xs
xsm
sm
md
lg

ชี้เทรนด์โลกอนาคต “อาหาร” และ “ยา” แยกกันไม่ออก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายศุภชัย และ ภกร.ดร.พิสุทธ์
ชี้เทรนด์โลกอนาคตอีกแค่ 5 ปีข้างหน้า “อาหาร” และ “ยา” จะเป็นสิ่งแยกกันแทบไม่ออก เพราะอาหารจะไม่มีไว้เพื่อให้กินอิ่มและอร่อยเท่านั้น แต่จะตอบสนองผู้บริโภคคามแนวคิด “ป้องกันดีกว่ารักษา” พร้อมชี้คนเรามักไม่รู้ตัวว่าขาดสารอาหารในกลุ่มเกลือแร่และวิตามิน ซึ่งจะส่งผลเสียต่อร่างกายในระยะยาว จึงจำเป็นต้องการกิน “อาหารเสริม”

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) มีกำหนดจัดงานประชุมสัมมนาและนิทรรศการนานาชาติด้านอาหารในโลกอนาคต (InnovAsia 2001: Food in the Future: FIF2011) ระหว่างวันที่ 15-17 ก.ย.54 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจนวัตกรรมอาหารจากทั่วโลก ทั้งในทวีปยุโรปและเอเชียรวม 25 คน มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ภายในงาน พร้อมทั้งเผยมุมมองการพัฒนานวัตกรรมอาหารของโลกในศตวรรษที่ 21 อาทิ ตัวแทนจากศูนย์วิจัยอาหารไนโซ่ ประเทศเนเธอร์แลนด์, ตัวแทนจาก บริษัท เซเรบอส แห่งเอเชีย แปซิฟิก และตัวแทนจากบริษัท มารูเซน ฟาร์มาซูติคอล ญี่ปุ่น เป็นต้น

นายศุภชัย หล่อโลหการ ผู้อำนวยการ สนช. เผยถึงการจัดงานดังกล่าวแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์และสื่อมวลชนว่า งานนิทรรศการอาหารในโลหอนาคตนี้จัดขึ้นทุกๆ 2 ปี โดยจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2552 และจะพยายามผลักดันให้งานดังกล่าวเป็นงานระดับนานาชาติ ซึ่งผู้เข้าชมงานน่าจะได้เห็นแนวโน้มของธุรกิจอาหารในอีก 5 ปีข้างหน้า ที่มีแนวโน้มว่าต่อไปในอนาคตนั้นอาหารและยานั้นแทบจะแยกจากกันไม่ออก

“ภายในงานจะได้เห็นนวัตกรรมอาหาร 4 กลุ่ม คือ กลุ่มอาหารเพื่อการควบคุมน้ำหนัก กลุ่มอาหารเพื่อการบำรุงสมอง ซึ่งตอนนี้กำลังมั่วๆ อยู่ เพราะมีเครื่องดื่มที่อ้างว่าดื่มแล้วฉลาด ดื่มแล้วสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ ซึ่งถ้าเราจะทำเรื่องนี้คงต้องมีการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ได้ อีกกลุ่มคือกลุ่มอาหารต้านชรา ชะลอความแก่ และสุดท้ายคือกลุ่มอาหารเพื่อสุขภาพที่ยั่งยืน จะเป็นอาหารที่ช่วยเสริมเฉพาะด้าน ซ่อมแซมเฉพาะที่ เช่น บำรุงข้อ บำรุงสายตา เป็นต้น” ผู้อำนวยการ สนช. กล่าว

ทางด้าน ภก.ดร.พิสุทธ์ เลิศวิไล นายกสมาคมผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพและกรรมการสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหารแห่งประเทศไทย (FoSTAT) กล่าวในทำนองเดียวกับนายศุภชัยว่า ในอนาคตอาหารและยาจะเป็นสิ่งที่มาบรรจบกันและแยกจากกันไม่ออก เหมือนที่ปราชญ์ในอดีตเคยกล่าวไว้ว่า “จงอาหารเป็นยาและใช้ยาเป็นอาหาร” ซึ่งเห็นได้จากภูมิปัญญาจีนที่อาหารหลายอย่างใช้ประโยชน์ในทางยาด้วย ซึ่งแนวคิดแบบ “ป้องกันไว้ดีกว่าแก้” นั้นเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการอยู่แล้ว

ด้านภาพรวมของนวัตกรรมอาหารทั่วโลกนั้น ภก.ดร.พิสุทธ์กล่าวว่า ญี่ปุ่นมีตลาดอาหารสุขภาพที่ใหญ่มาก เพราะมีกฎหมายเฉพาะ ซึ่งสินค้าจะได้รับการรับรองต่อเมื่อผ่านการทดลองในมนุษย์แล้วปลอดภัยเท่านั้น ส่วนสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศเสรีนั้นสามารถอ้างสรรพคุณของอาหารได้อย่างเต็มที่ แต่เนื่องจากผู้บริโภคอเมริกันนั้นฉลาดและแข็งแกร่งมาก หากสินค้าไม่ดีบริษัทจะถูกฟ้องจนล้มละลายได้ และในการกล่าวอ้างสรรพคุณเพื่อขอการรับรองจากหน่วยที่ควบคุมด้านอาหารและยานั้นต้องมีเอกสารที่พิสูจน์คุณสมบัติอย่างเป็นวิทยาศาสตร์เสนอแก่หน่วยงานอย่างเพียงพอ ไม่ใช่ส่งเอกสารเพียง 2-3 แผ่นเพื่อขอการรับรอง

