สวทช.เผย 10 เทคโนโลยีน่าลงทุนแก่นักธุรกิจ จับกระแสโลกร้อนและอนาคตสังคมคนแก่ พร้อมคาดหวังจะผลักดันให้เกิดการวิจัยและพัฒนาในภาคเอกชน และยกระดับกระทรวงวิทยาศาสตร์เป็นกระทรวงเศรษฐกิจ ที่เพิ่มมูลค่าธุรกิจด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และผลักดันให้เกิดการวิจัยในภาคเอกชน
ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เผยถึง 10 เทคโนโลยีที่น่าจับตามองสำหรับธุรกิจภายในงาน NSTDA Investors’ Day 2011 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 22 ก.ย.54 ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ ภายใต้แนวคิด “ลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยีอย่างสร้างสรรค์เพื่อความมั่นคงและยั่งยืน”
สำหรับเทคโนโลยีที่น่าจับตามองที่โลกกำลังจะไปในทิศทางใดนั้น ดร.ทวีศักดิ์กล่าวว่า เป็นการรวบรวมและคัดสรรจากทีมงาน สวทช. ซึ่งพบว่าคนเรามีอายุขึ้นเรื่อยๆ ทำให้พบปัญหาเรื่องความเสื่อมตามมา และยังมีภาวะโลกร้อนที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมที่กระทบต่อการดำรงชีวิต
เทคโนโลยีซึ่งถูกจัดให้อยู่ในอันดับ 10 ที่น่าจับตาสำหรับนักลงทุนคือเทคโนโลยีเกี่ยวกับอวัยวะซ่อมเสริมหรืออวัยวะเทียม (Artificial Organ) ที่จะช่วยสนับสนุนและเพื่อคุณภาพชีวิตให้แก่ผู้ป่วย ผู้สุงอายุ หรือผู้พิการที่มีร่างกายเสื่อมถอย จึงต้องสร้างเสริมอวัยวะเพื่อมาซ่อมแซม
แนวทางสำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีนี้ ได้แก่ สร้างอวัยวะเทียม เช่น หัวใจเทียม มือเทียมที่อาศัยสัญญาณจากกล้ามเนื้อเพื่อควบคุมการเคลื่อนไหว ใช้สเต็มเซลล์ (Stem cell) หรือเซลล์ต้นกำเนิด ซึ่งมีตัวอย่างการสร้าง “ท่อลมขั้วปอด” จากสเต็มเซลล์ได้สำเร็จ และการสร้างอุปกรณ์ไฮเทค เช่น ชุดทางการทหารที่ช่วยให้ยกของหนักๆ ได้
“อันดับ 9 เป็นเทคโนโลยีระบบน้ำส่งยาด้วยนาโนเทคโนโลยี ซึ่งโอกาสที่เราจะค้นพบยาใหม่ๆ มียากขึ้น อนาคตต่อไปผู้ผลิตต้องหาวิธีนำส่งยาน้อยๆ แต่ไปได้ตรงเป้าหมาย ซึ่งไทยเองก็มีการพัฒนาระบบน้ำส่งยา เช่น ยารักษาโรคมะเร็ง และระบบเพิ่มการละลายของยา เป็นต้น” ผอ.สวทช.กล่าว
เทคโนโลยีน่าจับตาสำหรับนักลงทุนอันดับ 8 คือ การวินิจฉัยและการรักษาทางการแพทย์ที่ใช้จีโนมส่วนบุคคล ด้วยการหาลำดับเบสของสารพันธุกรรม ซึ่งทุกคนมีสารพันธุกรรมที่เหมือนกัน 99.9% และมี 0.1% ที่แตกต่างกันซึ่งจะบอกได้เราจะเป็นโรคอะไร และจะเกิดอะไรกับเราบ้าง โดยเทคโนโลยีการวินิจฉัยด้วยการวิเคราะห์จีโนมเฉพาะบุคคลนี้จะมีราคาถูกลงเรื่อยๆ จากเดิมเป็นแสนเป็นล้านบาท เหลือเพียงไม่กี่หมื่นบาท
