xs
xsm
sm
md
lg

การถ่ายภาพยามค่ำคืนในช่วงฤดูฝน

เผยแพร่:   โดย: ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

ฟ้าผ่าอาจเกิดขึ้นในช่วงฝนตก ก่อนฝนตก หรือหลังฝนตกก็ได้ จากภาพเป็นช่วงก่อนฝนตกโดยเลือกสถานที่บนตึกโรงพยาบาลศิริราชเนื่องจากโรงพยาบาลศิริราชอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาโดยเลือกใช้เลนส์มุมกว้างทำให้ได้องค์ประกอบภาพที่สวยงาม ภาพโดย : หรรษา ตั้งมั่นภูวดล : Canon EOS 1DS Mark2 ISO 100 F5 Canon EOS 1Ds Mark II / F 2.8 / 6 วินาที /  ISO 100
ในคอลัมน์นี้ผมก็จะขอกล่าวถึงเรื่องการถ่ายภาพยามค่ำคืนเพื่อเป็นการเรียกน้ำย่อยกันก่อนจะถึงช่วงฤดูหนาวซึ่งเป็นช่วงแห่งการถ่ายภาพดวงดาว แต่เพราะช่วงนี้ก็ยังเป็นช่วงฤดูฝนกันอยู่ การจะออกไปถ่ายภาพดาวนนั้นก็คงลำบาก และต้องเสี่ยงกับฟ้าฝนอีกด้วย ในช่วงฤดูฝนนั้นใช่ว่าเราจะไม่สามารถถ่ายภาพยามค่ำคืนที่สวยงามได้ แต่กลับเป็นโอกาสดีที่เราจะได้เรียนรู้กับเทคนิคและแนวทางการถ่ายภาพใหม่อีกด้วย และที่ผมจะกล่าวก็คือการถ่ายภาพปรากฎการณ์ในบรรยากาศโลก ใช่แล้วครับการถ่ายภาพฟ้าผ่านั้นเอง ฟังดูก็อาจจะน่ากลัวแต่จริงๆ แล้วในเมืองใหญ่หรือตามตึกสูงจะถูกติดสายล่อฟ้าเอาไว้แล้วครับเพราะฉะนั้นก็ไม่น่าจะต้องห่วงอะไร ก็คงจะมีแต่เรื่องของเสียงเท่านั้นที่อาจทำให้เราตกใจได้ ถ้าใครเป็นโรคหัวใจก็ขอเตือนว่าคงไม่เหมาะแน่ แต่ในทางกลับกันหากใครใจกล้าพอและอยู่ในกรุงเทพฯ หรือเมืองใหญ่ๆ แล้วล่ะก็ ในช่วงเวลาที่ฝนตกมีสายฟ้าผ่าลงมาเป็นเส้นสายก็ไม่ควรพลาดที่จะนำกล้องขึ้นมาบันทึกภาพที่น่าตื่นเต้นนี้เอาไว้ ส่วนตัวผมเองยังแอบอิจฉาคนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ หรือในเมืองใหญ่ที่มีตึกสูงๆ มีสายล่อฟ้าเต็มไปหมดเวลาฟ้าฝ่าทีก็จะมีสายฟ้าให้เห็นติดๆ กันดูน่าตื่นเต้นและประกอบกับมีแสงไฟของตึก ถนน หรือป้ายต่างๆมากมาย ซึ่งมันช่วยเพิ่มสีสันของภาพได้ไม่น้อยเลยทีเดียว

