จากซอฟท์แวร์ออกแบบจรวดและยานอวกาศที่นำมาใช้แพร่หลายในอุตสาหกรรมยานยนต์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ล่าสุดมีความพยายามเปิดมุมมองแก่ผู้ประกอบการเฟอร์นิเจอร์ให้นำ “ไฟไนต์เอลิเมนต์” มาใช้ออกแบบผลิตภัณฑ์ ช่วยลดเวลาและค่าใช้จ่ายสร้างต้นแบบ
ศูนย์บริการปรึกษาการออกแบบและวิศวกรรม สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ดำเนินโครงการ “ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพด้านการออกแบบและการตลาดของผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์สำหรับผู้ประกอบการรายย่อย (SMEs)” และได้จัดสัมมนาแก่ผู้ประกอบการ 50 รายที่สนใจเมื่อวันที่ 9 ก.ย.54 ณ โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค
ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งของการส่งเสริมศักยภาพด้านการออกแบบแก่ผู้ประกอบการผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์นั้นคือการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการใช้ซอฟท์แวร์ไฟไนต์เอลิเมนต์ (Finite Element) ออกแบบผลิตภัณฑ์ ซึ่ง รศ.ดร.วิโรจน์ ลิ่มตระการ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์บริการปรึกษาการออกแบบและวิศวกรรม สวทช.กล่าวกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า ซอฟท์แวร์นี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการลดเวลาและค่าใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบได้
รศ.ดร.วิโรจน์กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของซอฟท์แวร์นี้มาจากสหรัฐฯ ต้องการพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับการคำนวณขั้นสูงเพื่อใช้ออกแบบอากาศยาน หรือกระสวยอวกาศ เพราะเราไม่สามารถสร้างยานขนาดใหญ่ขึ้นมาทดลองได้ อีกทั้งไม่สามารถจำลองสภาพแวดล้อมที่รุนแรงเมื่อยานออกไปอยู่นอกโลกได้ จึงต้องออกแบบโปรแกรมนี้ขึ้นมา จากนั้นการใช้งานก็เริ่มกระจายสู่อุตสากรรมการออกแบบเครื่องบินรบ เครื่องบินพาณิชย์ ตลอดจนอุตสาหกรรมรถยนต์
“ซอฟท์แวร์นี้จะช่วยวิเคราะห์ตัวผลิตภัณฑ์ต่างๆ ว่าแข็งแรงพอไหม ใช้แล้วพังหรือเปล่า เช่น โต๊ะรับน้ำหนักได้สูงสุดเท่าไร วิเคราะห์ออกมาคล้ายฉายเอ็กซเรย์ ตำแหน่งไหนแข็งแรงมากไม่พังเลย ส่วนไหนจะพังก่อน หรือใช้ดูการไหลวนของอากาศภายในห้อง ซึ่งมองไม่สามารถมองเห็นได้ให้แสดงผลออกมาเป็นสีเขียวหรือสีแดง โดยการไหลเวียนของอากาศจะมีบางตำแหน่งที่เป็นอับ มีอากาศไหลวน ไม่ถ่ายเท ถ้าเราตรงนั้นจะป่วย เป็นต้น ซึ่งไฟไนต์เอลิเมนต์จะช่วยลดขั้นตอนการลองผิดลองถูกได้” รศ.ดร.วิโรจน์กล่าว
ทั้งนี้ ผู้อำนวยการศูนย์บริการปรึกษาการออกแบบและวิศวกรรมกล่าวว่า ปกติการออกแบบเฟอร์นิเจอร์นั้นผู้ประกอบการต้องสร้างต้นแบบขึ้นมาทดสอบความแข็ง ซึ่งเมื่อพังก็จะไม่ทราบว่าจุดไหนเป็นจุดอ่อน ต้องทำการวิเคราะห์หาสาเหตุ และใช้ประสบการณ์ของผู้ออกแบบสร้างต้นแบบขึ้นมาโดยคาดเดาว่าจะต้องลดจุดอ่อนที่ต้องไหน แต่ซอฟท์แวร์นี้จะชี้ชัดลงไปส่วนไหนที่เป็นจุดอ่อนให้โต๊ะพัง ส่วนไหนต้องปรับเพิ่มความแข็งแรง ในอุตสากรรมอิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์ ใช้ซอฟท์แวร์นี้กันเยอะ เพื่อลดขั้นตอน “วัฏจักรการออกแบบ” (design cycle)
“ถ้าพังจะเห็นเลยว่าจุดอ่อนคือตรงไหน ต้องแก้ตรงไหน แล้วออกแบบใหม่ได้เลย ซึ่งจะช่วยลดเวลาการออกแบบและพัฒนาต้นแบบได้ ซอฟท์แวร์นี้มีหลายราคาขึ้นอยู่กับว่าต้องการใช้งานแค่ไหน ราคาอยู่ระหว่างหลักแสนถึงหลักล้านบาท แต่สำหรับเฟอร์นิเจอร์ไม่น่าจะใช้อะไรมาก ส่วนสำคัญในเชิงวิศวกรรมสำหรับเฟอร์นิเจอร์คือ “ข้อต่อ” ซอฟท์แวร์ที่ใช้น่าจะอยู่ในระดับหลักแสนบาท” รศ.ดร.วิโรจน์กล่าว