ส่วนพลังงานชีวภาพจัดเป็นเทคโนโลยีลำดับ 7 ที่น่าลงทุน ซึ่ง ดร.ทวีศักดิ์กล่าวว่าปัจจุบันมีความพยายามพัฒนาพลังงานชีวภาพจากเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร อาทิ ฟาง ใบไม้ กิ่งก้านพืชเกษตร เป็นต้น ซึ่งจะช่วยลดการแย่งแหล่งอาหาร
“หากแต่เศษเหลือทิ้งเหล่านั้นเป็นเซลลูโลสที่กระบวนการหมักยังสลับซับซ้อน และยังมีใครไปถึงดวงดาว จึงมีการทุ่มพัฒนาจุลินทรีย์ และมีการทำจีเอ็มโอเพื่อให้จุลินทรีย์ย่อยสลายเซลลูโลสออกมาเป็นเชื้อเพลิงให้ได้ ซึ่งตอนนี้เริ่มมีโรงงานต้นแบบแล้ว และของไทยก็มีโรงงานผลิตเอทานอลจากชานอ้อยอยู่ที่สระบุรี” ดร.ทวีศักดิ์กล่าว
มาถึงเทคโนโลยีอันดับ 6 คือเซลล์แสงอาทิตย์ ซึ่ง ดร.ทวีศักดิ์กล่าวว่า เราสามารถเปลี่ยนพลังงานตรงจากแสงอาทิตย์มาเป็นความร้อนได้เยอะ แต่เรายังเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์ไปเป็นไฟฟ้าได้น้อย ซึ่งเ)นเรื่องน่าสนใจหากเราสามารถทำได้ เพราะจะทำให้เรามีแหล่งพลังงานใหม่ สำหรับเซลล์แสงาอทตย์ที่น่าลงทุนสำหรับประเทศไทยนั้นควรเป็นเซลล์ที่ไม่กลัวร้อน เซลล์แสงอาทิตย์หลายชนิดประสิทธิภาพลดลงเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น
“ที่น่าสนใจคือเซลล์แสงอาทิตย์ประสิทธิภาพสูงชนิดรอยต่อแบบเฮเทอโร (High efficiency heterojunction solar cells) ซึ่งดูดกลือนแสงได้ดีเหมือนเซลล์แสงอาทิตย์แบบซิลิกอนทั่วไป แต่ใช้พลังงานความร้อนในการผลิตน้อยกว่า ทั้งนี้มีบริษัทเอกชนที่พัฒนาเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดนี้มานาน 20 ปี และเป็นโอกาสที่เราจะได้ต่อยอดวิจัยเพื่อผลิตจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ” ดร.ทวีศักดิ์
สำหรับเทคโนโลยีอันดับ 5 คือพลาสติกชีวภาพ โดย ดร.ทวีศักดิ์กล่าวว่า เม็ดพลาสติกชีวภาพชนิดพีบีเอส (PBS) นั้นเป็นเทคโนโลยีที่น่าลงทุน โดยลักษณะของพลาสติกจะมีลักษณะเป็นเรซินขาวขุ่น ขึ้นรูปได้ดีและย่อยสลายง่ายกว่าพลาสติกชีวภาพแบบพีแอลเอ (PLA: Polylacticacid)