ทำความเข้าใจกันก่อน
หลักการถ่ายภาพถ่ายภาพยามค่ำคืนก็ไม่ต่างจากการถ่ายภาพตอนกลางวันเพียงแต่สภาพแสงน้อยกว่ากันมาก จึงต้องชดเชยด้วยการเปิดชัตเตอร์ค้างเป็นเวลานานเพื่อสะสมปริมาณแสงให้เพียงพอจนเกิดเป็นภาพขึ้นมา คำว่านานในที่นี้หมายถึงหลายนาทีหรือบางทีอาจนานเป็นชั่วโมง งานนี้จึงเหมาะสำหรับกล้องที่มีชัตเตอร์ B และสามารถต่อสายลั่นชัตเตอร์หรือสายรีโมทได้ สิ่งที่ยากก็คือเราไม่สามารถใช้ระบบวัดแสงในตัวกล้องเพื่อคำนวนหาค่าบันทึกภาพที่เหมาะสมได้เหมือนในตอนกลางวัน แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าควรใช้ค่าไหนในการถ่ายภาพในปัจจุบันเราใช้กล้องดิจิทัลกัน ก็ใช้วิธีลองผิดลองถูกไปเรื่อยๆ ครับ ไม่ดีก็ถ่ายใหม่ ส่วนตัวผมจากประสบการณ์แล้วถ้าเป็นการถ่ายภาพในเมืองใหญ่ที่มักมีแสงไฟจากตึก ป้าย หรือไฟถนนอยู่แล้วก็จะเลือกใช้ความไวแสง ISO 100-200 ขนาดรูรับแสง F8-16 เพื่อให้กล้องเปิดชัตเตอร์ค้างเป็นเวลานานเพื่อเพิ่มโอกาสการเกิดปรากฏการณ์ฟ้าฝ่า และสะสมปริมาณแสงไฟเพื่อให้เกิดแฉกขึ้นนั้นเอง นอกจากนั้นยังทำให้เส้นสายฟ้าคมชัดอีกด้วยเป็นสูตรที่ผมใช้มาตลอด โดยมากผมจะใช้ที่ค่า ISO 200 เป็นมาตรฐาน แต่อาจปรับเปลี่ยนให้สูงขึ้นไม่เกิน 400 ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในตอนนั้นว่ามีฟ้าผ่ามากน้อยแค่ไหน สถานที่ที่เราจะถ่ายภาพมีแสงสว่างของดวงไฟต่างๆ มากน้อยเท่าใด

จากสูตรนี้หากต้องการปรับเปลี่ยนขนาดรูรับแสงให้แคบลงเพื่อคุมระยะชัดในภาพ ก็ให้ชดเชยเวลาในการเปิดชัตเตอร์นานขึ้นตามอัตราส่วน หากลดขนาดรูรับแสงให้แคบลง 1 สตอป ก็ต้องเปิดชัตเตอร์เป็นเวลานานขึ้นอีกเท่าตัว เวลาที่ใช้ถ่ายจริงไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงสูตรตายตัวทุกครั้ง ค่าที่ผิดเพี้ยนเพียงเล็กน้อยไม่กี่นาทีจะเห็นผลต่างในภาพน้อยมาก ใช้เป็นค่าโดยประมาณก็พอครับ แต่สิ่งสำคัญน่าจะอยู่กับอุปกรณ์และการตั้งค่าการถ่ายภาพของกล้องมากกว่าครับ เอาล่ะมาดูกันว่าอุปกรณ์และขั้นตอนการเซ็ทค่าต่างๆ ของกล้องกันดีกว่าครับ

