xs
xsm
sm
md
lg

ปฐมบท “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์”

เผยแพร่:   โดย: ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

...นอกจากความสวยงามแล้ว “ภาพถ่ายดาราศาสตร์” ยังบันทึกแง่มุมทางวิทยาศาสตร์ของท้องฟ้าและดวงดาว อีกทั้งมีผู้คนสนใจถ่ายภาพประเภทนี้เพิ่มมากขึ้น เห็นได้จากโครงการ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย” ของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ที่จัดต่อเนื่องมา 4 มีจำนวนผู้ส่งภาพเข้าประกวดเพิ่มขึ้นทุกปี ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ จึงทาบทาม “ศุภฤกษ์ คฤหานนท์” เจ้าหน้าที่สารสนเทศทางดาราศาสตร์ สดร. ผู้มีประสบการณ์ถ่ายภาพดาราศาสตร์มาร่วม 10 ปี มาเขียนบทความถ่ายทอดความรู้และเทคนิคการถ่ายภาพแก่ผู้อ่านทุกท่าน...

***********
จุดเริ่มต้นของผมในการก้าวสู่วงการการถ่ายภาพดาราศาสตร์เกิดขึ้นเมื่อครั้งที่ผมยังเรียนปริญญาตรี
จุดเริ่มต้นของผมในการก้าวสู่วงการการถ่ายภาพดาราศาสตร์เกิดขึ้นเมื่อครั้งที่ผมยังเรียนปริญญาตรี โดยช่วงนั้นผมได้ออกเดินทางไปถ่ายภาพดาวที่ดอยภูคา อ.ปัว จ.น่าน ซึ่งเป็นจังหวัดบ้านเกิด ร่วมกับพี่ชายและเพื่อน ซึ่งพี่ชายนี่เองคืออาจารย์คนแรกที่สอนผมถ่ายภาพ และกล้องที่ใช้คือกล้อง Nikon FM กล้องฟิล์มที่มีอายุกว่า 10 ปีแล้ว และถือเป็น “กล้องครู” ของผม

กลางคืนที่ดอยภูคาผมแหงนหน้ามองฟ้าและเห็นดวงดาวระยิบระยับเต็มท้องฟ้าไปหมด ต่างจากท้องฟ้ายามค่ำคืนที่เคยเห็นแถวบ้าน ความสวยงามครั้งนั้นทำให้ผมนึกสนุกและอยากบันทึกกลุ่มดาวไว้ โดยที่ไม่ทราบว่าทิศอะไรเป็นทิศอะไร สิ่งที่ทำคือตั้งกล้องส่องยังไปกลุ่มดาวเท่านั้น และเปิดหน้ากล้องนาน 2 ชั่วโมงเพื่อเก็บแสงดาว ในครั้งแรกผมคิดว่าภาพที่ถ่ายได้จะเป็นจุดสว่างๆ ของกลุ่มดาว แต่เมื่อนำฟิล์มไปล้าง กลับได้ภาพดาวเป็นเส้นยาวๆ รูปครึ่งวงกลม ซึ่งสวยดีทีเดียว

ผมสงสัยว่าทำไมภาพดาวถึงเป็นเส้น เพราะตอนนั้นไม่มีความรู้เรื่องดาราศาสตร์เลย และยังไม่เข้าใจเรื่องกลไกของท้องฟ้าหรือการโคจรของดวงดาว จึงลองค้นหาหนังสือเกี่ยวกับดาราศาสตร์มาอ่านดู ตอนแรกๆ เข้าใจยากพอสมควร แต่เมื่อศึกษาด้วยการสังเกตจากท้องฟ้าจริงควบคู่ไปด้วย จึงเข้าใจว่าดาวทุกดวงบนท้องฟ้าล้วนแต่โคจรหมุนรอบ “ขั้วเหนือ” ของท้องฟ้าซึ่งก็คือ “ดาวเหนือ” นั่นเอง และนั่นคือจุดเริ่มการถ่ายภาพทางดาราศาสตร์ครั้งแรกในชีวิตผม