มาถึงเทคโนโลยีน่าลงทุนเป็นอันดับ 4 คือ จีโอพอลิเมอร์ (Geopolymer) เป็นวัสดุจำพวกอะลูมิโนซิลิเกต ที่มีสมบัติทางกลดีมาก ทนไฟ ทนสารเคมี มีการค้นพบจากการสังเกตการเปลียนแปลงของหินภูเขาไฟ และนำมาสู่การพัฒนาวัสดุชนิดนี้ ซึ่งนำไปประยุกต์ใช้กับวัสดุก่อสร้างให้ทนไฟและมีน้ำหนักเบา และต่อไปในอนาคตจะพัฒนาเป็นเซรามิกส์ที่ไม่ต้องเผา ณ อุณหภูมิสูงๆ นอกจากนี้ยังมีต้นทุนต่ำ
ส่วนเทคโนโลยี 3 อันดับแรกที่น่าลงทุน ได้แก่ อันดับ 3 กราฟีน (Graphene) วัสดุชนิดใหม่ที่เกิดจากการเรียงตัวของโมเลกุลคาร์บอนเป็นรูป 6 เหลี่ยม แต่มีความบางเพียง 1 โมเลกุล ซึ่งทำให้นำไฟฟ้าได้ดีตามคุณสมบัติเชิงควอนตัม มีความโปร่งใสและแข็งแรงมาก ดร.ทวีศักดิ์คาดว่าจะมีเทคโนโลยีที่นำวัสดุชนิดนี้ไปใช้อย่างหลากหลายในอนาคต อาทิ ทรานซิสเซอร์ที่เล็กเพียง 240 นาโนเมตร และมีความเร็วถึง 100 กิกะเฮิรตซ์ หรือจอที่สามารถโค้งงอและม้วนเก็บได้ เป็นต้น
อันดับที่ 2 คือเทคโนโลยีจอภาพ 3 มิติ ซึ่งมีหลากหลายแบบ ซึ่งหลักการคือทำให้ตาซ้ายและตาขวาเห็นภาพเดียวกันในมุมต่างกัน เมื่อสมองประมวลผลจะทำให้เห็นเหมือนภาพ 3 มิติ ในตอนนี้เราเห็นเทคโนโลยีจอภาพ 3 มิติจายในราคาสูง แต่อนาคตเราจะได้เห็นการถ่ายทอดสัญญาณโทรทัศน์แบบ 3 มิติ และจะได้เห็นจอภาพที่มีราคาถูกลงเรื่อยๆ
สำหรับเทคโนโลยีที่น่าลงทุนอันดับ 1 คือ เทคโนโลยีเว็บ 3.0 หรือเว็บเชิงความหมาย (Semanic Web) ซึ่งจะเข้ามีบทบาทสำคัญในอนาคตอันใกล้นี้ โดยเว็บในรุ่นนี้จะทำให้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกัน โดยสิ่งสำคัญของเว็บคือการเชื่อมโยงเนื้อหา ไม่ใช่การเชื่อมโยงลิงค์อย่างที่ผ่านมา โดยมี “ออนโทโลยี” (Ontology) เป็นแนวคิดเบื้องหลังเทคโนโลยีนี้ และมีการแสดงผลบนมาตรฐาน RDF (Resource Definition Framework) OWL (Ontology Web Language)
สำหรับงาน NSTDA Investors’ Day นี้จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 โดยปี 2554 นี้มีนักลงทุนตอบรับเข้าร่วมงานประมาณ 400 คน และมีการนำเสนอ 5 ผลงานเด่นของ สวทช.เพื่อการเจรจาธุรกิจโดยมีนักลงทุนให้ความสนใจในผลงานเด่นดังกล่าว 28 ราย นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้นักวิจัยได้พบปะนักลงทุนเพื่อพูดคุยและแลกเปลี่ยนความเห็น เพื่อพัฒนานวัตกรรมที่ตอบความต้องการของภาคอุตสาหกรรม
“หวังว่างาน NSTDA Investors’ Day จะกระตุ้นให้เกิดการวิจัยและพัฒนาในภาคเอกชนมากขึ้น และจะยกระดับกระทรวงวิทยาศาสตร์ให้เป็นกระทรวงเศรษฐกิจ จากการเพิ่มมูลค่าธุรกิจด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” ดร.ทวีศักดิ์กล่าว