อุปกรณ์ที่จำเป็นในการถ่ายภาพ
ก่อนอื่นต้องมาดูกันว่าก่อนจะไปถ่ายภาพสายฟ้าเราจำเป็นต้องเตรียมอะไรบ้าง
- กล้องถ่ายภาพ : ต้องเป็นกล้องที่มีชัตเตอร์ B ที่สำคัญควรชาร์จแบตเตอรี่ให้เต็ม และหากเป็นไปได้ควรมีแบตฯ สำรองอีกอย่างน้อยหนึ่งก้อนเผื่อไว้ด้วย ยิ่งถ้าคุณวางแผนจะถ่ายภาพให้ได้ภาพสายฟ้าในภาพมากๆ แล้วก็ยิ่งต้องเตรียมเผื่อไว้ เพราะการถ่ายภาพสายฟ้าจำเป็นต้องเปิดชัตเตอร์ค้างเป็นเวลานานจึงทำให้เปลืองแบตเตอรี่เป็นพิเศษ
- เลนส์ : เลนส์หลักควรเป็นเลนส์มุมกว้างหนึ่งตัว ยิ่งมุมรับภาพกว้างมากเท่าไหร่ก็จะยิ่งเก็บเอาสายฟ้ามาไว้ในภาพได้มากขึ้นเท่านั้น เซึ่งราเองก็ไม่สามารถคาดเดาได้เลยว่ามันจะมาจากทิศทางไหน แต่มันก็จะทำให้เส้นแสงของสายฟ้าในภาพมีขนาดเล็กกว่าเมื่อเทียบกับเลนส์ทางยาวโฟกัสสูง ทางที่ดีให้เผื่อเลนส์ช่วงกลางหรือเทเลต้นๆ ไปด้วยอีกหนึ่งตัวจะได้ถ่ายในแบบที่ต่างกันให้ได้ภาพที่หลากหลาย
- เมโมรี่การ์ด : ในการถ่ายภาพฟ้าฝ่าอาจต้องถ่ายภาพต่อเนื่องหลายๆ ภาพ เพราะเราไม่อาจคาดเดาว่าฟ้าจะฝ่าตอนไหน ดังนั้นอาจจะเปลืองเมโมรี่การ์ดสักหน่อย ให้เตรียมไปเผื่อการ์ดเต็มจะได้ไม่เสียโอกาสดีๆ
- ขาตั้งกล้อง : จำเป็นมากขาดไม่ได้ จะใช้ใหญ่หรือเล็กขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่และกำลังในการแบก หากถ่ายในที่ที่มีลมพัดโกรกอยู่ตลอดต้องให้แน่ใจว่าขาตั้งที่ใช้จะนิ่งพอ
- สายลั่นชัตเตอร์ : อันนี้ก็จำเป็นมาก ควรใช้เป็นแบบล็อคได้นะครับ
- ไฟฉาย : บ่อยครั้งที่จำเป็นต้องใช้ไฟฉายในการเซ็ทอุปกรณ์
ภาพถ่ายเส้นสายฟ้า จากภาพเราจะเห็นว่าสีของท้องฟ้าจะอมสีม่วงซึ่งควรบันทึกแบบ RAW  ไฟล์ เพราะเราสามารถปรับเปลี่ยนแก้ไขภาพเพิ่มเติมในภายหลังได้อย่างยืดหยุ่นกว่าไฟล์แบบ JPEG เพื่อนำมาปรับแก้ตั้งค่าไวท์บาลานซ์ในภายหลังครับ ภาพโดย : นายอดิศร  จันทร์วิจิตรกุล
ขั้นตอนและการเซ็ทค่าต่างๆ ของกล้อง
- เมื่อถึงที่หมายที่ต้องการถ่ายภาพฟ้าผ่าแล้ว (แต่ขอแนะนำเป็นตึกสูงจะได้ภาพมุมกว้างและสังเกตเห็นสายฟ้าได้ดีกว่า) ให้จัดแจงเซ็ทกล้องติดบนขาตั้งให้เรียบร้อย ต่อสายลั่นชัตเตอร์หรือสายรีโมทให้พร้อมใช้
- หามุมตำแหน่งบริเวณที่เกิดฟ้าผ่าบ่อยๆว่าอยู่ทางทิศไหน
- มองหาโฟร์กราวด์ดีๆ ให้กับภาพและจัดองค์ประกอบภาพให้สวยงามว่าคุณต้องการสื่อถึงอะไร ในตอนนี้ถ้าหากคุณเลือกใช้เลนส์มุมกว้างมากๆ ก็จะได้เปรียบเพราะสามารถเก็บภาพได้กว้างและโอกาสจะได้สายฟ้าก็จะมากกว่าเลนส์มุมแคบๆ
- ตั้งค่าความไวแสงของกล้อง ในภาพแรกหากต้องการทดสอบสภาพแสงดูก่อน อาจเลือกใช้ความไวแสงต่ำหน่อยประมาณ ISO 400 เพื่อให้ระยะเวลาในการถ่ายสั้นลง เพื่อตรวจสอบดูค่าแสงก่อน หากภาพที่ถ่ายทดสอบโอเค ก็ให้ปรับลดความไวแสงลง และชดเชยเวลาในการเปิดชัตเตอร์ให้พอดี
- ถ้าหากกล้องที่ใช้มีระบบ Noise reduction แนะนำว่าควรปิดให้เรียบร้อยเสียก่อนเพราะหากเปิดไว้เมื่อกล้องถ่ายภาพนานๆไปแล้วกล้องจะทำการถ่ายภาพ Dark ซ้ำอีกครั้งเพื่อนำไปลบ Noise โดยช่วงเวลาดังกล่าวเราจะไม่สามารถถ่ายภาพต่อเนื่องได้ต้องรอให้กล้องถ่าย ภาพ Dark ให้เสร็จก่อน