ผมมีประสบการณ์ถ่ายภาพมาเกือบ 10 ปีแต่ไม่เคยได้เรียนวิชาถ่ายภาพมาก่อน อาศัยการศึกษาเรียนรู้ด้วยตนเอง และลองผิดลองถูกมาเยอะ ยิ่งสมัยก่อนที่ยังใช้กล้องฟิล์มผมหมดเงินไปกับค่าฟิล์มและค่าล้างฟิล์มเยอะมาก และ ระหว่างเรียนปริญญาตรีผมก็ถ่ายภาพเป็นงานอดิเรก รวมถึงรับจ้างถ่ายภาพในงานรับพระราชทานปริญญาบ้าง งานแต่งงานบ้าง รวมถึงถ่ายภาพทิวทัศน์ไปตามโอกาส
โดมสำหรับปฏิบัติงาน ภายในมีกล้องโทรทรรศน์ และอุปกร์ณสำหรับบันทึกภาพเพื่อใช้ในงานวิจัย
ช่วงที่ถ่ายภาพดาวนั้นทำให้เวลาชีวิตของผมเปลี่ยนไปเพราะต้องทำงานกลางคืนและนอนตอนกลางวัน บางวันกว่าจะทำงานเสร็จต้องอาศัยความอดทนอย่างมาก จนมีคนเปรียบเทียบว่าต้องมีความแข็งแกร่งระดับ “ควาย” หรือ “แรด” จึงจะทนการทำงานนี้ได้ ความรู้สึกระหว่างนั้นเหมือนถูกหลอกให้มาทำงาน แต่การถ่ายภาพด้วยกล้องโทรทรรศน์ก็ทำให้ผมได้เรียนรู้ว่าเทคโนโลยีการถ่ายภาพด้วยกล้องดิจิทัลนี้มีจุดเริ่มต้นจากนักดาราศาสตร์นี่เอง นอกจากนั้นผมยังได้เรียนรู้กลไกของท้องฟ้าและได้รับความรู้ดาราศาสตร์ ซึ่งเป็นการเปิดโลกทัศน์การถ่ายภาพดาราศาสตร์ให้แก่ผมอย่างมาก

การถ่ายภาพทางดาราศาสตร์นั้นล้วนต้องอาศัยการเรียนรู้จากประสบการณ์ หากอ่านแต่ทฤษฎีแล้วไม่ลองปฏิบัติก็ยากที่จะเข้าใจ เช่น การถ่ายภาพกาแล็กซี เราจำเป็นต้องทราบก่อนว่ากาแล็กซีที่ต้องการถ่ายนั้นอยู่บริเวณไหนบนท้องฟ้า อยู่ในกลุ่มดาวอะไร และอยู่ใกล้กับดาวฤกษ์ดวงไหน พูดง่ายๆ คือ ต้องรู้ทิศ รู้มุม และรู้ว่าต้องใช้อุปกรณ์อะไรถ่ายบ้าง วัตถุที่จะถ่ายนั้นมีขนาดเชิงมุมเท่าไร ต้องเลือกใช้กล้องที่มีทางยาวโฟกัสเท่าไรจึงเหมาะสม บางครั้งใช้เวลานานไปภาพอาจสว่างเกินจนกลบรายละเอียด หรือใช้เวลาเร็วไปก็ไม่ได้รายละเอียดเลย ฟังดูอาจยุ่งยากแต่หากฝึกฝนก็จะทำให้เราเข้าใจได้ไม่ยากนัก
อุปกรณ์ที่ใช้บันทึกข้อมูลในการถ่ายภาพดาวเพื่อนำมาวิเคราะห์
กล้อง SLR แบบใช้ฟิล์ม อายุกว่า 10 ปี ยี่ห้อ Nikon FM กล้องตัวแรกในชีวิตผม
การถ่ายภาพดาราศาสตร์เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่น่าสนับสนุน ซึ่งนอกจากกระตุ้นให้วงการถ่ายภาพทางดาราศาสตร์ในเมืองไทยตื่นตัวมากขึ้นแล้ว ยังกระตุ้นให้คนไทยหันมาสนใจปรากฏการณ์ดาราศาสตร์เพิ่มขึ้นอีกด้วย และการภาพถ่ายทางดาราศาสตร์ยังเป็นการถ่ายภาพแขนงหนึ่งที่น่าค้นหา สามารถสร้างแรงบันดาลใจ และมุมมองแปลกใหม่ของการถ่ายภาพ จึงมีช่างภาพรุ่นใหม่ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก สำหรับคนทั่วไปมักคิดว่า การถ่ายภาพดาราศาสตร์มีความยุ่งยาก ต้องลงทุนกับอุปกรณ์มากมายที่มีราคาแพง แต่ในความเป็นจริงแล้วการถ่ายภาพดาราศาสตร์มีหลากหลายประเภท บางประเภทเพียงใช้กล้องดิจิทัลคอมแพ็คหรือกระทั่งกล้องจากโทรศัพท์มือถือก็ถ่ายภาพออกมาได้สวยงามเช่นกัน ซึ่งผมจะค่อยๆ เผยเทคนิคเหล่านี้ให้ทราบต่อไป

ผมอาจจะโชคดีกว่าคนอื่นที่ได้ทำงานในสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เพราะผมคงไม่มีเงินมากพอที่จะซื้ออุปกรณ์ต่างๆ เอง ผมจึงอยากนำเอาประสบการณ์การถ่ายภาพทางดาราศาสตร์และอยากนำเอาโอกาสที่มีประสบการณ์ได้เรียนรู้จากอุปกรณ์หลากหลายประเภทมาถ่ายทอดให้หลายๆ ท่านที่สนใจการถ่ายภาพทางดาราศาสตร์ได้ทราบกันครับ
*********************

เกี่ยวกับผู้เขียน




ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

ปัจจุบันเป็นเจ้าหน้าที่สารสนเทศทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร. , เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร. ในหัวข้อ "มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย"

"คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย"

อ่านบทความ ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน
กำลังโหลดความคิดเห็น