นายศุภชัยบอกด้วยว่า อาหารนั้นถือเป็นจุดเด่นของประเทศไทย ซึ่งต้องยอมรับว่าฐานของประเทศนั้นเป็นเกษตรกรรม หากจะขายสินค้าด้านซอฟท์แวร์หรืออิเล็กทรอนิกส์นั้นเราได้ค่าส่วนเหลื่อมการตลาด (Marketing margin) เพียงเล็กน้อย แม้มูลค่าที่ขายได้จะสูง แต่เมื่อหักลบต้นทุนแล้วเหลือส่วนต่างเพียงเล็กน้อยเท่านั้น จึงจำเป็นต้องหันกลับมามองจุดแข็งของประเทศ โดยแนวทางในการพัฒนานวัตกรรมอาหารจะเน้นไปที่การขายของเป็นกรัม ขายสารสกัด ซึ่งดีกว่าการขายข้าวเป็นเกวียนแล้วได้เงินแค่หมื่นกว่าบาท

“เราไม่อยากขายข้าวเป็นเกวียน ซึ่งถ้าเอาวิทยาศาสตร์เข้าไปจับเราจะเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรได้มหาศาล จากขายเป็นเกวียนก็เปลี่ยนมาขายเป็นกรัม อย่างน้ำมันรำข้าวมีต้นทุนเป็นบาทแต่ขายได้เป็นร้อย ซึ่งธุรกิจสารสกัดเป็นธุรกิจที่ สนช.ให้ความสำคัญมาก แต่ต้องสกัดให้ได้สารบริสุทธิ์ จริง” นายศุภชัยกล่าว และให้นิยามอาหารของโลกอนาคตว่า ไม่ใช่แค่อิ่มอร่อย แต่ต้องให้ผลดีในด้านสุขภาพ และต้องช่วยปรับสมดุลในร่างกายด้วย

ตัวอย่างผลงานเด่นที่จะนำเสนอภายในงาน อาทิ เครื่องดื่มผสมสารสกัดเซราไมด์ที่ได้จากสับปะรด ซึ่งมีประโยชน์ในด้านความงาม โดยช่วยให้เซลล์ผิวกระจ่างใสและได้รับความชุ่มชื้น นวัตกรรมอาหารเสริมจากญี่ปุ่น “คิวเอช” (QH) ซึ่งเป็นอีกรูปของโคเอนไซม์คิวเท็น (Q10) แต่ร่างกายสามารถดูดซึมและนำไปใช้ได้ดีกว่า โยเกิร์ตผสมสารสกัดช่วยให้แบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของฟันผุตาย และสารให้รส “อูมามิ” หรือรสกลมกล่อมจากหอมหัวใหญ่ ซึ่งใช้แทนผงชูรสและเป็นวัสดุปรุงอาหารสำหรับผู้แพ้ผงชูรส เป็นต้น

อย่างไรก็ดี นวัตกรรมอาหารภายในงานนั้นเน้นที่อาหารเสริม ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ จึงสอบถามว่าการรับประทานอาหารเสริมนั้นมีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหน ซึ่ง ภก.ดร.พิสุทธ์กล่าวว่า โดยปกติแล้วเรามักไม่ขาดสารอาหารในหมู่หลักๆ คือ โปรตีน ไขมันและคาร์โบไฮเดรต แต่มักจะขาดอาหารหมู่ย่อยคือเกลือแร่และวิตามิน ซึ่งในระยัสั้นอาจไม่ส่งผลอะไรมากนัก แต่ในระยะยาวจะมีผลกระทบอย่างแน่นอน ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีผู้สุงอายุหลายคนเป็นโรคกระดูกพรุนหรือกระดูกผุ อันเกิดจากการขาดสารอาหารกลุ่มเกลือแร่และวิตามินที่จำเป็น ซึ่งเสื่อมสลายได้ง่ายจากการปรุงและการเก็บอาหารไว้นานๆ

“ถ้าร่างกายปกติ กินอาหารครบและออกกำลังกายเป็นประจำก็ไม่ต้องกินอาหารเสริมก็ได้ แต่คนเราจะมีช่วงที่ร่างกายแข็งแรงสูงสุดถึงอายุ 30 ปี หลังจากนั้นร่างกายจะเริ่มเสื่อมถอย สิ่งที่ควรทำคือควรดูแลให้การเสื่อมถอยช้าลง เริ่มจากการดูแลกินอาหารให้ครบ ออกกำลังกาย กินอาหารเสริมและดูแลสุขภาพจิต สำหรับการเลือกอาหารเสริมนั้นต้องดูความต้องการของแต่ละคน ซึ่งมีไม่เท่ากัน คนที่ต้องเดินถนน เจอมลพิษควรจะได้รับสารอาหารต้านอนุมูลอิสระ เช่น วิตามินซี ซึ่งเป็นอาหารเสริมพื้นฐานและมีราคาถูก และง่ายที่สุดสำหรับทุกคนคือกินวิตามินและเกลือแร่รวม” ภก.ดร.พิสุทธ์กล่าว
ตัวอย่างนวัตกรรมอาหารที่จะเสนอภายในงาน FIF2011
กำลังโหลดความคิดเห็น