*** ภาพ Dark เปรียบเทียบง่ายๆ ก็คือคล้ายๆ กับการถ่ายภาพโดยปิดหน้ากล้องเอาไว้ ภาพที่ได้ก็เป็นภาพมืดๆ นั่นแหล่ะครับ และจะถ่ายที่ค่าเดียวกันกับที่เราถ่ายภาพก่อนหน้าไป

- บันทึกแบบ RAW ไฟล์ เพราะเราสามารถปรับเปลี่ยนแก้ไขภาพเพิ่มเติมในภายหลังได้อย่างยืดหยุ่นกว่าไฟล์แบบ JPEG
- ตั้งค่าไวท์บาลานซ์แบบออโต้ เพราะอุณภูมิสีของแสงฟ้าผ่ากับแสงไฟในเมืองจะต่างกันแล้วจึงนำมาปรับแก้ภายหลังด้วยโปรแกรม Photoshop ซึ่งโดยทั่วไปหากใครเคยลองถ่ายภาพฟ้าผ่าแล้วมักจะพบปัญหาที่ว่าสีของเส้นสายฟ้าและสีของท้องฟ้าจะอมสีม่วง นั้นจึงเป็นเหตุให้เราต้องตั้งค่าเป็น RAW ไว้ก่อนเสมอ
- ทำการโฟกัสภาพโดยยกเลิกระบบออโต้โฟกัสไปเลย ซึ่งในเวลากลางคืนกล้องอาจจะโฟกัสภาพยากหน่อยผมจะใช้วิธีโฟกัสไปยังตำแหน่งอินฟินิตี้ดีที่สุด และควรศึกษาก่อนว่าระยะอินฟินิตี้ของเลนส์ตัวดังกล่าวอยู่ที่ตำแหน่งไหน (ปกติผมจะลองโฟกัสในเวลากลางวันก่อนแล้วใช้เทปแป๊ะไว้จะได้ไม่พลาดเมื่อถึงเวลาถ่ายจริง) แต่ต้องให้แน่ใจว่าเป็นตำแหน่งอินฟินิตี้นะครับ
- ถ้ากล้องที่ใช้มีระบบล็อคกระจกสะท้อนภาพก็ให้เปิดใช้งานด้วย เพื่อให้กล้องนิ่งที่สุดเท่าที่จะทำได้
- ระหว่างนี้มือก็ต้องจับสายลั่นชัตเตอร์ไว้ตลอดเพราะเมื่อเห็นแสงแว๊บๆ ปั๊บมือก็ต้องกดชัตเตอร์ปุ๊บและอาจค้างไว้สักพัก เพื่อรอจังหวะสายฟ้าอันต่อไปเพื่อให้ได้เส้นสายฟ้าให้มากที่สุดในภาพ ยิ่งมากเท่าไหร่ก็ยิ่งสวยเท่านั้นครับ

เอาล่ะครับเมื่อทุกอย่างพร้อมก็ลุยกันเลยกับเทคนิคการถ่ายภาพยามค่ำคืนในช่วงฤดูฝน คงมีประโยชน์ไม่มากก็น้อยนะครับ ซึ่งส่วนใหญ่ในช่วงหน้าฝนคนส่วนใหญ่มักเก็บกล้องไว้ในตู้เพื่อรอฤดูหนาว แต่เมื่ออ่านคอลัมนี้จบแล้วผมก็หวังว่าคงมีหลายท่านเอากล้องออกมาฝึกฝนกันนะครับ สุดท้ายนี้ก็ขอให้สนุกกับการถ่ายภาพนะครับ

*********************

เกี่ยวกับผู้เขียน




ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

ปัจจุบันเป็นเจ้าหน้าที่สารสนเทศทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร. , เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร. ในหัวข้อ "มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย"

"คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย"

อ่านบทความ ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน

*หมายเหตุ บทความนี้ส่งมาก่อนเกิดน้ำท่วมใหญ่
กำลังโหลดความคิดเห็น