นักวิจัยสหรัฐฯ พัฒนาแบตเตอรีที่ชาร์จประจุได้เร็วกว่าเดิม 10 เท่า โดยเปลี่ยนวัสดุในแบตเตอรีลิเธียม-ไอออน ทำให้ใช้เวลาชาร์จเพียง 15 นาที แต่ใช้แบตเตอรีได้นานเป็นสัปดาห์ คาดว่าจะวางขายในท้องตลาดได้ภายใน 5 ปี
แบตเตอรีที่มีอายุการใช้งานได้นานขึ้นแม้ชาร์จเพียง 15 นาทีนี้เป็นผลงานของนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยนอร์ธเวสเทิร์น (Northwestern University) สหรัฐฯ ซึ่งบีบีซีนิวส์รายงานว่า พวกเขาได้เปลี่ยนวัสดุภายในแบตเตอรีลิเธียม-ไออน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพดังกล่าว และหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงนั้นคือการอัดรูเล็กๆ นับล้านในแบตเตอรี โดยนักวิทยาศาสตร์คาดว่าแบตเตอรีที่ใช้นวัตกรรมนี้จะมีวางขายในร้านค้าภายใน 5 ปี
แบตเตอรีโทรศัพท์มือถือที่ใช้เทคนิคของนักวิจัยจากนอร์ธเวสเทิร์นนี้จะใช้เวลาอัดประจุไฟฟ้าหรือชาร์จเพียง 15 นาที และทำให้มีประจุไฟฟ้าใช้นาน 1 สัปดาห์ ถึงได้เวลาชาร์จประจุใหม่ ซึ่งกุญแจสำคัญของกระบวนการดังกล่าวคือความหนาแน่นและการเคลื่อนย้ายของไอออนลิเธียม
ดร.ฮาโรลด์ คัง (Dr.Harold Kung) พร้อมทีมวิจัยของเขาจากมหาวิทยาลัยนอร์ธเวสเทิร์น กล่าวว่าพวกเขาพบวิธีที่จะอัดประจุเข้าไปและเร่งให้เคลื่อนที่เร็วขึ้นได้ด้วยการเลือกวัสดุที่ใช้ในการผลิตแบตเตอรี โดยประจุที่เพิ่มขึ้นนี้ได้จากการใช้ซิลิกอนที่รวมเป็นกลุ่มเล็กๆ แทนแบบแผ่น เพื่อเพิ่มจำนวนไอออนลิเธียมที่แบตเตอรีหนึ่งจะเก็บไว้ได้
ส่วนความเร็วในการประจุไฟนั้นเร่งขึ้นได้ด้วยกระบวนการออซิเดชันทางเคมี ซึ่งจะเจาะรูเล็กๆ ที่มีความกว้างเพียง 20-40 นาโนเมตร ลงบนแผ่นกราฟีน (graphene) ในแบตเตอรี ซึ่งแผ่นดังกล่าวมีความหนาเพียงอะตอมชั้นเดียว กระบวนการนี้ช่วยให้ประจุของลิเธียมเคลื่อนย้ายและหาตำแหน่งแทนที่ได้เร็วมากขึ้น
หากแต่จุดอ่อนของแบตเตอรีนี้คือการชาร์จและกำลังที่ได้รับตกลงอย่างรวดเร็ว หลังจากชาร์จแบตเตอรีไปแล้ว 150 ครั้ง แต่ ดร.ฮาโรลด์ ศาสตราจารย์จากภาควิชาวิศวกรรมเคมีและชีววิทยากล่าวว่า หลังจากชาร์จแบตเตอรีไปแล้ว 150 ครั้ง ซึ่งคิดเป็นระยะเวลาใช้งานประมาณ 1 ปีหรือมากกว่านั้น แบตเตอรีดังกล่าวก็ยังมีประสิทธิภาพมากกว่าแบตเตอรีลิเทียม-ไอออนที่มีขายในปัจจุบัน
สำหรับงานวิจัยนี้นักวิจัยพายามเพิ่มประสิทธิภาพขอแบตเตอรีด้วยการปรับปรุงขั้วบวกหรือแอโนด (anode) ซึ่งเป็นตำแหน่งที่กระแสจะไหลเข้าสู่แบตเอรีเมื่อได้รับพลังงาน และตอนนี้ทางกลุ่มวิจัยวางแผนที่ศึกษาขั้วลบหรือแคโธด (cathode) ซึ่งเป็นตำแหน่งที่กระแสไหลออก ทั้งนี้ ปรับปรุงแบตเตอรีให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นอีก ส่วนรายละเอียดของงานวิจัยนี้ได้ตีพิมพ์ลงวารสารแอดวานซ์เอเนอจีแมทีเรียลส์ (Advanced Energy Materials)