสารแบบถี่ ครั้งละประมาณ 30-40 นาที แล้วหยุดพัก 3.หากมีอาการปวดศีรษะ ปวดต้นคอ ไม่ค่อยมีสมาธิ แสดงว่า เริ่มมีอาการเครียด ควรที่จะพักการเสพข่าว ให้หาเพื่อนคุย หรือเปลี่ยนบรรยากาศไปทำกิจกรรมอย่างอื่น ส่วนประชาชนในพื้นที่น้ำท่วมอยากให้อยู่อย่างมีความหวัง มองโลกด้านบวกต้องมีความหวังที่จะสู้ต่อ” นพ.ทวี กล่าว